หากจะกล่าวถึงงานแสดงสินค้าเครื่องประดับและอัญมณีที่มีความสำคัญต่อภาคอุตสาหกรรมเครื่องประดับและอัญมณีของอิตาลี คงต้องยกให้งานแสดงสินค้า Vicenzaoro ซึ่งถือเป็นงานแสดงสินค้านานาชาติที่ผู้คนในแวดวงอุตสาหกรรมเครื่องประดับและอัญมณีจากทั่วโลกรู้จัก โดยเป็นงานที่มีความสำคัญ 1 ใน 3 ของโลก และอันดับ 1 ในยุโรป โดยมีบริษัท Italian Exhibition Group (IEG) เป็นผู้จัดงาน ซึ่งงานดังกล่าวจัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง ณ ศูนย์แสดงสินค้า Vicenza เมืองวีเชนซา ประเทศอิตาลี บนพื้นที่กว่า 60,000 ตารางเมตร ภายในงานจัดแสดงสินค้าทองรูปพรรณ อัญมณี พลอย มุก หินและเครื่องประดับ บรรจุภัณฑ์ นาฬิกา และเครื่องจักร โดยทุก ๆ ปีจะมีผู้คนจากทั่วโลกเดินทางมาเยี่ยมชมงานเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นเวทีที่รวมผู้ประกอบการสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ตลอดห่วงโซ่การผลิตจากทั่วโลก โดยมีสินค้าตั้งแต่ High-end แฟชั่น สินค้าแบรนด์น้องใหม่ที่มีศักยภาพ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รวมถึงเครื่องจักรที่ทันสมัย
สำหรับการจัดงาน Vicenzaoro 2024 (กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-10 กันยายน 2567) ครบรอบ 70 ปี ได้รับผลตอบรับดีเกิดคาด โดยมีจำนวนผู้เข้าเยี่ยมชมงานสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เมื่อเทียบกับงานเดือนกันยายน 2566 โดยมีผู้เข้าเยี่ยมชมงานจาก 132 ประเทศ ซึ่งจากยุโรป เพิ่มขึ้นถึง 63.37% (เทียบกับ 52% ในเดือนกันยายน 2566) โดยเฉพาะผู้เข้าเยี่ยมชมงานจากสเปน ฝรั่งเศส และเยอรมนี และจากเอเชียและตะวันออกกลาง เพิ่มขึ้นเป็น 21% (เทียบกับ 17% ในปี 2566) โดย Mr. Corrado Peraboni ผู้บริหาร Italian Exhibition Group เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลา 3 ปี จำนวนผู้เข้าเยี่ยมชมงานเติบโตอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด (หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19) ส่งผลให้งานแสดงสินค้า Vicenzaoro กลับเข้าสู่สภาวะปกติ อันมีผลมาจากกลยุทธ์ของผู้จัดงาน ที่มุ่งเน้นคุณภาพของผู้เข้าเยี่ยมชมงานมากขึ้น โดยมีสำนักงานพาณิชย์อิตาเลียน (ICE Agency) เป็นผู้ดูแลและเชิญชวนผู้ซื้อจากทั่วโลกเข้าร่วมงาน
โดยการจัดงานในครั้งนี้ มีจำนวนผู้ประกอบการเข้าร่วมแสดงสินค้ามากกว่า 1,200 แบรนด์ โดยร้อยละ 40 มาจากต่างประเทศ 35 ประเทศ ซึ่งเป็นแบรนด์ที่มีความสามารถในการนำเสนอสินค้าและเทรนด์ที่ยอดเยี่ยม และมีจำนวนผู้ซื้อมากกว่า 450 ราย จาก 60 ประเทศ โดยการดูแลของสำนักงานพาณิชย์อิตาเลียน (ICE Agency) กระทรวงการต่างประเทศ และความร่วมมือระหว่างประเทศกับสหรัฐอเมริกา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จีน สเปน และฝรั่งเศส Mr. Maurizio Ermeti ประธาน Italian Exhibition Group มีแผนสำหรับการพัฒนาพื้นที่จัดแสดงงานใหม่ และเชื่อว่าวิสัยทัศน์จะต้องทำให้กลายเป็นจริง ซึ่งถือเป็นจิตวิญญาณที่ทำให้งานแสดงสินค้า Vicenzaora เป็นงานที่จัดมายาวนานที่สุดเมื่อเทียบกับงานอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกัน โดย IEG เชื่อมั่นในการจัดงาน Vicenzaoro และมีความมุ่งมั่นที่จะพิสูจน์ตัวเองว่าเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมเครื่องประดับและอัญมณีที่มีคุณภาพในระดับนานาชาติ โดยมีโครงการในการพัฒนางานแสดงสินค้าด้วยเงินทุนมูลค่า 60 ล้านยูโร IEG ได้เผชิญกับความท้าทายในอดีตที่ผ่านมา เพื่อสร้างพื้นฐานที่เป็นรูปธรรมให้กับภาคอุตสาหกรรมทองคำและเครื่องประดับ ซึ่งเป็นภาคอุตสาหกรรมหนึ่งที่มีความสำคัญของการผลิตในอิตาลี (Made in Italy)
