หน้าแรกTrade insightเครื่องดื่ม > งาน Licensing Expo Shanghai (LEC) 2024

งาน Licensing Expo Shanghai (LEC) 2024

 

 

งาน Licensing Expo Shanghai (LEC) 2024 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-19 กรกฎาคม 2567 ณ ฮอลล์ 1.1 และ ฮอลล์ 2.1 ที่ National Exhibition and Convention Center (NECC) นครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ซึ่งงาน Licensing Expo Shanghai เป็นส่วนหนึ่งของงาน Licensing Expo ที่มีชื่อเสียงระดับโลกในรูปแบบ Business-to-business (B2B) สำหรับธุรกิจ Licensing ที่จัดขึ้นในหลายประเทศ ในปี 2567 ได้จัดขึ้น 3 เมือง ได้แก่ ลาสเวกัส (Licensing Expo Las Vegas) ลอนดอน (Brand Licensing Europe) และเซี่ยงไฮ้ (Licensing Expo Shanghai)

 

โดยธุรกิจ Licensing คือ การมอบใบอนุญาตหรือการอนุญาตให้ใช้สิทธิ หมายถึงการที่เจ้าของผลิตภัณฑ์หรือทรัพย์สินทางปัญญา (Licensor) ให้ใบอนุญาตบางอย่างเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ กับผู้ผลิตรายอื่น (Licensee) เพื่อที่ Licensee นั้นจะได้มีสิทธิ์ในการผลิตตามที่ระบุอยู่ในเงื่อนไขของสัญญา Licensing ที่ตกลงกันไว้

 

งาน Licensing Expo Shanghai จัดขึ้นภายใต้พื้นที่จัดงานกว่า 48,000 ตารางเมตร ได้รวบรวมผู้แสดงสินค้ามากกว่า 400 ราย มีสินค้า IP Character ภายในงานมากกว่า 1,800 ตัว และมีผู้เข้าร่วมเยี่ยมชมงานมากกว่า 70,000 ราย โดยมีเป้าหมายเพื่อโปรโมตธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมแอนิเมชั่น ภาพยนตร์และโทรทัศน์ พิพิธภัณฑ์ ศิลปะวัฒนธรรม วรรณกรรม บันเทิง เกม สิ่งพิมพ์ แบรนด์ขององค์กร กีฬา และลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญาประเภทอื่น ๆ และส่งเสริมให้บริษัทที่ได้รับใบอนุญาตทั้งเจ้าของ IP และตัวแทนได้มีโอกาสพบเจอและเจรจาธุรกิจกับผู้รับจ้างผลิตสินค้า (OEM) ผู้รับจ้างที่ออกแบบและผลิตสินค้า (ODM) ผู้ได้รับใบอนุญาต (licensees) และผู้ค้าปลีก และครอบคลุมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่สามารถผลิตโดยใช้คาแรคเตอร์เป็นขุดขายของสินค้า เช่น ผลิตภัณฑ์สำหรับแม่และเด็ก การท่องเที่ยวและการบริการ อาหารและเครื่องดื่ม วัฒนธรรมและไลฟ์สไตล์ ความงามและสุนทรียภาพ เครื่องประดับ แฟชั่นและเครื่องแต่งกาย การก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ สุขภาพและโภชนาการ และอุตสาหกรรมอื่น ๆ

 


     ภายในงานได้รวบรวมคาแรคเตอร์มากมายที่มีชื่อเสียงจากทั่วโลก ทั้งฝั่งเอเชียและอเมริกาภายในงานเราจะพบตัวการ์ตูนที่เราคุ้นตามากมาย เช่น ชินจัง จากบูท Alifish (阿里鱼) บริษัทในเครือของ Alibaba ป๊อปอาย (Popeye) คาแรคเตอร์ในบูท Media links หมูสีชมพู Peppa Pig (小猪佩奇) จากบริษัทของเล่น Hasbro และยังมีคาแรคเตอร์ต่าง ๆ อีกมากมาย เช่น แฮร์รี่ พอตเตอร์ (Harry Potter) ทอม แอนด์ เจอร์รี่ (Tom and Jerry) เพลย์บอย (Playboy) เดอะพาวเวอร์พัฟฟ์เกิลส์ (The Powerpuff Girls) และซานริโอ (Sanrio) เป็นต้น

 

 

ด้านคาแรคเตอร์จีน มีบริษัทเจ้าของลิขสิทธิ์ได้นำคาแรคเตอร์ชื่อดังที่เป็นที่รู้จักในกลุ่มชาวจีนและชาวต่างชาติมาร่วมออกบูทภายในงาน เช่น Moisten Bamboo (润竹文化传媒有限公司) ได้นำ บาร์บี้ (Barbie 芭比) Moomins (姆明) และคาปิบาร่าหัวส้ม (橘子水豚) มาร่วมออกบูท และทำกิจกรรมแจกตุ๊กตา Tencent Video (腾讯视频) แพลตฟอร์มวิดีโอจีนได้นำคาแรคเตอร์จากซีรีย์ภายในแอปพลิเคชันอย่างเรื่อง The Land of Warriors (斗罗大陆) มาตั้งโชว์สินค้าต่าง ๆ Jason (杰森) เจ้าของลิขสิทธิ์คาปิบาร่า (卡皮巴拉) ที่จำหน่ายในร้าน  Green party ได้นำสินค้าตัวอย่างมาจัดแสดง เป็นต้น

