ปัจจุบัน อุตสาหกรรมด้านพลังงานใหม่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากทั่วโลก จีนได้มีการสนับสนุนวิจัยพัฒนาด้านพลังงานใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยจีนให้ความสำคัญกับสินค้าพลังงานใหม่ 3 ประเภทหลัก ได้แก่ รถยนต์พลังงานใหม่ แบตเตอรี่ลิเธียม และโซล่าเซลล์จากแสงอาทิตย์ ซึ่งสินค้าเหล่านี้มีการเติบโต และได้รับความนิยมสูงอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 มีมูลค่าการส่งออกรวมของสินค้าพลังงานใหม่ 3 ประเภทหลักสูงถึง 264,690 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 66.9 YoY ส่งผลให้อัตราการเติบโตของการส่งออกเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 2
อัตราการขยายตัวของการส่งออกรถยนต์พลังงานใหม่สูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 โดยมีมูลค่าการส่งออกรถยนต์ไฟฟ้า 64,750 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 122.3 YoY คิดเป็นร้อยละ 43.9 ของการส่งออกรถยนต์ทั้งหมดของจีน ในขณะที่ แบตเตอรี่ลิเธียมที่เป็นแหล่งพลังงานหลักของยานพาหนะก็มีการเติบโตอย่างโดดเด่นไม่แพ้กัน โดยในไตรมาสแรกของปี 2566 มูลค่าการส่งออกแบตเตอรี่ลิเธียมสูงถึง 109,790 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 94.3 YoY
จากการเติบโตของอุตสาหกรรมพลังงานใหม่ที่เพิ่มสูงขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามในการปรับปรุงพัฒนาประสิทธิภาพสินค้าที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล และยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์เชิงบวกให้กับประเทศจีน ในการมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาโลกสีเขียว ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่าน ด้วยผลกระทบจากหลายปัจจัย บวกกับการแข่งขันในตลาดรถยนต์ในประเทศทวีความรุนแรงขึ้น ส่งผลให้บริษัทรถยนต์หลายแห่งในประเทศเริ่มที่จะให้ความสำคัญในการขยายไปยังตลาดต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น อุตสาหกรรมเริ่มมีความสามารถในการแข่งขันในตลาดระหว่างประเทศ สินค้าด้านพลังงานใหม่ “Made in China” ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกเพิ่มมากขึ้น
ข้อมูลจากศุลกากรจีน แสดงให้เห็นว่า ในปี 2565 ปริมาณการส่งออกรถยรต์ของประเทศจีนสูงถึง 3.11 ล้านคัน ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์ โดยแซงหน้าผู้ส่งออกรายใหญ่อย่างเยอรมนี จีนขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกรถยนต์รายใหญ่อันดับ 2 ของโลกรองจากประเทศญี่ปุ่น ในจำนวนนี้ มีการส่งออกรถยนต์พลังงานใหม่ถึง 679,000 คัน เพิ่มขึ้นถึง 1.2 เท่าเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 63 ของยอดขายรถยนต์พลังงานใหม่จากทั่วโลก
ในปี 2566 การส่งออกรถยนต์พลังงานใหม่ยังคงขยายตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลจากสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งประเทศจีน ระบุว่า ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 จีนส่งออกรถยนต์พลังงานใหม่แล้ว 248,000 คัน เพิ่มขึ้น 1.1 เท่า (YoY) โดยรถยนต์พลังงานใหม่อย่างแบรนด์ BYD, CHERY และ NETA เป็นต้น มีอัตราการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
รถยนต์ EV แบรนด์ BYD รถยนต์ EV แบรนด์ NETA
ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 นอกจาก รถยนต์พลังงานใหม่จะมีอัตราการส่งออกเพิ่มขึ้นแล้ว การส่งออกผลิตภัณฑ์แบตเตอรี่ลิเธียมก็ยังมีแนวโน้มพัฒนาเติบโตขึ้นเช่นกัน ในประเทศแถบอเมริกาและยุโรปมีนโยบายสมทบเงินในด้านรถยนต์พลังงานใหม่ บวกกับความต้องการแบตเตอรี่ลิเธียมเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประเทศแถบอเมริกาและยุโรปกลายเป็นตลาดศักยภาพในการบริโภคแบตเตอรี่ โดยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 มีมูลค่าการส่งออกแบตเตอรี่ลิเธียมของจีนอยู่ที่ 109,790 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 94.3 YoY ปริมาณการส่งออกคิดเป็น 25.8 GWh คุณ Zhao Weijun ประธานบริษัท Envision AESC กล่าวว่า ในปี 2568 คาดว่าความต้องการแบตเตอรี่ลิเธียมในตลาดต่างประเทศจะสูงถึง 400GWh ผู้เล่นในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีกำลังการผลิตที่มั่งคง สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้อย่างเพียงพอ จะกลายเป็นผู้ได้รับโอกาสในการแข่งขัน ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ตลาดแบตเตอรี่ในประเทศยุโรปและอเมริกาขยายตัวอย่างเห็นได้ชัด มีกฎเกณฑ์ในการจดทะเบียนลงทุนในต่างประเทศค่อนข้างต่ำ บริษัทผู้ผลิตด้านแบตเตอรี่รายใหญ่ในประเทศหลายแห่งวางแผนเข้าไปจดทะเบียนลงทุนในต่างประเทศ เพื่อดึงดูดเงินทุน ขยายตลาดและสร้างอิทธิพลระหว่างประเทศ
ในอนาคตการส่งออกแบตเตอรี่ลิเธียมของจีนอาจจะต้องเผชิญกับข้อจำกัดเพิ่มขึ้นหลายด้าน อาทิ สหภาพยุโรปมีการออกนโยบาย เรียกเก็บภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) ซึ่งจะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 และตั้งแต่ปี 2569 สหภาพยุโรปจะลดโควต้าลดหย่อนภาษีนำเข้าคาร์บอนเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ตามกฎหมายแบตเตอรี่ฉบับใหม่ของสหภาพยุโรป และยังมีการตรวจสอบคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์แบตเตอรี่พลังงานต่างๆ ซึ่งจะกําหนดเกณฑ์มาตรฐานที่แน่นอนขึ้นในปี 2570 ผลิตภัณฑ์ที่มีค่าการปล่อยปริมาณก๊าซเรือนกระจกสูงเกินเกณฑ์มาตรฐานจะไม่สามารถเข้าสู่ตลาดสหภาพยุโรปได้
ความเห็นสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน : ปัจจุบัน ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจสินค้าและบริการที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานใหม่ก็กลายเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับความสนจากทั่วโลกเป็นอย่างมาก ซึ่งจีนได้กลายเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำในตลาดรถยนต์และแบตเตอรี่ไฟฟ้าของโลก การเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์จีนจะเป็นหนึ่งในโอกาสของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในการสร้างโอกาสกาสการพัฒนาศักยภาพทางธุรกิจ เพื่อยกระดับตลาดยานยนต์ไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิต ส่งออกอะไหล่และชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าไปสู่ตลาดโลกในอนาคต นอกจากนี้ ยังส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมกรรมที่เกี่ยวข้องต่างๆ อาทิ อุตสาหกรรมยางพารา ในการผลิตชิ้นส่วนประกอบในรถยนต์อย่าง ล้อรถ ท้อยาง และแผ่นพลาสติกรถยนต์เป็นต้น ในการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น
ที่มา:
http://finance.people.com.cn/n1/2023/0508/c1004-32680947.html
เรียบเรียงโดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน
19 พฤษภาคม 2566