งานแสดงสินค้า ISM (Internationale Süßwarenmesse) เป็นงานแสดงสินค้าประเภทขนมหวานและของว่างที่ใหญ่ที่สุดในโลก จัดเป็นประจำทุกปี
โดยปกติแล้วจะจัดในช่วงปลายเดือนมกราคม ณ เมืองโคโลญจน์ (Köln) ประเทศเยอรมนี โดยมี Koelnmesse GmbH เป็นผู้จัดงาน เริ่มจัดครั้งแรกในปี ค.ศ. 1971 ในปีนี้เป็นการจัดงานครั้งที่ 52 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ต้องมีการเลื่อนการจัดงานมาในช่วงระหว่างวันที่ 23 – 25 เมษายน 2566 สำหรับเจรจาธุรกิจเท่านั้น (Trade only) บนพื้นที่แสดงสินค้ากว่า 100,000 ตารางเมตร สินค้าที่แสดงในงานประกอบด้วย ขนมหวานผลิตภัณฑ์ช็อกโกแลต บิสกิต ขนมขบเคี้ยว ขนมขบเคี้ยวที่ทำจากผักและผลไม้ และไอศกรีม เป็นต้น โดยในปีนี้มีคอนเซ็ปต์ของงานว่า “Encourage Enable Excite” ผู้จัดงานกล่าวว่า งานแสดงสินค้า ISM 2023 ในปีนี้ สามารถดึงดูดผู้เข้าชมงานจำนวนกว่า 25,000 คน จากกว่า 135 ประเทศทั่วโลก ทั้งนี้ มีผู้เข้าชมงานจากต่างประเทศ มากกว่าร้อยละ 72 โดยผู้เข้าชมงานส่วนใหญ่มาจากประเทศในแถบยุโรป อาทิ เนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร และเบลเยียม เป็นต้น และผู้เข้าชมงานจากประเทศนอกยุโรป ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เกาหลี และอิสราเอล นอกจากนี้ มีผู้เข้าร่วมจัดแสดงสินค้า(Exhibitors) ทั้งสิ้น 1,281 บริษัท จากทั้งหมด 71 ประเทศทั่วโลกร่วมแสดงเทรนด์สินค้าปัจจุบัน และสินค้าใหม่ โดยมีผู้เข้าร่วมจัดแสดงสินค้าจากประเทศเยอรมนี จำนวน 153 ราย และจำนวนผู้เข้าร่วมงานจากต่างประเทศ 1,128 ราย ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 88 ได้แก่ เบลเยี่ยม เดนมาร์ก กรีซ อิตาลี เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ สเปน ตุรกี และสหรัฐอเมริกา ตามลำดับ ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมจัดแสดงสินค้าจากประเทศรายใหม่ อาทิ อาร์เมเนีย คอสตาริกา อินโดนีเซีย ตรินิแดดและโตเบโก และเวเนซูเอลา นอกจากนี้มีคูหาประเทศต่างๆ รวมทั้งสิ้น 32 คูหา จาก 25 ประเทศและภูมิภาค
เทรนด์สินค้าและกิจกรรมที่น่าสนใจภายในงาน
เทรนด์สินค้า
สินค้าที่มีศักยภาพ ได้แก่ ขนมที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติ ขนมที่ทำจากพืชหรือมีส่วนผสมจากพืช (วีแกนและมังสวิรัติ) ขนมที่มีรสชาติแปลกใหม่ เช่น Smoky Tandoori, Bloody Mary หรือ Green Curry รวมถึงสินค้าที่มีกระบวนการผลิต/บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
มีความคุ้มค่าคุ้มราคา
ISM Award
จุดเด่นพิเศษของ ISM คือการนำเสนอและประกาศรางวัล ISM Award ซึ่งถือได้ว่าเป็นรางวัลที่มีเกียรติอย่างยิ่งสำหรับบุคคลที่อยู่ในอุตสาหกรรมขนมหวานและขนมขบเคี้ยว โดยปีนี้จัดการประกาศรางวัลขึ้นเป็นครั้งที่ 9 ผู้ที่ได้รับรางวัลนี้คือ Mrs. Majlen Fazer ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านคุณภาพผลิตภัณฑ์ และเจ้าของบริษัท Fazer หนึ่งในบริษัทแนวหน้ากลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร และของหวานที่ใหญ่ที่สุดของประเทศฟินแลนด์ ก่อตั้งมา 130 ปี ตั้งแต่ปี 1981
New Product Showcase
นิทรรศการจัดแสดงสินค้านวัตกรรมใหม่ในแวดวงธุรกิจขนมหวานและขนมขบเคี้ยว ซึ่งเป็นอีกหนึ่งจุดเด่นของงานและเป็นแม่เหล็กดึงดูดความสนใจของผู้เข้าชมงานที่มีอำนาจตัดสินใจซื้อ โดยปีนี้จัดขึ้นใน Hall 5.2 บริเวณ Boulevard และออนไลน์บนเว็ปไซต์ของงานISM-Cologne มีสินค้าที่นำมาจัดแสดงกว่า64 ชนิด กฎระเบียบการเข้าร่วมจัดนิทรรศการคือ ต้องเป็นสินค้าใหม่ ที่ยังไม่เคยออกวางตลาดและต้องไม่เคยจัดแสดงในงานแสดงสินค้าใด ๆ มาก่อน อีกทั้งยังมีการจัดประกวดผลิตภัณฑ์ใหม่ดีเด่นประจำปี จำนวน3 รางวัล (Top 3 innovations of the New Product Showcase) ในปีนี้ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับรางวัล ได้แก่
อันดับที่ 1 Sweet cotton candy แบรนด์ Sweet Stories จากบริษัท Tri d’Aix GmbH ประเทศเยอรมนี ผลิตภัณฑ์ขนมสายไหมปราศจากน้ำตาล มีการผลิตจากโอลิโกฟรุคโตส (Oligofructose) ซึ่งมีส่วนผสมของน้ำตาลน้อยกว่า 10% ปราศจากสารปรุงแต่งกลิ่น สี และแป้ง อีกทั้ง ยังเป็นผลิตภัณฑ์วีแกน และฮาลาลอีกด้วย
