หน้าแรกTrade insightอุตสาหกรรมอื่นๆ > งานแสดงสินค้านานาชาติด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม (19^ITMA: Textile and Garment Technology Exhibition)

งานแสดงสินค้านานาชาติด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม (19^ITMA: Textile and Garment Technology Exhibition)

งานแสดงสินค้านานาชาติด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม
(19^ITMA: Textile and Garment Technology Exhibition)
1. ภาพรวมของงาน
1.1 งานแสดงสินค้านานาชาติด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม (19^ITMA: Textile and Garment Technology Exhibition) เป็นงานแสดงสินค้าด้านนวัตกรรมสิ่งทอที่ใหญ่ที่สุดในโลก จัดขึ้นทุก 4 ปี เวียนกันจัดขึ้นในประเทศสมาชิกขององค์กร CEMATEX (Le Comité Européen des Constructeurs de Machines Textiles) ที่ประกอบด้วยสมาคมเครื่องจักรสิ่งทอแห่งชาติของยุโรป 9 สมาคม ได้แก่ อิตาลี สเปน สหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ เบลเยี่ยม สวีเดน ฝรั่งเศส เยอรมนี งานในครั้งต่อไปจะจัดขึ้นที่เมืองฮันโนเวอร์ ประเทศเยอรมนี ระหว่างวันที่ 16 – 22 กันยายน 2570 ณ ศูนย์แสดงสินค้า Hannover Exhibition Center
1.2 พื้นที่จัดงานมี 12 อาคาร บนพื้นที่ 200,000 ตารางเมตร อิตาลีในฐานะเจ้าภาพ นำบริษัทอิตาลีเข้าร่วมแสดงสินค้าจำนวน 422 บริษัท มีพื้นที่แสดงงานรวม 35,758 ตารางเมตร คิดเป็น 30% ของพื้นที่งานทั้งหมด


1.3 ผู้เข้าร่วมแสดงสินค้ามีจำนวน 1,709 ราย จาก 47 ประเทศ
1.4 ผู้เข้าชมงาน ประมาณการณ์ว่าจะมีมากกว่า 100,000 ราย
1.5 ประเภทสินค้าที่นำมาแสดงในงานฯ ได้แก่ เครื่องจักรสำหรับอุตสาหกรรมการทอ การถัก การปั่นด้าย การพิมพ์ การย้อมสี การซัก อบ รีด เคมีภัณฑ์ และบริการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เช่น รีไซเคิลและซอฟต์แวร์


2. ผลการเข้าเยี่ยมชม
2.1 ในวันที่ 8 มิถุนายน 2566 สคต.มิลาน เข้าพบผู้ประกอบการไทยบริษัท สว่างเท็กซ์ไทล์ จำกัด ซึ่งการมาออกงานในครั้งนี้ที่ไม่ใช่ครั้งแรก บริษัทได้ติดตามและเข้าร่วมงานแสดงสินค้าดังกล่าวมาหลายครั้งในหลายประเทศที่ไปจัดแสดงมาแล้ว เนื่องจากเป็นงานที่สำคัญที่สุดด้านสิ่งทอ และมีความสำคัญระดับโลก งานในครั้งนี้ได้นำเอาเทคโนโยลีซอฟต์แวร์ในการออกแบบผ้าผืนที่สร้างและคิดค้นขึ้นเองมานำเสนอในงาน จากประสบการณ์การเคยทำธุรกิจโรงงานทอผ้า จึงทำให้รู้ถึงความต้องการของกระบวนการต่างๆในอุตสาหกรรมเป็นอย่างดี และเข้าถึงวิธีการนำเสนอโปรแกรมซอฟต์แวร์ออกแบบผ้าผืนที่ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยแท้จริง เหมาะสำหรับนักออกแบบในการใช้โปรแกรมงานออกแบบสำเร็จรูป ให้ได้แบบผ้าผืนที่ต้องการรวดเร็ว และง่ายต่อผู้ผลิตในการทำความเข้าใจ ดัดแปลงและใช้งานได้ทันที น่าจะเป็นที่สนใจของตลาดยุโรป เนื่องจากมีประสิทธิภาพในการใช้งานที่สะดวก ใช้งานได้จริง รวมถึงราคาที่เข้าถึงได้
2.2 สคต.มิลาน ประชุมร่วมกับตัวแทนจากสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ในวันที่ 12 มิถุนายน 2566 ณ สำนักงาน สคต.มิลาน โดยผู้ที่มาเข้าพบได้แก่ ดร.ชาญชัย สิริเกษมเลิศ (ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ) นายปุณณรัตน์ มณีบุตร (หัวหน้างานวิเคราะห์นโยบายและแผน) และนางสาวสนธิลักษณ์ สุขะสุคนธ์ (ผู้ช่วยผู้จัดการแผนกพัฒนาธุรกิจ) โดยมีจุดประสงค์ในการเดินทางมาเพื่อเยี่ยมชมงานแสดงสินค้าเทคโนโลยีและนวัตกรรมสิ่งทอ (ITMA) ณ เมืองมิลาน และสำรวจตลาดสินค้าผ้าไหม ณ เมืองโคโม่


3. ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของ สคต.มิลาน
3.1 การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19ส่งผลกระทบอย่างมากต่อธุรกิจทั่วโลก ผู้เข้าร่วมแสดงสินค้าและผู้เข้าชมงานต่างก็ใช้ประโยชน์จากงานแสดงสินค้าเทคโนโลยีและนวัตกรรมสิ่งทอ ITMA เพื่อฟื้นฟูธุรกิจและฟื้นฟูองค์กร ด้วยความตระหนักว่างานแสดงสินค้าที่สำคัญที่สุดระดับโลกด้านสิ่งทอเป็นแพลตฟอร์มที่มีคุณค่าสำหรับการแสวงหาโอกาสขับเคลื่อนธุรกิจ การมีส่วนร่วมจึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง และเป็นแหล่งข้อมูลที่ทันสมัยและน่าสนใจเป็นพิเศษ โดยเฉพาะด้านนวัตกรรม (Innovation) เทคโนโลยี (Technology) การออกแบบ (Design) ที่เชื่อมโยงกับเครื่องจักร ที่เป็นส่วนสำคัญอันดับแรกในการผลิตสินค้าคุณภาพ
3.2 การพัฒนาการผลิตทางอุตสาหกรรมจำเป็นต้องมีเครื่องจักรที่มีคุณภาพและเหมาะสมกับงานที่นำไปใช้ การพบนักธุรกิจที่มีแนวทางเดียวกัน จะช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนทักษะหรือต่อยอดไปจนเป็นผู้ร่วมธุรกิจกันได้
3.3 การศึกษานวัตกรรมและความก้าวหน้า จะช่วยให้เข้าใจช่องทางในการนำไปใช้ประโยชน์ เพื่อพัฒนาคุณภาพและสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value-added) ของสินค้าให้สูงขึ้น
3.4 การเชื่อมโยงอุตสาหกรรมสิ่งทอและแฟชั่นกับธุรกิจอื่นๆให้มีความร่วมมือที่เชื่อมต่อกัน พึ่งพากัน และดำเนินงานไปในแนวทางเดียวกันอย่างลงตัว จะทำให้อุตสาหกรรมมีความแข็งแกร่ง ซึ่งอิตาลีเป็นต้นแบบของการเชื่อมโยงที่มีความเหนียวแน่นและครบวงจร จึงทำให้สามารถสร้างความเป็นหนึ่งได้
3.5 หน่วยงานราชการไทยที่เกี่ยวข้องควรหารือกัน และร่วมกันส่งเสริมสนับสนุนอุตสาหกรรมสิ่งทอให้เป็นไปในทางที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการมากที่สุด เช่น กระทรวงอุตสาหกรรมดูแลการผลิต กระทรวงพาณิชย์ดูแลการตลาดและการส่งออก การทำงานต้องเป็นไปในทางที่ส่งเสริมซึ่งกันและกัน
3.6 การเข้าร่วมแสดงสินค้าในช่วง Milan Design Week ก็เป็นสิ่งที่จะช่วยผลักดันสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยในวงกว้าง เพราะอิตาลีมีชื่อเสียงด้านแฟชั้น และเป็นที่นัดพบของนักธุรกิจที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
3.7 โครงการ SME Proactive ก็เป็นโครงการที่ช่วยผลักดันผู้ประกอบการไทยไปออกงานในต่างประเทศ โดย สคต.มิลาน จะเป็นผู้ประสานงานในการดำเนินงานในอิตาลี
3.8 อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มอิตาลีเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ที่มีความพร้อมในทุกด้าน มีสมาคมที่แบ่งแยกสินค้าแฟชั่นทุกหมวดหมู่อย่างชัดเจน จึงเป็นแหล่งข้อมูลที่สำคัญและครบถ้วน สามารถหาประโยชน์จากสมาคมและหน่วยงานมากมายในอิตาลี รวมถึงการหาแนวทางในความร่วมมือ เพื่อช่วยในการเจาะตลาด และนำไปสู่การแลกเปลี่ยนทางการค้า
ทั้งนี้ รายละเอียดทั้งหมด ดูได้ในเอกสารแนบ

ที่มา :

สคต.มิลาน
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login