โดยในพิธีเปิดงาน Vicenzaoro 2024 ได้มีการเปิดเผยข้อมูลการสำรวจทางเศรษฐกิจ ครั้งที่ 6 จัดทำโดยสมาคมอุตสาหกรรมทองคำของอิตาลี (Club degli Orafi Italia) และธนาคาร Intesa Sanpaolo คาดว่า ปี 2567 1 ใน 3 ของผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมทองคำ จะมีผลประกอบการเพิ่มขึ้น (+28% จากผลสำรวจเดือนธันวาคม 2566) ซึ่งถือเป็นการคาดการณ์ในทิศทางเดียวกันกับสำนักงานสถิติแห่งชาติอิตาลี (ISTAT) ที่แสดงข้อมูลว่า ในช่วงครึ่งปีแรกของ ปี 2567 ผลประกอบการของภาคอุตสาหกรรมทองคำ ขยายตัวเพิ่มขึ้น +4% ในขณะที่ ผลประกอบการของภาคอุตสาหกรรมแฟชั่น ลดลง -8% โดยการสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดังกล่าว พบว่า 29% ของผู้ประกอบการที่ถูกสำรวจความคิดเห็น มีความเห็นว่าการลงทุนมีแนวโน้มที่เป็นบวก อันมีปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายการเงินที่เอื้ออำนวยมากขึ้น และการลดต้นทุนด้านพลังงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งช่วยลดความกังวลที่เกี่ยวข้องกับต้นทุนของหนี้และต้นทุนพลังงาน อย่างไรก็ตาม ในการสำรวจของ Intesa Sanpaolo เกี่ยวกับหัวข้อเรื่องความยั่งยืนซึ่งเจาะลึกเกี่ยวกับมาตรการที่บริษัทต่าง ๆ ใช้ เพื่อส่งเสริมการดำเนินการของแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน ที่คำนึงถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และหลักธรรมาภิบาล (ESG – Environment, Social และ Governance) โดยรับประกันการตรวจสอบย้อนกลับของวัตถุดิบ และปรับปรุงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมของกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรม โดยการปฏิบัติการที่แพร่หลายที่สุดในขณะนี้ คือ การแยกขยะของกระบวนการผลิตและการตลาด (77% สำหรับบริษัทผู้ผลิต และ 95% สำหรับบริษัทด้านการตลาด) โดยในจำนวนของบริษัทผู้ผลิตในอุตสาหกรรมเครื่องประดับและอัญมณี ซึ่งส่วนใหญ่ให้ความสำคัญต่อการลดปริมาณของการใช้บรรจุภัณฑ์ (59%) ลดการใช้วัสดุที่เป็นอันตราย (55%) และเพิ่มเอกสารการรับรองเฉพาะทาง (55%) โดยเฉพาะเอกสารการรับรองของสภาอัญมณีที่รับผิดชอบ (RJC – Responsible Jewellery Council)
สำหรับเทรนด์สินค้าเครื่องประดับและอัญมณีของฤดูใบไม้ร่วง/ฤดูหนาว 2024-25 ซึ่งจะเป็นเทรนด์ที่เกี่ยวกับมรดกทางประวัติศาสตร์และนวัตกรรมร่วมสมัย โดยผู้บริโภคมีความต้องการที่จะแสดงความเป็นตัวของตัวเองผ่านชิ้นงานที่มีเอกลักษณ์และโดดเด่น ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจระหว่างการย้อนยุค (วินเทจ) และความก้าวหน้าที่ทันสมัย โดยศูนย์วิจัยของ IEG ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเทรนด์สินค้าเครื่องประดับและอัญมณี 4 เทรนด์ ได้แก่ 1) Boldness เป็นเทรนด์ของการกลับเข้าสู่ความสุนทรีย์แห่งยุค 70 และ 80 ด้วยการใช้โลหะเรียบและโค้งมน ไปจนถึงทรงกลมสีทองที่มีผิวมันแวววาว