หน้าแรกTrade insightการค้าระหว่างประเทศ > จับตามองนโยบายการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน

จับตามองนโยบายการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน

ในปัจจุบัน รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้ประธานาธิบดีไบเดนได้พยายามที่จะปรับเปลี่ยนวาทกรรมเกี่ยวกับนโยบายทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯ กับจีนจากการแยกตัว หรือ De-coupling เป็นการลดความเสี่ยง หรือ De-risking ในการทำการค้า

ทั้งนี้ จากการประชุมผู้นำกลุ่ม G-7 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สหรัฐฯ ได้เน้นย้ำถึงเป้าหมาย 3 ประการภายใต้ยุทธศาสตร์ De-risking โดยจะเน้น (1) การจำกัดความสามารถของจีนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงแห่งชาติ เช่น เทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ (2) ลดอิทธิพลของจีนที่มีต่อตะวันตกโดยการลดการครอบงำตลาดของจีนในวัตถุดิบสำคัญ เช่น แร่หายากและมีความสำคัญต่อภาคอุตสาหกรรม (3) การกระจายการดำเนินธุรกิจให้กว้างขวางออกไปเพื่อลดความเสี่ยงจากการหยุดชะงักของการค้าระหว่างจีนและตะวันตก

อนึ่ง วาทกรรมการ De-coupling ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนนั้น เกิดขึ้นในสมัยประธานาธิบดีทรัมป์ในปี 2561 ซึ่งได้มีการเพิ่มภาษีสินค้านำเข้าจากจีนในอัตรา 7.5-25% ครอบคลุมกว่า 2 ใน 3 ของสินค้านำเข้าจากจีนมากยังสหรัฐฯ หรือหากคิดเป็นมูลค่าของสินค้ากว่า 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้ การบังคับใช้ภาษีดังกล่าวยังคงดำเนินต่อในสมัยรัฐบาลไบเดนจนถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ จากสถิติการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนในปีที่ผ่านมา พบว่าสหรัฐฯ นำเข้าสินค้าจากจีนสูงถึง 536,754 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงเพียงเล็กน้อยเทียบกับในปี 2561 ซึ่งเป็นปีเริ่มต้นของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน (มูลค่าการนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ จากจีน ในปี 2561 อยู่ที่ 538,515 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) อนึ่ง จะเห็นได้ว่า สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าซึ่งได้รับผลกระทบจากภาษีในอัตรา 25% จากจีน หรือ สินค้าจากจีนในกลุ่ม List 1 2 และ 3 ตามกฎหมายการค้ามาตรา 301 ของสหรัฐฯ ซึ่งครอบคลุมเกือบทุกกลุ่มสินค้า เช่น หม้อไอน้ำ เครื่องยนต์ เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ เซมิคอนดักเตอร์ อะไหล่เครื่องจักร อุปกรณ์การเกษตร เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ น้ำมันหล่อลื่นและจารบี เรซิน สายไฟและสายเคเบิล วงจรไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์จากนม ไข่ น้ำผึ้ง ผัก ถั่ว ผลไม้ สิ่งทอ เฟอร์นิเจอร์ และวัสดุเซรามิก น้อยลงกว่า 25% เทียบกับในปี 2561 ซึ่งได้เริ่มมีการเก็บภาษีดังกล่าว อนึ่ง สหรัฐฯ ได้ทดแทนการนำเข้าของสินค้าในกลุ่มนี้จากประเทศอื่นๆ โดยรวมกว่า 40% ในปีที่ผ่านมา

หากแยกเป็นกลุ่มสินค้า จะพบว่าสหรัฐฯ นำเข้าสินค้าในกลุ่ม IT ฮาร์ดแวร์ และอุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น โมเด็ม เราเตอร์ หูฟังไร้สาย และ สมาร์ทวอทช์จากจีนลดลงถึง 62% และเพิ่มการนำเข้าของสินค้าในกลุ่มนี้จากประเทศอื่นๆ ถึง 60% สำหรับสินค้าในกลุ่มยานยนต์นั้น พบว่าการนำเข้าจากจีนได้ฟื้นตัวจากช่วงวิกฤตการณ์โควิด และยังคงอยู่ในระดับก่อนการขึ้นภาษี อย่างไรก็ตาม พบว่าสหรัฐฯ นำเข้าสินค้ากลุ่มยานยนต์จากประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะจากเม็กซิโกและแคนาดา เพิ่มขึ้นประมาณ 20% ในช่วงที่ผ่านมา สำหรับสินค้าในกลุ่มเฟอร์นิเจอร์นั้น พบว่าสหรัฐฯ นำเข้าจากจีนน้อยลง 21% และเพิ่มการนำเข้าจากประเทศอื่นๆ สูงถึง 87%