อันดับที่ 2 Brown Sugar Boba Milk Tea Mochi
จากบริษัท CAL Marketing Pty. Ltd. ประเทศออสเตรเลีย เป็นการคิดค้นผลิตภัณฑ์ขนมในรูปแบบใหม่ โดยการผสมผสานขนมโมจิญี่ปุ่นดั้งเดิมให้เข้ากับรสชาติ ชานมไข่มุก Brown Sugar ที่กำลังเป็นที่นิยมในตลาด ซึ่งถือเป็นเจ้าแรกที่คิดค้นรสชาติผสมผสานอย่างลงตัวนี้ขึ้นมา
อันดับที่ 3 Purple Sweet Potato Chips BBQ
จากบริษัท WORLD´S COCONUT TRADING SL ประเทศสเปน ผลิตภัณฑ์มันฝรั่งทอดทางเลือกที่อุดมไปด้วยสารอาหารและเต็มไปด้วยรสชาติ ปรุงรสบาร์บีคิว
ISM Consumer Award
ปีนี้เป็นปีแรกที่ผู้จัดงาน ร่วมกับ Foodnewsgermany นิตยสารออนไลน์เกี่ยวกับเทรนด์อาหารในเยอรมนี มีผู้ติดตามใน Instagram กว่า 185,000 คน
ได้เปิดโอกาสให้ผู้บริโภคร่วมลงคะแนน โดยในปีนี้ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับรางวัล ISM Consumer Award 2023 ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ Street Food Mix แบรนด์ Mitsuba จากประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นขนมขบเคี้ยวสไตล์ญี่ปุ่น ปรุงรสชาติเอเชีย
ข้อคิดเห็นของ สคต. แฟรงก์เฟิร์ต
การจัดงานในปีนี้ นอกจากสินค้าที่เน้นส่วนผสมที่มีความเป็นธรรมชาติ เช่น กลิ่น สี
และรสชาติ รวมถึงให้พลังงานต่ำหรือปราศจากน้ำตาลซึ่งกำลังได้รับความนิยมจากผู้บริโภคที่รักสุขภาพและต้องการควบคุมน้ำหนักหรือปริมาณน้ำตาลในเลือดแล้ว ภายในงานยังมีความหลายหลากของขนมขบเคี้ยวที่คำนึงถึงความต้องการของผู้บริโภคที่มีเงื่อนไขในการรับประทานอื่น ๆ ด้วย เช่น กลุ่มผู้รับประทานอาหารมังสวิรัติ/วีแกน ผู้ป่วยโรคเบาหวาน สตรีมีครรภ์ กลุ่มเด็กเล็ก เป็นต้น ดังนั้นผู้ประกอบการไทยควรให้ความสำคัญกับส่วนประกอบที่ใช้ในกระบวนการผลิตที่นอกจากจะเสริมในด้านสีสันแล้ว รสชาติก็ควรให้เป็นที่เข้ากันกับผลิตภัณฑ์เดิมเพื่อให้เกิดความโดดเด่นมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ จะเห็นได้ว่าผู้บริโภคนิยมหันมาบริโภคสินค้าที่มีรสชาติใหม่ๆ มากขึ้น เช่น รสชาติอาหารเอเชีย จึงเป็นโอกาสสำคัญในการผลักดันการส่งออกของสินค้าไทยต่อไปในอนาคต สินค้าขนมที่นำไปจัดแสดงควรเป็นสินค้าที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น ผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติ อาทิ การนำผักและผลไม้นานาชนิดของไทยซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ดีต่อสุขภาพมาประยุกต์เป็นส่วนผสมและจุดขาย เป็นต้น อีกทั้ง ควรใช้ขั้นตอนกรรมวิธีในการผลิตที่ใส่ใจต่อสุขภาพของผู้บริโภค ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างจุดแข็ง และสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค ในยุคปัจจุบันได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการควรศึกษาแนวโน้มตลาดเพื่อคิดค้น ต่อยอด ปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ตลาดในด้านอื่น ๆ ด้วย เช่น บรรจุภัณฑ์จากวัตถุดิบจากธรรมชาติ สินค้าวีแกนหรือเกษตรอินทรีย์ สินค้ารสชาติแปลกใหม่
กลยุทธ์ “Redefining Value” หรือความคุ้มค่าที่เหนือราคา เป็นเทรนด์มาแรงอันดับหนึ่งในปีนี้ตามข้อมูลของบริษัทวิจัยตลาด Innova Market Insights ผู้บริโภคมีแนวโน้มการใช้จ่ายประหยัดมากขึ้นจากวิกฤตค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลกในปัจจุบัน ราคาและความคุ้มค่าของสินค้าถือเป็นปัจจัยหลักในการเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภค แต่ในขณะเดียวกัน ผู้บริโภคยังคงให้ความสำคัญต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคก็ยอมจ่ายในราคาพรีเมี่ยมหากสินค้าที่ได้รับนั้นมากกว่ากับราคาที่จ่ายไป การสร้างผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างเรื่องราวเกี่ยวกับการพัฒนาความยั่งยืนของสังคม การสร้างเอกลักษณ์ และความแตกต่างของตัวสินค้ามีความสำคัญมากไม่น้อยไปกว่าคุณภาพของสินค้าและราคา ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคทั้งสิ้น
www.ism-cologne.com
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)