พร้อมด้วยทรงหลังเตาและหินสังเคราะห์ 2) X-Treme Décor เป็นเทรนด์ที่แสดงถึงความมั่งคั่งและความหรูหราจากในอดีต ในความทรงจำของยุควิกตอเรียนหรือแม้แต่ยุคจอร์เจียน 3) Superstyling เป็นเทรนด์ที่สะท้อนถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในโลก บนท้องถนน และโซเชียลมีเดีย และ 4) Graphique เป็นเทรนด์ของการเฉลิมฉลองให้กับการออกแบบที่หรูหราผ่านเส้นสายที่เรียบง่ายและวัสดุน้ำหนักเบา คุณสมบัติที่โดดเด่น เช่น เกลียวและรูปทรงตัว V ผสมผสานความคิดสร้างสรรค์เข้าด้วยกันของนักออกแบบที่เปลี่ยนความเรียบง่ายให้กลายเป็นความหรูหรา
ความคิดเห็นของ สคต. ณ เมืองมิลาน
1. จากผลของการจัดงาน Vicenzaoro 2024 แสดงให้เห็นว่า ภาคอุตสาหกรรมเครื่องประดับและอัญมณีของอิตาลีได้กลับมาฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากจำนวนผู้เข้าเยี่ยมชมงานที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ประกอบกับการที่ผู้จัดงานมีแผนขยายและพัฒนาพื้นที่ศูนย์แสดงสินค้าดังกล่าว ให้กลายเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมเครื่องประดับและอัญมณีที่สำคัญอันดับต้น ๆ ของโลก ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้ มีผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมแสดงสินค้า จำนวน 54 บริษัท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่เข้าร่วมงานอยู่เป็นประจำทุกปี โดยผู้ประกอบการไทยให้ข้อมูลว่า การจัดงานในครั้งนี้ถึงแม้จะมีจำนวนผู้เข้าเยี่ยมชมงานเป็นจำนวนมาก แต่กลับพบว่าการเจรจาการค้าค่อนข้างซบเซา ผู้ซื้อส่วนใหญ่โดยเฉพาะประเทศในยุโรปยังคงไม่ทำการสั่งซื้อสินค้าทันทีภายในงาน ซึ่งสัญญาณดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภคในยุโรปลด/ชะลอการใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยเพิ่มมากขึ้น สืบเนื่องมาจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอน การปรับขึ้นของราคาสินค้าและบริการ และอัตราเงินเฟ้อที่ยังมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทยยังคงมองว่า งาน Vicenzaoro ยังคงเป็นแฟลตฟอร์มที่สำคัญในการพบปะเจรจาการค้าร่วมกับผู้ซื้อในแวดวงอัญมณีและเครื่องประดับจากทั่วโลก
2. จากข้อมูล Global Trade Atlas พบว่า ถึงแม้ปี 2567 (มกราคม – มิถุนายน) แนวโน้มการส่งออกสินค้าเครื่องประดับและอัญมณี (HS Code 71) ของโลก มีการชะลอตัวเล็กน้อย -0.73% หรือคิดเป็น มูลค่า 644,941.96 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่กลับพบว่าประเทศส่งออกสำคัญของสินค้าดังกล่าว ยังคงมีมูลค่าการส่งออกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ มูลค่า 69,522.49 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+1.09%) ฮ่องกง มูลค่า 45,563.45 ล้านเหรียญสหรัฐฯ(+12.06%) แคนาดา มูลค่า 15,148.35 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+7.59%) เยอรมนี มูลค่า 13,366.94 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+16.01%) อิตาลี มูลค่า 12,042.95 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+14.42%) เป็นต้น โดยพบว่าสินค้าเครื่องประดับและอัญมณีที่อิตาลีส่งออกไปทั่วโลกมากที่สุดเป็นอันดับ 1 คือ สินค้าเครื่องประดับและส่วนประกอบ (HS code 7113) มูลค่า 7,804.51 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+39.82%) และอันดับ 2 คือ สินค้าทองคำ (HS Code 7108) มูลค่า 2,033.59 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+20.25%) โดยไทยส่งออกสินค้าเครื่องประดับและอัญมณี (HS Code 71) ของโลก มีมูลค่า 7,477.91 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+2.62%) สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยอันดับต้น ๆ ได้แก่ สินค้าทองคำ (HS Code 7108) มูลค่า 2,979.27 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-4.94%) และสินค้าเครื่องประดับและส่วนประกอบ (HS code 7113) มูลค่า 2,233.81 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+9.13%) จากตัวเลขดังกล่าวข้างต้นแสดงให้เห็นว่า แนวโน้มด้านการค้าของภาคอุตสาหกรรมสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของโลกยังคงมีทิศทางที่สดใส เห็นได้จากตัวเลขการส่งออกของประเทศส่งออกสำคัญของสินค้าดังกล่าวที่ยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้น
3. งาน Bangkok Gems and Jewelry จัดขึ้นในช่วงที่ใกล้เคียงกับงานแสดงสินค้าเครื่องประดับและอัญมณีที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นงาน Jewellery & Gem World Hong Kong ณ ฮ่องกง และงาน Vicenzaoro ณ ประเทศอิตาลี ซึ่งส่งผลสำคัญต่อนักธุรกิจต่างชาติ ในการพิจารณาเลือกเดินทางเข้าชมงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ดังนั้น ไทยควรดำเนินการประชาสัมพันธ์งาน Bangkok Gems and Jewelry และอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทยเพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นการสร้างการรับรู้และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักธุรกิจต่างชาติในวงกว้างเพิ่มขึ้น รวมทั้งคัดเลือกผู้ประกอบการไทยที่มีสินค้าที่มีศักยภาพและมีความพร้อมในการส่งออกสินค้ามายังต่างประเทศ โดยสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทยถือเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญอันดับต้น ๆ มายังอิตาลี โดยปี 2567 (ม.ค. – ก.ค.) ไทยส่งออกสินค้าดังกล่าวมายังอิตาลีมีมูลค่า 151.13 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว -0.37% คิดเป็นสัดส่วน 11.93% ของสินค้าที่ไทยส่งมายังอิตาลีทั้งหมด ดังนั้น การที่ผู้ประกอบการไทยสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่ต้องการขยายการส่งออกมายังตลาดอิตาลีและยุโรป ควรศึกษาความต้องการของผู้บริโภค และแนวโน้มการดำเนินการของแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน ที่คำนึงถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และหลักธรรมาภิบาล ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญที่จะเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทยในตลาดอิตาลีและยุโรปอย่างแท้จริง
——————————————————————-
ที่มา: 1. https://www.vicenzaoro.com/it/media-room
2. ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร
3. Global Trade Atlas
4. รูปภาพประกอบจากงาน Vicenzaoro 2024
อ่านข่าวฉบับเต็ม : งาน Vicenzaoro 2024 ส่งสัญญานบวกต่อภาคอุตสาหกรรมเครื่องประดับและอัญมณีของอิตาลี