สำหรับการนำเข้าสินค้าในกลุ่ม List 4A เช่น น้ำมัน น้ำเชื่อม แอลกอฮอล์ ยาสูบหนังสือ เครื่องแต่งกาย รองเท้า เครื่องแก้ว อุปกรณ์กีฬา และแบตเตอรี่ลิเธียมซึ่งได้รับผลกระทบจากอัตราภาษี 7.5% ไม่เปลี่ยนไปจากเดิมมากนัก อนึ่ง สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าในกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นจากประเทศอื่นๆ ถึง 51% ในปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม สำหรับกลุ่มสินค้าที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการเรียกเก็บภาษี เช่น คอมพิวเตอร์พกพา สมาร์ตโฟน ที่บังคับวิดิโอเกมส์ และของเล่นต่างๆ สหรัฐฯ ยังคงนำเข้าสินค้าเหล่านี้จากจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้นเกือบ 50% ในช่วงที่ผ่านมา

อนึ่ง ตามกฎหมายการค้าของสหรัฐฯ นั้น จะต้องพิจารณาการกำหนดอัตราภาษีศุลกากร 4 ปีหลังจากที่มีการกำหนดอัตราภาษีครั้งแรก โดยเมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา ได้ครบรอบการขึ้นภาษีดังกล่าว ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ อยู่ในระหว่างการพิจารณาการบังคับใข้อัตราภาษีดังกล่าว และคาดว่าจะพิจารณาแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2566 นี้

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จะพิจารณาการต่อภาษีในอัตราดังกล่าวหรือไม่ คาดว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จะยังคงมุ่งเน้นที่จะลดความเสี่ยงในการทำการค้ากับจีน โดยเฉพาะในด้านของสินค้ายุทธศาสตร์ เช่น เทคโนโลเซมิคอนดักเตอร์ลิเธียมแบตเตอรี่ และแร่ธาตุหายาก รวมถึงในด้านของการกระจายห่วงโซ่อุปทานเพื่อป้องกันการหยุดชะงักงันทางการค้า

หากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดดังจะเห็นได้จากภายหลังการเกิดวิกฤตการณ์โควิดและสงครามรัสเซีย-ยูเครนในความพยายามที่จะลดความเสี่ยงจากจีน สหรัฐฯ ได้พยายามที่จะหาช่องทางใหม่ๆ ในการย้ายห่วงโซ่อุปทานและส่งเสริมการ “friend-shoring” หรือ การส่งเสริมธุรกิจให้ย้ายฐานการผลิตมายังประเทศพันธมิตร เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ หยุดชะงัก ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคมที่ผ่านมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ได้แถลงการณ์บรรลุข้อตกลงกับ 13 ประเทศในแถบอินโด-แปซิฟิกในกรอบความร่วมมือเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก หรือ Indo-Pacific Economic Framework (IPEF) ในด้านของการตกลงสร้างความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน โดย IPEF เป็นหนึ่งในแผนงานภายใต้ Indo-Pacific Strategy หรือยุทธศาสตร์ อินโด – แปซิฟิกของประธานาธิบดีไบเดน มีเป้าหมายที่จะยกระดับภูมิภาคอินโด–แปซิฟิกให้พร้อมรับมือกับความท้าทายใหม่ ๆ รวมถึงเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ทั้งด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง และรักษาบทบาทมหาอำนาจในภูมิภาค ทั้งนี้ ประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 14 ประเทศที่เข้าร่วมเจรจาในกรอบความร่วมมือ IPEF ดังกล่าว

นโยบายของสหรัฐฯ ที่มีต่อจีนในปัจจุบัน แม้จะลดความรุนแรงจากการแยกตัว หรือ De-coupling เป็นการลดความเสี่ยง หรือ De-risking ในการทำการค้าก็ตาม คาดว่าจะยังคงส่งผลให้บริษัทสหรัฐฯ มองหาฐานการผลิตใหม่ๆ ในเอเชียเพื่อลดความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าระหว่างสองประเทศ ผู้ประกอบการไทยจึงควรติดตามสถานการณ์นโยบายการค้าของสหรัฐฯ กับจีนอย่างใกล้ชิด

Reuter/ Politico/ PIIE/ CNBC/ Bloomberg/ U.S. Custom Clearance

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login