หน้าแรกTrade insightอิเล็กทรอนิกส์และดิจิทัล > จับตา MedTech สิงคโปร์เติบโตก้าวกระโดด

จับตา MedTech สิงคโปร์เติบโตก้าวกระโดด

“สิงคโปร์” ประเทศที่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีทางการแพทย์กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดดและกำลังเป็นที่จับตามองของบริษัทการแพทย์ทั่วโลก อุปกรณ์ทางการแพทย์เหล่านี้:- 14% ของเครื่องช่วยฟัง (Hearing Aid) หรือ 10% ของคอนแทคเลนส์ อุปกรณ์ปลูกถ่ายหัวใจ 20% เทคโนโลยีที่ใช้ในการตรวจสอบสารปนเปื้อน (Mass Spectronomy) ที่ใช้ในวงการการแพทย์กว่า 50% ไปจนถึง 90% ของยีนชิปส์ (Gene Chips) ที่ใช้กันทั่วโลกนั้น ล้วนผลิตในสิงคโปร์ทั้งสิ้น

คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจของสิงคโปร์ (Economic Development Board : EDB) คาดการณ์ว่า มูลค่าตลาดอุปกรณ์การแพทย์ในเอเชียจะสูงถึง 2,250 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2573 โดยภาคเทคโนโลยีการแพทย์ของสิงคโปร์ (Medtech) มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมูลค่าการผลิตในปี 2565 อยู่ที่ 19,000 ล้านเหรียญสิงคโปร์ เพิ่มขึ้น 2,000 ล้านเหรียญสิงคโปร์จากปี 2564 ในขณะที่มูลค่าการผลิตเมื่อสิบปีก่อนอยู่ที่ 5,000 ล้านเหรียญสิงคโปร์ EDB และหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ ได้ร่วมแรงพัฒนาอุตสาหกรรม เทคโนโลยีการแพทย์มาแล้วกว่า 20 ปี ในปัจจุบัน สิงคโปร์เป็นที่ตั้งของบริษัทเทคโนโลยีการแพทย์ทั้งระดับสตาร์ทอัพและระดับยักษ์ใหญ่กว่า 400 บริษัท และมีการจ้างงานมากกว่า 16,000 คน โดยส่วนมากเป็นช่างเทคนิคทักษะสูง รองลงมาเป็นกลุ่มนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัย นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังมีบริษัทเทคโนโลยีการแพทย์ต่างชาติที่ตั้งสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคในสิงคโปร์มากกว่า 50 บริษัท โรงงานผลิตโดยบริษัทเทคโนโลยีการแพทย์ข้ามชาติมากกว่า 35 แห่ง และศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการแพทย์มากกว่า 25 แห่ง

นอกจากการส่งเสริมของ EDB แล้ว สิงคโปร์ยังมีปัจจัยภายนอกที่ดึงดูดให้มีการลงทุนจากนานาชาติเข้ามาในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีทางการแพทย์ในประเทศอีกด้วย โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเด็น ดังนี้
1.  ทวีปเอเชียมีประชากรสูงอายุจำนวนมหาศาล และกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้อุปสงค์ของอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย  EDB ระบุว่า ในปี 2573 ทวีปเอเชียจะมีจำนวนประชากรคิดเป็น 60% ของโลก และหนึ่งในสี่เป็นประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปที่มีความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรัง ส่งผลให้บริษัทเทคโนโลยีการแพทย์ต่างชาติได้ให้ความสำคัญตลาดเอเชียมากขึ้น และมีการนำทุนมาลงกับศูนย์วิจัยและพัฒนา หรือสร้างโรงงานผลิตในสิงคโปร์ เช่น บริษัทนวัตกรรมเครื่องช่วยฟังชั้นนำของโลก WS Audiology ซึ่งตั้งสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาค และโรงงานผลิตหลักในสิงคโปร์ที่เป็นทั้งเครือข่ายการผลิตและการจัดจำหน่ายสินค้าทั่วโลก โดยเครื่องช่วยฟังมากกว่าครึ่งหนึ่งที่โรงงานในสิงคโปร์ผลิตได้จำหน่ายทั่วโลกคิดเป็นหนึ่งในเจ็ดที่ผู้คนทั่วโลกสวมใส่ และเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2567 บริษัทได้ประกาศจะเปิดห้องปฏิบัติการวิจัยด้านโสตสัมผัสวิทยาที่สิงคโปร์ในปี 2569 ซึ่งเป็นแห่งที่สามรองจากชิคาโกและสวีเดน

