ผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนครั้งล่าสุดของกระทรวงสังคมของประเทศออสเตรียเกี่ยวกับพฤติกรรมการบริโภค (Konsumentinnen- und Konsumentenbarometer des Sozialsministeriums) ในด้านเหตุผลในการตัดสินใจซื้อสินค้าพบว่ามีความเห็นถึงร้อยละ 80 ให้ความสำคัญอันดับหนึ่งต่อความคงทนของสินค้า ตามมาด้วยร้อยละ 71 ให้ความสำคัญต่อสินค้าที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในท้องถิ่น และร้อยละ 61 ให้ความสำคัญต่อสินค้าที่ส่งเสริมความยั่งยืน นายโยฮันเนส เราช์ (Johannes Rausch) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสังคมกล่าวว่าผู้บริโภคมีความต้องการให้มีการออกกฎหมายที่ชัดเจนเพื่อให้สามารถเชื่อมั่นต่อข้อกล่าวอ้างที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมได้ และสนับสนุนความพยายามของคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) อย่างเต็มที่ ซึ่งปัจจุบันได้มีการเสนอร่างกฎหมายหลายฉบับเกี่ยวกับการต่อต้านการฟอกเขียว (Greenwashing) หรือการกล่าวอ้างเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่รับผิดชอบต่อสังคมและรักษ์โลก แต่อาจไม่ได้มีการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจริง ผู้บริโภคต้องได้รับข้อมูลที่ถูกต้องมากขึ้นเพื่อสามารถใช้ในการพิจารณาเห็นว่าสินค้าที่ถูกโฆษณาว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนั้นแท้จริงแล้วเป็นดังนั้นหรือไม่
อีกด้านหนึ่งผู้บริโภคยังมีความกังวลอย่างมากต่อราคาพลังงาน จากผลสำรวจพบว่าผู้บริโภคกว่าสามในสี่ยังคงใช้ความพยายามในการประหยัดการใช้พลังงาน ซึ่งมีเหตุผลหลักคือราคาพลังงานและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ในด้านการก้าวสู่การค้าดิจิตอล (Digitalization of trade) พบว่าผู้บริโภคร้อยละ 69 มีการซื้อสินค้าออนไลน์ ซึ่งเป็นจำนวนมากกว่าเมื่อสิบปีก่อนถึงเท่าตัว ขณะที่จำนวนผู้บริโภคที่สืบค้นข้อมูลสินค้าจากสื่อโซเชียลเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 10 เมื่อสิบปีก่อนขึ้นมาเป็นร้อยละ 30
แหล่งที่มา www.diepresse.com
ข้อเสนอแนะและความคิดเห็นสำนักงานฯ
ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมฝังลึกในค่านิยมของผู้บริโภคในยุโรป ซึ่งผู้ประกอบการภาคเอกชนและภาครัฐมีความเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน การพัฒนาสินค้าเพื่อตอบโจทย์ตลาดยุโรปจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องคำนึงถึงค่านิยมนี้และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องในปัจจุบัน ตลอดจนสิ่งที่มีแนวโน้มจะถูกบัญญัติขึ้นเป็นกฎระเบียบในอนาคต
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเวียนนา
สิงหาคม 2566
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)