สืบเนื่องจากกลุ่มทาสรักสัตว์เลี้ยงขยายกว้างขึ้นอย่างรวดเร็ว และเศรษฐกิจสัตว์เลี้ยงที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานี้ ขนาดตลาดสัตว์เลี้ยงได้ทะยานเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว นับวันทาสสัตว์เลี้ยงจำนวนมากเลือกให้เจ้าสัตว์เลี้ยงเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งในสมาชิกของครอบครัว ทำให้ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างสูงด้วยเช่นเดียวกัน
ขนาดตลาดสัตว์เลี้ยงทะยานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยงของจีนมีการพัฒนากว่า 20 ปี และกำลังเข้าสู่ช่วงการขยายตัวอย่างรวดเร็วโดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานี้ ขนาดตลาดสัตว์เลี้ยงของจีนขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 จีนมีขนาดตลาดสัตว์เลี้ยง มูลค่า 270,600 ล้านหยวน (1.353 ล้านล้านบาท) มีอัตราการขยายตัวถึงร้อยละ 8.7 และคาดการณ์ว่าตลาดการบริโภคสำหรับสัตว์เลี้ยงในจีนปีนี้จะมีมูลค่าถึง 392,400 ล้านหยวน หรือประมาณ 1.962 ล้านล้านบาท (ประเมินโดยบริษัท iResearch บริษัทวิจัยและวิเคราะห์ตลาดของจีน) โดยเป็นเหตุมาจากการเพิ่มขึ้นของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัว (GDP Per Capita) ยังขับเคลื่อนการพัฒนาของเศรษฐกิจสัตว์เลี้ยง ประกอบกับด้วยโครงสร้างขนาดครอบครัวที่มีขนาดเล็กลง คนหนุ่มสาวจำนวนมากแยกตัวออกมาอยู่คนเดียว การเลี้ยงแมวเลี้ยงสุนัขจึงเป็นเรื่องทั่วไป โดยผลการสำรวจของบริษัทวิจัย NielsenIQ พบว่า กลุ่มเจ้าของสัตว์เลี้ยงที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นมีแนวโน้มเป็นคนหนุ่มสาว โดยเพศหญิง และผู้ที่เกิดระหว่างปี พ.ศ.2538 – 2542 ครองสัดส่วนสูงที่สุด
ถึงแม้ว่าขนาดตลาดสัตว์เลี้ยงของจีนจะใหญ่มาก แต่อัตราการเข้าถึงผู้บริโภค (Penetration Rate) เมื่อเทียบกับประเทศที่มีการพัฒนาของเศรษฐกิจสัตว์เลี้ยงสูงอย่างสหรัฐอเมริกาแล้ว ยังแตกต่างกันมาก โดยสหรัฐอเมริกามีอัตราการเข้าถึงผู้บริโภคสูงถึงร้อยละ 70 ขณะที่จีนเพียงร้อยละ 22 (อัตราแลกเปลี่ยน 1 หยวน เท่ากับ 5 บาท)
สำหรับด้านการบริโภค พบว่าจำนวนเงินเฉลี่ยในการซื้อของกินของใช้ให้กับสัตว์เลี้ยงต่อตัวของจีนขยับเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 6.8 ตลาดการบริโภคสำหรับสัตว์เลี้ยงของจีนในอนาคตยังมีโอกาสในการขยายตัวอีกมาก และ ‘อาหารสัตว์เลี้ยง’ มีสัดส่วนร้อยละ 50.7 ของมูลค่าตลาดการบริโภคของสัตว์เลี้ยง ถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่จำเป็นสำหรับกลุ่มทาสรักสัตว์เลี้ยง การพัฒนาตลาดในอนาคตจึงน่าจับตามองเป็นอย่างมาก
แนวโน้มตลาดมีความหลากหลายในประเภทสินค้า/บริการเพิ่มขึ้น
แนวโน้มการเลี้ยงอย่างมีคุณภาพ ทาสสัตว์เลี้ยงจำนวนมากไม่ได้เลี้ยงให้นายท่านกินให้อิ่มอย่างเดียว เจ้าของมีกำลังการบริโภค และมีความยินดีที่จะจ่ายเพื่อแสวงหาประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้นให้กับสัตว์เลี้ยง อาหารและขนมต้องกินดีต้องแพง ซื้อของเล่นให้หลากหลาย พาไปรักษาพยาบาลยามเจ็บไข้ รวมถึงจัดงานศพให้กับสัตว์เลี้ยง ซึ่งเป็นบริการที่เพิ่งกำเนิดขึ้นในตลาดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ในส่วนของตัวเลขการใช้จ่ายในสินค้าและบริการสำหรับสัตว์เลี้ยง พบว่า การจับจ่ายให้กับสัตว์เลี้ยง 1 ตัว ต่อ 1 ครัวเรือน นั้นสูงกว่า 5,000 หยวน (ราว 25,000 บาทขึ้นไป) และมีความหลากหลายในประเภทสินค้า/บริการเพิ่มขึ้นด้วย โดยในสัดส่วนโครงสร้างการบริโภคสำหรับสัตว์เลี้ยงของจีน พบว่า อาหารสัตว์ ครองสัดส่วนสูงที่สุดร้อยละ 40 รองลงมา ได้แก่ ของใช้สำหรับสัตว์เลี้ยง การรักษาพยาบาล และบริการสำหรับสัตว์เลี้ยง
ปัจจุบัน จีนมีเจ้าของสัตว์เลี้ยงทะลุ 80 ล้านคน ถึงแม้ว่าหลายปีมานี้จะมีการเลี้ยงสัตว์แปลกเกิดขึ้น แต่การเลี้ยงสุนัขและแมวยังคงเป็นที่นิยม สอดคล้องกับข้อมูลในรายงานการสำรวจแนวโน้มตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงปี 2565 ที่เปิดเผยว่าในปี 2564 จำนวนสุนัขและแมวในเขตเมืองเพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.4 จากปีก่อน (ในที่นี้จำนวนสุนัขเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 และแมวเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.4 หรือจะกล่าวได้ว่าชาวจีนเริ่มกลายเป็นทาสแมวแล้ว)
อาหารสัตว์เลี้ยงได้เป็นกระแสใหม่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ มีแบรนด์อาหารสัตว์เลี้ยงกำเนิดขึ้นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นไปที่ผลิตภัณฑ์อาหารกระป๋อง และขนม freeze dry ซึ่งก็มีหลายแบรนด์ที่เป็นที่นิยม อาทิ อาหารกระป๋องแบรนด์ BRIGHT ที่มีอัตราการซื้อซ้ำถึงร้อยละ 80 ขึ้นไป บรรจุภัณฑ์มีการออกแบบสไตล์จีน นอกจากนี้ยังมีแบรนด์ Alfie & Buddy ที่ในช่วงเทศกาลลดราคา 11.11 ปี 2565 เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 100
การแข่งขันของอุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยงของจีน
จุดเด่นที่สำคัญของตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงคือมีความผูกขาดสูง เนื่องจากผู้บริโภคมีความจงรักภักดีต่อแบรนด์สูง แบรนด์ต่างชาติจึงอาศัยข้อได้เปรียบในด้านคุณภาพ และการเข้าสู่ตลาดจีนได้ก่อน จึงได้รับความนิยมจากผู้บริโภค ทาสรักสัตว์เลี้ยงจำนวนมากเมื่อสัตว์เลี้ยงของตนสามารถปรับตัวได้ดีกับอาหารแล้วก็ยากที่จะเปลี่ยนไปทดลองแบรนด์อื่นๆ
ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยง แบรนด์จีนและแบรนด์ต่างชาติมีการแข่งขันกันสูง อย่างไรก็ดีเมื่อเปรียบเทียบในปัจจุบันแล้วสัดส่วนของแบรนด์จีนยังสู้ไม่ได้ อาหารสัตว์เลี้ยงของจีนยังถูกแบรนด์จากยุโรปและสหรัฐอเมริกาครองสัดส่วนของตลาดส่วนใหญ่ โดยแบรนด์ MARS แบรนด์ Nestlé และแบรนด์ Ouyu คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 40
ยกตัวอย่างบริษัท Nestlé Purina ได้เข้าสู่ตลาดจีนครั้งแรกในปี 2546 โดยอาศัยจังหวะช่วงที่การพัฒนาเศรษฐกิจสัตว์เลี้ยงของจีนเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้กลายเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของเครือบริษัทเนสท์เล่ประเทศจีน ณ เวลานั้น โดยเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2563 บริษัทเนสท์เล่ประกาศแผนการเพิ่มทุนและโครงการตั้งโรงงาน เนสท์เล่ เพริน่า ที่มหานครเทียนจิน ที่มีเม็ดเงินลงทุนกว่า 730 ล้านหยวน (3,650 ล้านบาท) สำหรับเป็นโรงงานผลิตอาหารสัตว์ของเนสท์เล่แห่งที่ 4 ของโลก
สำหรับบริษัท MARS ได้เข้าสู่ตลาดจีนเมื่อปี 2536 โดยอาศัยความมีชื่อเสียงของแบรนด์ระดับโลกด้านอาหารแมวและสุนัข เข้ามาเปิดตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงในจีน ด้วยหลักแนวคิดการให้อาหารเชิงวิทยาศาสตร์ จึงได้รับการตอบรับที่ดี นับตั้งแต่โรงงานแห่งแรกจนถึงปัจจุบัน บริษัทฯ เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนมีนาคม 2553 บริษัท MARS ได้ก่อตั้งโรงงานแห่งที่ 3 ในมหานครเทียนจิน ซึ่งเป็นครั้งแรกที่นำเทคโนโลยีอัจฉริยะและเทคโนโลยีสีเขียวมาใช้ในการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง
สำหรับตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงไฮเอนด์ แบรนด์ Orijen แบรนด์ ROYAL CANIN แบรนด์ K9 NATURAL และแบรนด์ ziwi ซึ่งเป็นแบรนด์จากยุโรปและสหรัฐอเมริกา ได้อาศัยประสบการณ์ด้านการวิจัยและพัฒนาด้านคุณภาพ จึงครองส่วนแบ่งตลาดไฮเอนด์เป็นหลัก ในขณะที่อาหารสุนัขและแมวที่เป็นแบรนด์จีนจะเน้นตลาดกลาง-ล่าง ประกอบกับปัญหาด้านภาพลักษณ์ความปลอดภัยของแบรนด์อาหารสัตว์เลี้ยงของจีนที่ไม่ดีนัก ทำให้ทาสรักสัตว์เลี้ยงส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะซื้อแบรนด์อาหารสัตว์เลี้ยงนำเข้า เนื่องจากเชื่อมั่นว่าอาหารสัตว์เลี้ยงนำเข้ามีคุณภาพที่ดี มีการตรวจสอบที่เข้มงวดมากกว่าแบรนด์จีนที่ยังมีปัญหาด้านมาตรฐานการตรวจสอบและการกำกับดูแลที่หละหลวม
ความเห็นของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ
ภายใต้การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมและการพัฒนาเศรษฐกิจ อาทิ เศรษฐกิจคนโสด และเศรษฐกิจผู้สูงอายุ ประกอบกับรายได้ที่เพิ่มขึ้นของชาวจีน ทำให้บทบาทของสัตว์เลี้ยงเริ่มกลายเป็นเสมือนคนในครอบครัว เป็นเพื่อนคลายความเหงาและความเครียด จึงผลักดันให้จำนวนผู้เลี้ยงสัตว์เลี้ยงในจีนขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และส่งผลตลาดที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยงขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์และบริการเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงที่ครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุดและมีทิศทางการเติบโตที่ดี รวมถึงความนิยมอาหารสัตว์เลี้ยงนำเข้าของทาสรักสัตว์เลี้ยงของจีน ทำให้ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงของจีนเป็นอีกตลาดที่น่าจับตามองสำหรับผู้ประกอบการไทย โดยผู้ประกอบการไทยสามารถทดลองเข้ามาเปิดตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงในจีนผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซทั้งจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชื่อดังในจีนหรือช่องทางอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนโดยการร่วมมือกับพันธมิตร/ คู่ค้าที่น่าเชื่อถือได้ในจีน รวมทั้งการเข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติระดับประเทศทั้งในเมืองหลวง และเมืองรองต่างๆ เพื่อทดสอบตลาดในระยะเริ่มต้น โดยปัจจุบันสามารถพบเห็นอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยวางจำหน่ายอยู่บนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจีนบ้างแล้ว แต่ยังมีแบรนด์ที่ไม่หลากหลายเท่าที่ควร จึงเป็นโอกาสที่ดีที่ผู้ประกอบการอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยรายใหม่ๆ จะเริ่มศึกษาพฤติกรรมการบริโภคของผู้บริโภคชาวจีนในการเลือกซื้ออาหารสัตว์เลี้ยง ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณสมบัติของอาหารสัตว์เลี้ยงให้ตรงความต้องการของผู้บริโภคในตลาดจีนที่มีความต้องการอาหารสัตว์เลี้ยงที่มีคุณค่าทางโภชนาการ มีความปลอดภัย มีสารอาหารเสริมครบถ้วน และมีความต้องการผลิตภัณฑ์ไฮเอนด์ มีความเป็นธรรมชาติหรือออร์แกนิกส์ด้วย นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาลงทุนในด้านการประชาสัมพันธ์ให้แบรนด์เป็นที่รู้จักและน่าเชื่อถือควบคู่ไปด้วย
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว
https://www.chinairn.com/news/20231110/173922984.shtml
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)