หน้าแรกTrade insightอุตสาหกรรมอื่นๆ > งานแสดงสินค้าที่มีศักยภาพ: Copenhagen Fashion Week

งานแสดงสินค้าที่มีศักยภาพ: Copenhagen Fashion Week

Copenhagen Fashion Week (CPHFW) เป็นงานแสดงสินค้าและอีเว้นท์กลุ่มอุตสาหกรรมเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม รองเท้า และแฟชั่นที่ใหญ่ที่สุดงานหนึ่งของเดนมาร์ก จัดขึ้นควบคู่กับงานแสดงสินค้า Copenhagen International Fashion Fair ซึ่งงาน CPHFW นี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7 – 11 สิงหาคม 2566 ตามจุดต่างๆ ในกรุงโคเปนเฮเกน เป็นแหล่งศูนย์รวมผู้ซื้อ เอเจ้นท์ ผู้ค้าส่ง ผู้ค้าปลีก ผู้นำเข้า นักออกแบบ ผู้ผลิต สื่อมวลชน และบุคคลในอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งจากในและต่างประเทศ มีแบรนด์ผู้เข้าร่วมจัดงานแสดงสินค้านี้กว่า 31 แบรนด์จาก 5 ประเทศ ได้แก่ เดนมาร์ก สวีเดน ฟินแลนด์ สหราชอาณาจักร และยูเครน

แบรนด์แฟชั่นทั้ง 31 แบรนด์ที่เข้าร่วมงานนี้จัดแสดงสินค้า ณ จุดต่างๆ (physical showcases) ในกรุงโคเปนเฮเกน ควบคู่ไปกับกิจกรรมต่างๆ เช่น การจัดแสดงแฟชั่นโชว์ Talks, Presentation และ activation ซึ่งมีการถ่ายทอดสด (Live) และการบันทึกเทปผ่านช่องทาง YouTube Channel: Copenhagen Fashion Weekลิ้งค์ https://www.youtube.com/@CopenhagenFashionWeek โดยงาน CPHFW เป็นการแสดงผลงานคอลเล็คชั่นฤดูใบไม้ผลิ/ฤดูร้อนปี 2564 (SS24: Spring/Summer 2024) ผู้ที่สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เวปไซต์ https://copenhagenfashionweek.com/

บทวิเคราะห์ผลกระทบต่อไทย ข้อเสนอแนะ โอกาสและแนวทาง และความคิดเห็นของสคต. ณ กรุงโคเปนเฮเกน:
ภายในงาน CPHFW นี้ สคต. ณ กรุงโคเปนเฮเกนเข้าร่วมกิจกรรมเสวนา CPHFW Talk Series – Methods & Materials: Innovation in Fashion เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2566 ณ โชว์รูมรถยนต์ไฟฟ้า Polestar Space กรุงโคเปนเฮเกน โดยมีวิทยากรในวงการแฟชั่นจำนวน 4 รายให้เกียรติมาแลกเปลี่ยนข้อมูล และให้ความรู้เกี่ยวกับการผลิตสินค้าอย่างยั่งยืน ได้แก่ VP & Head of Global Design Innovation บริษัท Levi Strauss & Co., Creative Director บริษัท Marimekko, Sales Manager & Circular Business Manager บริษัท Renewcell และนักเขียนอิสระด้านสินค้าแฟชั่น สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

• อุตสาหกรรมผู้ผลิต และผู้นำเข้าเสื้อผ้าเดนมาร์ก และกลุ่มประเทศนอร์ดิกให้ความสำคัญกับการนำวัสดุที่ย่อยสลายได้ (Biodegradable materials) และวัสดุเหลือใช้ (Waste materials) มาผลิตเสื้อผ้า รวมทั้งมุ่งมั่นพัฒนา และนำนวัตกรรมมาใช้แก้ปัญหาด้านความยั่งยืนให้ได้อย่างแท้จริง และจริงจัง (Innovation solves real problem)
• ตัวอย่างการใช้วัตถุดิบธรรมชาติและยั่งยืน เช่น
1. ความพยายามของบริษัท Marimekko ในการนำวัสดุจากธรรมชาติมาแทนที่สารเคมี เช่น นำสาหร่ายมาเป็นวัสดุทดแทนพลาสติกในเนื้อผ้า
2. การนำสิ่งของเหลือใช้กลับมาใช้ใหม่ เช่น การนำสินค้าในสต็อกที่ไม่สามารถขายได้มาดัดแปลงออกแบบสินค้าใหม่เพื่อจำหน่ายสู่ตลาด
• ประเด็นความท้าทายในด้านความยั่งยืนของอุตสาหกรรมแฟชั่นในปัจจุบัน เช่น ราคา ปริมาณการผลิต (economy of scale) คุณภาพ ช่วงเวลากระบวนการทั้งหมดตั้งแต่การออกแบบ ผลิต และโลจิสติกส์ รวมทั้งห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้องกับการรีไซเคิล และการทำลายหลังการใช้งาน ซึ่งผู้บริโภคตลาดกลุ่มประเทศนอร์ดิกต้องการสินค้าราคาที่เหมาะสม ไม่แพงจนเกินไป ในขณะที่ยังคงต้องการสินค้าที่มีคุณภาพที่ดี และควรจะมีการนำผลิตภัณฑ์ไปรีไซเคิลได้หลังการใช้งานหรือเสื่อมสภาพ หรือมีการระบุวิธีการจัดการที่ถูกต้องโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
• การให้ความรู้ด้านความยั่งยืนแก่ทีมนักออกแบบเป็นส่วนสำคัญในการเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสู่ความยั่งยืน
• อุตสาหกรรมเสื้อผ้าแฟชั่นเดนมาร์กต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายด้านความยั่งยืนจากภาครัฐ (policy change) ซึ่งจะนำมาซึ่งกฎระเบียบข้อบังคับทางกฎหมาย ที่ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมจะต้องปฏิบัติตาม เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติด้านความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login