  1. กฎหมายปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาในสิงคโปร์ รัฐบาลสิงคโปร์ได้ปรับปรุงแผนการพัฒนาสิงคโปร์ให้เป็นศูนย์กลางแห่งทรัพย์สินทางปัญญา และสร้างความปลอดภัยให้แก่ทรัพย์สินทางปัญญาตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้ สิงคโปร์จึงมีศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการแพทย์ระดับโลกเข้ามาลงทุนเป็นจำนวนมาก เช่น ในเดือนตุลาคม 2566 บริษัทเยอรมัน Leica Microsystems เปิดโรงงานผลิตและศูนย์วิจัยและพัฒนากล้องจุลทรรศน์ผ่าตัด (Microscope) มูลค่า 82 ล้านเหรียญสิงคโปร์
  2. บริษัทเทคโนโลยีการแพทย์ที่มาลงทุนสามารถสร้างผลลัพธ์ที่โดดเด่นจากศูนย์วิจัยในสิงคโปร์ช่วยสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุนให้แก่บริษัทนานาชาติและสร้างภาพลักษณ์ให้สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางแห่งการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่น่าเชื่อถือในเวทีโลก ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสให้ชาวสิงคโปร์ได้คิดค้นและสร้างระบบสาธารณสุขทั้งในตลาดเอเชียและตลาดโลก เช่น เลนส์สายตาสั้น“Stellest” จากบริษัทจากฝรั่งเศส EssilorLuxottica ที่โด่งดังไปทั่วโลกเพราะสามารถบรรเทาการเกิดอาการสายตาสั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดย 70% ของนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรในการพัฒนาเลนส์เป็นชาวสิงคโปร์ โดยหัวหน้าฝ่ายพัฒนากล่าวว่า สิงคโปร์เป็นประเทศที่เหมาะแก่การพัฒนาเทคโนโลยีการแพทย์เพราะมีงานวิจัยพร้อมใช้งาน และมีแรงงานที่มีทักษะสูงจำนวนมาก

ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

รัฐบาลสิงคโปร์ได้พยายามสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยและกำลังคนที่มีทักษะสูงเพื่อรองรับความต้องการของธุรกิจเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่หันมาสนใจตลาดเอเชียมากขึ้น สำหรับประเทศไทย การแพทย์ไทยมีความแข็งแกร่งด้านบุคลากร และระบบสาธารณสุขที่ดี อย่างไรก็ดี ในส่วนของสตาร์ทอัพสินค้า MedTech ในไทยอาจมีจำนวนไม่มากนัก ภาครัฐและภาคเอกชนอาจจะเข้ามาสนับสนุนในส่วนของระบบนิเวศทางการแพทย์ที่เอื้อให้เกิดการทดลองวิจัยและพัฒนา รวมถึงการพัฒนาบุคลากรเพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมนี้

สำหรับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการขยายโอกาสทางธุรกิจมายังประเทศสิงคโปร์ สามารถเข้าร่วมแสดงสินค้าเครื่องมือทางการแพทย์ เช่น งาน Medical Fair Asia และ Medical Manufacturing หรือกลุ่มสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยี สามารถเข้าร่วมงาน Singapore Week of Innovation and Technology ซึ่งจัดขึ้นทุกปี[1]

 

[1] Medical Fair Asia จัดขึ้นวันที่ 11-13 กันยายน 2567 และ Singapore Week of Innovation and Technology วันที่ 28-30 ตุลาคม 2567 ที่มารีน่า เบย์ แซนด์

แหล่งที่มาข้อมูล/ภาพ : https://www.straitstimes.com/singapore/singapore-s-medtech-sector-and-locally-made-medical-devices-punching-above-their-weight

https://www.straitstimes.com/singapore/one-in-seven-hearing-aids-worn-globally-made-in-singapore

อ่านข่าวฉบับเต็ม : จับตา MedTech สิงคโปร์เติบโตก้าวกระโดด

Login