ไต้หวันเริ่มเข้าสูงสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอดอย่างเต็มตัวในปี 2025 โดยมีจำนวนประชากรที่มีอายุมากกว่า 65 ปีคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20.1 ของประชากรทั้งหมด และมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเร่งให้เกิดความต้องการในตลาดสินค้า/บริการที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุของไต้หวันเพิ่มสูงขึ้นตามลำดับ ในไต้หวันจึงมีงานแสดงสินค้าที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุอยู่ไม่น้อย เช่น ATLife, Cares Expo เพื่อเป็นแพลตฟอร์มสำหรับให้ผู้ประกอบการในสินค้า/บริการที่เกี่ยวข้องกับการอำนวยความสะดวกและให้ความช่วยเหลือในการใช้ชีวิตประจำวันของเหล่าผู้สูงอายุมาจัดแสดง
งานแสดงสินค้า Assistive Technology for Life (ATLife) 2025 จัดขึ้นโดย Research Center on International Classification of Functioning, Disability and Health and Assistive Technology ของมหาวิทยาลัยหยางหมิงเจียวทง และบริษัท Chan Chao International Co., Ltd. ในปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-13 เมษายน 2568 เป็นการจัดอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 10 แล้ว ถือป็นแพลตฟอร์มที่ใหญ่ที่สุดในไต้หวันในสาขาอุปกรณ์ช่วยเหลือสำหรับการดูแลระยะยาว โดยมีผู้จัดแสดงรวม 222 รายจากไต้หวัน ญี่ปุ่น จีน ไทย มาเลเซีย เวียดนาม เดนมาร์ก ออสเตรเลีย แคนาดาและแอลเบเนีย นำเสนอเทคโนโลยีและนวัตกรรมล่าสุดกว่า 3,000 รายการ ภายใต้แนวคิดหลัก “นวัตกรรมอุปกรณ์ช่วยเหลืออัจฉริยะจากไต้หวัน ก้าวไกลสู่อนาคต” ภายในงาน กระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการสังคมของไต้หวันยังได้ประกาศเปิดตัว “โครงการเช่าอุปกรณ์ช่วยเหลืออัจฉริยะครบวงจร” ที่จะเริ่มดำเนินการในช่วงกลางปี 2569 โดยจะมีการจัดสรรเงินอุดหนุนสูงสุดไม่เกิน 66,000 บาท/คน แก่ประชากรสูงอายุ (อายุมากกว่า 65 ปี) ภายในระยะเวลา 3 ปี ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างกลไกการเชื่อมโยงระหว่างระบบการดูแลระยะยาวและระบบบริการทางการแพทย์ตามนโยบายการดูแลระยะยาว 3.0 ในปีนี้ผู้จัดงานฯ ได้เชิญคณะนักกายภาพบำบัดจากไทยและเวียนดนามรวม 20 คน เดินทางมาเยี่ยมชมงานเพื่อศึกษาตลาดและสินค้าที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ
ทั้งนี้ นโยบายการดูแลระยะยาว 3.0 ของรัฐบาลไต้หวันมีการนำเสนอมาตรการ “เขตการดูแลภายใน 10 นาที” โดยตั้งเป้าหมายให้ผู้สูงอายุ/ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงสถานดูแลหรือโรงพยาบาลได้ภายในระยะเวลาขับรถไม่เกิน 10 นาทีจากทุกครัวเรือน และ “ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายแบบบูรณาการ” โดยมีการจัดเตรียมพื้นที่สำหรับผู้ป่วย/ผู้สูงอายุที่ต้องการรับบริการดูแลระยะยาวให้เสร็จเรียบร้อยก่อนวันที่ผู้ป่วย/ผู้สูงอายุจะออกจากโรงพยาบาล รวมทั้งยังมีการจัดเก็บข้อมูลการรักษาพยาบาลทั้งหมดบนแพลตฟอร์มการจัดการข้อมูลออนไลน์ เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างระบบการแพทย์และระบบดูแลระยะยาวให้สามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว อันจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ อีกทั้งยังช่วยให้ประชาชนที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างการออกจากโรงพยาบาลและการกลับไปใช้ชีวิตที่บ้าน/สถานดูแล สามารถรับบริการฟื้นฟูสภาพร่างกายผ่านทางโรงพยาบาลท้องถิ่นหรือสถานพยาบาลด้านกายภาพบำบัด ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการขาดตอนในการดูแลด้วย
ที่มา: Economic Daily News / Central News Agency / Chan Chao (10-14 April 2025)
ข้อเสนอแนะ/ความคิดเห็นของ สคต.
การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุถือเป็นความท้าทายสำหรับหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะในเอเชียรวมถึงประเทศไทย ที่ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว การพัฒนาสินค้าและบริการที่ตอบสนองความต้องการของคนกลุ่มนี้ จึงถือเป็นโอกาสสำคัญทางธุรกิจ การที่ตลาดไต้หวันถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพสำหรับสินค้าและบริการของไทยที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ ทั้งสินค้าอาหาร สินค้าไลฟ์สไตล์ รวมไปจนถึง Medical Tourism การเข้าร่วมงานแสดงสินค้า ATLife จึงถือเป็นช่องทางที่น่าสนใจไม่น้อยสำหรับผู้ประกอบการไทย โดยนักกายภาพบำบัดจากไทยและเวียดนาม ต่างแสดงความชื่นชมต่อการที่ไต้หวันมีระบบขนส่งสาธารณะที่สามารถอำนวยความสะดวกให้ผู้ที่มีภาวะทุพพลภาพหรือผู้สูงอายุ สามารถเดินทางไปไหนมาไหนในชีวิตประจำวันได้เพียงลำพังอย่างสะดวกสบาย โดยไม่จำเป็นต้องมีคนดูแล รวมถึงการได้เห็นคนกลุ่มนี้ไม่ได้ตีตัวออกห่างจากสังคมและมีกลุ่มมิตรสหายของตัวเอง อีกทั้งยังมีการชักชวนกันมาเลือกซื้อสินค้าสำหรับตัวเองในงานแสดงสินค้าด้วย และยังประทับใจต่อผลิตภัณฑ์ที่นำมาจัดแสดงในงานซึ่งสามารถตอบโจทย์ในการแบ่งเบาภาระของผู้ดูแล เช่น เตียงไฟฟ้าอัจฉริยะ ที่สามารถช่วยพลิกตัวผู้ป่วยติดเตียงโดยอัตโนมัติทุก 2 ชั่วโมง เครื่องฝึกเดินอัจฉริยะ รถเข็นผู้ป่วยที่สามารถขึ้นบันไดได้โดยใช้ผู้ดูแลเข็นเพียงคนเดียว รวมถึงอุปกรณ์พยุงหลังสำหรับช่วยผ่อนแรงในการยกของ เป็นต้น
อ่านข่าวฉบับเต็ม : งานแสดงสินค้าผู้สูงอายุในไต้หวันคึกคัก รองรับสังคมสูงอายุระดับสุดยอด