 

 

ด้านคาแรคเตอร์จากประเทศไทย ภายในงานมีผลงานของนักออกแบบไทยได้มาจัดแสดงด้วย เช่น Sage House เป็นบริษัทเอเจนซี่มีสาขาอยู่ที่ Shanghai, Hongkong และ Melbourne มีหน้าที่ดูแลผลงานของศิลปินนักวาดภาพ (Illustrator) ชั้นนำในเอเชีย เช่น Kenji Yanobe, Hikaru Matsubara, Ryuji Kamiyama และ Jirayu Koo และถือ (IP Character) ลิขสิทธิ์คาแรคเตอร์ชั้นนำ เช่น Smiley Face เป็นต้น โดยทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาการตลาดให้แก่ภาคธุรกิจและแบรนด์ชั้นนำเพื่อสร้างสรรค์แคมเปญและ Collection สินค้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวให้แก่ลูกค้าระดับโลกรวมถึงจัดทำสินค้ารุ่นลิมิเต็ดสำหรับลูกค้าที่แสวงหาความพิเศษ เพื่อให้เกิดกระแส viral ทางโซเชียล เช่น  Goyard x Smiley Face, Tsingtao Beer x Smiley Face, Lee Garden x Jirayu Koo เป็นต้น Sage House ได้รวบรวมศิลปินและนักออกแบบจากหลากหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงศิลปินชาวไทย ได้แก่ Jirayu Koo หรือคุณจิรายุ คูอมรพัฒนะ นักวาดภาพประกอบ ผู้ซึ่งออกแบบคาแรคเตอร์ และเคยฝากผลงานบนตึกแถว 7 คูหาที่จังหวัดตราด ภายใต้แคมเปญ Amazing Thailand อีกทั้งยังเคยร่วมงานกับแบรนด์ดังมากมาย เช่น Apple และ Uniqlo เป็นต้น

 

 

ที่มาภาพ: https://readthecloud.co/jirayu-koo/

 

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีมาสคอตน้องหมีเนย (Butterbear) หรือชื่อจีน 黄油小熊 ได้มาออกบูทเจรจาธุรกิจภายในงานเช่นกัน จัดแสดงภายใต้คูหาของ 厦门起重集文化传媒有限公司 ซึ่งเป็นบริษัทผู้ถือลิขสิทธิ์คาแรคเตอร์ที่มีชื่อเสียงในประเทศจีนชั้นนำ เช่น Xiaolan Friends (小蓝和他的朋友) Maltese (线条小狗) My Friend Rabbit (粉红兔子) Milk Tea Mouse (奶茶鼠) CuteUnion (可爱联盟) Butter Dog (黄油小狗) เป็นต้น โดยในปัจจุบันทางบริษัท 起重集 ได้เซ็นต์สัญญาเป็นตัวแทนและผู้ถือลิขสิทธิ์ Butterbear แต่เพียงผู้เดียวในประเทศจีน ภายในงานทางบริษัทฯ ได้มีการจัดทำสินค้าตัวอย่างและถุงใส่ของมาแจกเพื่อโปรโมตสินค้า ซึ่งเป็นครั้งแรกของทางบริษัทที่ได้ร่วมมือและเป็นตัวแทนการค้าให้กับสินค้าคาแรคเตอร์จากประเทศไทย โดยปัจจุบันบริษัทฯเป็นผู้จัดทำอิโมจิในวีแชท เพื่อเป็นการสร้างกระแสไวรัลให้แก่น้องหมีเนยในกลุ่มชาวจีน โดยทางบริษัท
มีแผนที่จะผลิตและเริ่มจัดจำหน่ายสินค้าลิขสิทธิ์แท้ของคาแรคเตอร์น้องหมีเนยในประเทศจีนในช่วงปลายปีนี้

 

 

นอกจากนี้ภายในบูทของ Brandwork (Shanghai) Culture Communication Co.. LTD ซึ่งเป็นบริษัทจีนที่เป็นตัวแทนการขายให้แก่ คาแรคเตอร์ของไทย ได้แก่ Bloody Bunny และ Little Amiko ก็มาร่วมเจรจาภายในงานอีกด้วย

 

 

