หน้าแรกTrade insightอุตสาหกรรมอื่นๆ > จับตามอง Gift Economy ของจีน ปี 2566

จับตามอง Gift Economy ของจีน ปี 2566

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ชาวจีนให้ความสำคัญกับขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมมาโดยตลอด ซึ่งการให้และรับของขวัญถือเป็นธรรมเนียมเก่าแก่ของจีน เพราะเป็นการแสดงความรัก สานสัมพันธ์ไมตรีและการขอบคุณรูปแบบหนึ่ง จึงได้เกิดเป็น “เศรษฐกิจของขวัญ (Gift Economy)”

จากการบูรณาการ “เศรษฐกิจของขวัญ (Gift Economy)” ร่วมกับแพลตฟอร์ม E- Commerce ได้อำนวยความสะดวกสบายในการเลือกซื้อของขวัญให้แก่ผู้บริโภคจีนมากขึ้น และยังเพิ่มความถี่ในการส่งมอบของขวัญสำหรับเทศกาลใหม่ๆ อีกด้วย ทำให้มูลค่าตลาดเศรษฐกิจของขวัญในจีนขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

1. มูลค่าตลาดเศรษฐกิจของขวัญในจีน

จากข้อมูลการสำรวจพบว่า มูลค่าตลาดเศรษฐกิจของขวัญในจีนขยับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2561 มูลค่าตลาดเศรษฐกิจของขวัญในจีนมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 800,000 ล้านหยวน และขยับเพิ่มขึ้นเป็น 1,226,200 ล้านหยวนในปี 2565 และคาดว่าในปี 2570 มูลค่าตลาดดังกล่าวจะมีรวมทั้งสิ้น 1,619,700 ล้านหยวน ผู้เชี่ยวชาญของ iiMedia Research เผยว่า จากการขับเคลื่อนการพัฒนาเทคโนโลยี การอัปเดตโครงสร้างการบริโภค และการชอปปิงออนไลน์อย่างต่อเนื่อง ทำให้ขนาดตลาดการค้าปลีกออนไลน์ของจีนขยายตัวอย่างก้าวกระโดด และเศรษฐกิจของขวัญของจีนมีการพัฒนาไปอีกระดับ คาดว่าในอนาคตจะมีผู้เล่น/นักลงทุนในเศรษฐกิจของขวัญของจีนมากยิ่งขึ้น

2. ภูมิหลังของการบริโภค

เทศกาลต่าง ๆ มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของขวัญในจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทศกาลแบบดั้งเดิมและเทศกาลของฝั่งตะวันตก ล้วนเป็นการส่งมอบของขวัญแทนความรักและความหวังดีให้กันและกัน

3. ช่องทางการซื้อของขวัญของผู้บริโภคจีน

ข้อมูลจาก iiMedia Research แสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภคจีนเลือกซื้อของขวัญบนแพลตฟอร์ม E-Commerce (Taobao, Jingdong) คิดเป็นร้อยละ 73.2 ห้างสรรพสินค้า/ร้านจำหน่ายของที่ระลึก คิดเป็นร้อยละ 61.9 แพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับร้านของขวัญ/ของที่ระลึกคิดเป็นร้อยละ 39.0 นักวิเคราะห์ของ iiMedia Research เผยว่าผู้บริโภคจีนส่วนใหญ่นิยมซื้อของขวัญบนแพลตฟอร์ม E-Commerce เนื่องจากประหยัดเวลา สะดวกสบายและมีความคุ้มค่า อีกทั้งสามารถส่งสินค้า (ของขวัญ) ไปถึงปลายทางผู้รับได้อย่างรวดเร็ว

4. พฤติกรรมผู้บริโภค

          4.1 กลุ่มผู้บริโภค

          4.2 ราคา

จากข้อมูลแสดงให้เห็นว่า สัดส่วนราคาในการส่งมอบของขวัญของผู้บริโภคชาวจีนในปี 2566 ค่อนข้างกระจัดกระจาย โดยผู้บริโภคจีนที่เลือกซื้อของขวัญราคาประมาณ 100-5,000 หยวนคิดเป็นร้อยละ 90.2 โดยนักวิเคราะห์ของ iiMedia Research เผยว่า จากการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้บริโภคชาวจีน ในอนาคตแนวโน้มการเลือกซื้อของขวัญจะมีราคาเพิ่มสูงขึ้น

          4.3 ของขวัญที่ผู้บริโภคชาวจีนนิยมซื้อ

จากข้อมูลแสดงให้เห็นว่า ในกลุ่มผู้บริโภค “เศรษฐกิจของขวัญจีน” ของขวัญยอดนิยมที่ผู้บริโภคชาวจีนนิยมส่งมอบให้แก่ญาติผู้ใหญ่และมิตรสหาย ได้แก่ ขนมไหว้พระจันทร์ ขนมบ๊ะจ่าง คิดเป็น  ร้อยละ 43.4 รองลงมาคือบุหรี่ สุราและชา คิดเป็นร้อยละ 42.2 อาหารว่างคิดเป็นร้อยละ 35.5 และอั่งเปา คิดเป็นร้อยละ 32.5 เป็นต้น