ถือเป็นโอกาสที่ดีของคาแรคเตอร์ไทยที่ได้มีโอกาสจัดแสดงและเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการหรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ได้เห็นและนำไปเป็นตัวเลือกในการผลิตสินค้าโดยใช้คาแรคเตอร์จากไทย นอกจากนี้ จากการสอบถามผู้ประกอบการผู้ถือลิขสิทธิ์คาแรคเตอร์ต่าง ๆ ภายในงาน ได้พบประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการตลาดในปัจจุบัน เนื่องจากความต้องการของผู้บริโภครุ่นใหม่ในมีการเปลี่ยนแปลงไป สินค้าในปัจจุบันต้องมีความน่ารักและเรื่องราวที่โดนใจไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้บริโภค และให้ถูกพูดถึงแบบปากต่อปาก (Word of mouth) และเนื่องจากหลาย ๆ ธุรกิจในหลาย ๆ อุตสาหกรรมได้ใช้กลยุทธ์การออกแบบรูปลักษณ์ของสินค้าให้มีความน่ารักคล้าย ๆ กัน ทำให้ธุรกิจต่าง ๆ ต้องแข่งกันสร้างสรรค์และนำเสนอความเป็นไปได้ใหม่ๆเพื่อสร้างแต้มต่อให้กับสินค้าของตัวเอง เช่น เทรนด์การนำคาแรคเตอร์ IP ดั้งเดิม มาผสมผสานกับงานของศิลปิน Illustrator ซึ่งจะมีมากกว่า 1 คาแรคเตอร์มาออกแบบจะผสมผสานกัน เช่น Popmart ที่ออกแบบโมเดลหลากหลายคอลเลกชันที่ผสมผสานตัวการ์ตูนมากกว่า 1 ตัว เช่นคอลเลกชัน Cry baby x Powerpuff girls

กลยุทธ์นี้จะช่วยเพิ่มฐานลูกค้า โดยสามารถดึงดูดกลุ่มลูกค้าได้ 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มลูกค้าของแบรนด์ กลุ่มลูกค้าผู้ชื่นชอบ Cry baby และกลุ่มลูกค้าผู้ชื่นชอบ Powerpuff girls ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสในการทำยอดขายได้สูงขึ้น

 

ข้อคิดเห็นของสคต.เซี่ยงไฮ้

รูปแบบการตลาดในปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนไปตามพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป Character Marketing ได้กลายเป็นอีกหนึ่งรูปแบบกลยุทธ์ทางการตลาดที่กำลังเป็นที่นิยมและมีส่วนช่วย
ให้ผู้บริโภครู้จักแบรนด์ จดจำภาพลักษณ์ และจดจำสินค้าของแบรนด์ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นรูปแบบและกิจกรรมส่งเสริมการตลาดที่เหมาะกับธุรกิจที่ต้องการพัฒนาภาพลักษณ์ให้ถูกพูดถึงในกลุ่มผู้บริโภค ทั้งนี้ ธุรกิจต่าง ๆ สามารถประยุกต์ใช้คาแรคเตอร์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสินค้าหรือบริการ ทำให้ลูกค้าเปิดใจและอยากทำความรู้จักสินค้าและบริการของบริษัทมากขึ้นผ่านความน่ารักและภาพลักษณ์ของคาแรคเตอร์ได้ โดยงาน Licensing Expo Shanghai (LEC) 2024 เป็นอีกหนึ่งงานที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจและกระตุ้นให้ธุรกิจพัฒนาและสร้างความ
เป็นไปได้ใหม่ๆ ให้แก่แบรนด์ได้ นอกจากนี้งานดังกล่าวยังเหมาะกับนักออกแบบคาแรคเตอร์ไทยในการมาพบปะลูกค้า สามารถสร้างโอกาสให้แก่ธุรกิจเกี่ยวกับคาแรคเตอร์ให้สามารถขยายช่องทางการขายและสร้างรายได้จากการขายลิขสิทธิ์ได้อีกด้วย อีกทั้งยังเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของโอกาสทางธุรกิจในอุตสาหกรรมคาแรคเตอร์ที่สามารถต่อยอดและขยายมูลค่าต่อไปได้อีกเรื่อยๆ

________________________________________________________________________________

จัดทำโดย สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเซี่ยงไฮ้

วันที่ 31 กรกฎาคม 2567

 

แหล่งที่มา

https://baike.baidu.com/item/%E9%98%BF%E9%87%8C%E9%B1%BC/19692326

https://en.licensingexpochina.com/show/about/

https://greedisgoods.com/

Jirayu Koo ศิลปินนักวาดภาพประกอบ ที่มีผลงานบนกระดาษ ห้างสรรพสินค้า จนถึงตึกแถว 7 คูหา

https://wellbe-asia.com/th/blog/ginza-six-kenji-yanobe/

Case study: เรียนรู้การทำ Character Marketing คีย์ลัดเจาะหัวใจผู้บริโภค มองผ่านความสำเร็จ “โต๊ะจัง” On the table

https://www.sage-house.com/about-us

https://www.sage-house.com/shop

อ่านข่าวฉบับเต็ม : งาน Licensing Expo Shanghai (LEC) 2024

Login