5. ของขวัญที่ผู้บริโภคชาวจีนนิยมส่งมอบให้กัน

6. แนวโน้มของอุตสาหกรรม

นักวิเคราะห์ของ iiMedia Research เผยว่า เศรษฐกิจของขวัญของจีนมีแนวโน้มในการพัฒนาที่สำคัญดังนี้

6.1 เศรษฐกิจของขวัญในตลาดจีนมีการบูรณาการร่วมกันกับธุรกิจดอกไม้ E- Commerce การ Live Streaming และ E- Commerce แบบใหม่ผสานรวมกัน

6.2 ผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับ “ของขวัญ” มุ่งเน้นการสร้างสรรค์ในการออกแบบและปรับปรุงผลิตภัณฑ์อย่างสม่ำเสมอ มีการใช้งานได้จริงและยกระดับคุณภาพ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง

6.3 กำหนดเป้าหมายของกลุ่มผู้บริโภคและกลยุทธ์การตลาดของแบรนด์ อาทิ ตอบสนความต้องการของผู้บริโภคที่เกิดในยุค 80 และยุค 90 ยกระดับกระแสนิยมและนวัตกรรมใหม่

6.4 กำหนดการให้บริการในระดับที่สูงขึ้น เน้นความเป็นส่วนบุคคล

ความคิดเห็น สคต.

ชาวจีนให้ความสำคัญกับเทศกาลดั้งเดิมและโอกาสพิเศษต่างๆ เป็นอย่างมาก และวัฒนธรรมการมอบของขวัญในช่วงเทศกาลเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับชาวจีน โดยเฉพาะเมื่อถึงเทศกาลต่าง ๆ เช่น วันตรุษจีน วันวาเลนไทน์ วันไหว้พระจันทร์ เทศกาลบ๊ะจ่าง เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันการมอบของขวัญให้แก่ญาติผู้ใหญ่และมิตรสหายทำได้ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ โดยการให้ของขวัญผ่านช่องทางออนไลน์ส่วนใหญ่เป็น  เทรนด์แจก อั่งเปาตามตัวเลขมงคลและมีความหมายแฝงที่ดีผ่านทางวีแชทหรืออาลีเพย์ นิยมให้ในช่วงวันตรุษจีน เทศกาล 5.20 (ตรงกับวันที่ 20 พฤษภาคม พ้องเสียงหว่ออ้ายหนี่) วันเกิด วันพ่อและวันแม่ เป็นต้น เพื่อเป็นการแสดงความรักอีกรูปแบบหนึ่ง ขณะที่ช่องทางออฟไลน์ส่วนใหญ่เป็นการส่งมอบชา บุหรี่ สุรา รังนก เครื่องประดับและอัญมณี สกินแคร์และเครื่องสำอาง เป็นต้น

ดังนั้น การทำ Seasonal Marketing หรือการตลาดตามเทศกาล เป็นอีกหนึ่งช่องทางการตลาดที่มีศักยภาพในการขยายฐานสินค้าไทยไปยังจีน โดยผู้ประกอบการไทยที่มีความสนใจในการเจาะตลาดกลุ่มสินค้าของขวัญ ควรจับตามองพฤติกรรมและเทรนด์ตลาดในช่วงเทศกาลต่าง ๆ ของจีนอย่างใกล้ชิด อาทิ ปีนักษัตร เทรนด์สีและการสอดแทรกวัฒนธรรม เป็นต้น เนื่องจากผู้บริโภคจีนมีอัตราการบริโภคสินค้าดังกล่าวค่อนข้างสูง และผู้ประกอบการไทยแบรนด์ต่าง ๆ ควรใส่ใจในการเพิ่มนวัตกรรมใหม่ สร้างความแตกต่างด้านจุดเด่นและจุดขายให้ชัดเจน โดยคิดเคมเปญการตลาดตามเทศกาล ดึงดูดกระแสผู้บริโภคผ่านช่องทางออนไลน์เพื่อขยายฐานลูกค้าในวงกว้าง และส่งเสริมการขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ของจีนในช่วงใกล้เทศกาลต่างๆ เพื่อเพิ่มตัวเลือกการเลือกซื้อของขวัญให้มีความหลากหลายจนเกิดเป็นกระแสซื้อตาม คาดว่าในอนาคต “เศรษฐกิจของขวัญ” ในตลาดจีนจะมีสินค้าไทยเข้ามาครองส่วนแบ่งตลาดได้อย่างแน่นอน

*****************************************

แหล่งที่มา : https://mp.weixin.qq.com/s/YLZ0YUnbrXSPQVyWCxat2Q

https://mp.weixin.qq.com/s/P33OdXkDpZyVgYdXoyucGg

https://mp.weixin.qq.com/s/NrMbL2x8UG83yzceqNKTQg

https://www.cea.or.th/th/single-statistic/gift-economy

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครคุนหมิง

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login