หน้าแรกTrade insightธุรกิจ Logistics > งานนิทรรศการนานาชาติเส้นทางสายไหม ครั้งที่ 7 ณ นครซีอาน

งานนิทรรศการนานาชาติเส้นทางสายไหม ครั้งที่ 7 ณ นครซีอาน

             เมื่อวันที่ 16 – 20 พฤศจิกายน 2566 นครซีอานจัด “งานนิทรรศการนานาชาติเส้นทางสายไหม ครั้งที่ 7” หรือ “The 7th Silk Road International Expo” โดยตลอดระยะที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมงานดังกล่าวจากประเทศแถบเส้นทางสายไหมกว่า 120 ประเทศ/ภูมิภาค นับเป็นความสำเร็จในการแลกเปลี่ยนและพัฒนาความร่วมมือระหว่างกัน

          มณฑลส่านซีเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางสายไหมโบราณ จึงเป็นพรมแดนของการเปิดประเทศสู่ทางตะวันตกของจีน การจัดงานนิทรรศการนานาชาติเส้นทางสายไหมนับเป็นเวทีในการกระชับความร่วมมือกับองค์กรระดับท้องถิ่นและระดับนานาชาติ ทั้งในด้านการค้าและการลงทุน การพัฒนาอุตสาหกรรม นวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในด้านต่างๆ

          งานดังกล่าวจัดขึ้น ณ ศูนย์การประชุมและนิทรรศการนานาชาติซีอาน บนพื้นที่จำนวน 6 ฮอลล์ ได้แก่ (1) International exchange (2) Regional  cooperation (3) Modern service (4) Modern agriculture  (5) Advanced manufacturing (6) Open platform โดยนิทรรศการเหล่านี้ได้นำเสนอความสำเร็จของการพัฒนาของโครงการ Belt and Road Initiative (BRI) อย่างครอบคลุม แสดงการพัฒนาในการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ ความร่วมมือระดับภูมิภาค การเกษตรสมัยใหม่ การผลิตขั้นสูง และบริการที่ทันสมัย

          นอกจากนี้ ในช่วงการจัดงาน ยังมีการจัดการประชุมและสัมมนาสำคัญๆ มากกว่า 20 งาน โดยหนึ่งในกิจกรรมสำคัญ ได้แก่ งานสัมมนาโต๊ะกลม Round- Table  Conference of Silk Road International Chambers of Commerce ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 จัดโดยหอการค้าระหว่างประเทศของจีน และสภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศแห่งประเทศจีน (มณฑลส่านซี) เพื่อหารือและแลกเปลี่ยนแนวทางและโอกาสในการพัฒนาของโครงการ BRI รวมถึงพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อความมั่นคงและยั่งยืนของนานาประเทศร่วมกัน

            ในปี 2566 ที่ถือเป็นวาระการครบรอบ 10 ปี ของ “การริเริ่มแถบและเส้นทาง” หรือ  BRI โดยตลอดระยะ 10 ปีที่ผ่านมา จีนได้มีความร่วมมือภายใต้นโยบาย BRI กับ 152 ประเทศ และ 30 องค์กรระหว่างประเทศ ช่วยขับเคลื่อนการลงทุนมีมูลค่าเกือบ 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และก่อให้เกิดโครงการความร่วมมือมากถึง 3,000 โครงการ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 – 2564 จีนมีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศกับตามเส้นทาง BRI ถึง 19.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเฉลี่ยอัตราการเติบโตร้อยละ 6.4 ต่อปี

          ภายในงานสัมมนาครั้งนี้ มีตัวแทนจากองค์กร อาทิ หอการค้า สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ศูนย์บริการพาณิชย์ของประเทศต่างๆ อาทิ อุซเบกิสถาน อิหร่าน สิงคโปร์ มาเลเซีย เข้าร่วม โดยมีการหารือและแลกเปลี่ยนแนวทางและโอกาสในการพัฒนาของโครงการ BRI ในภาพรวม ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่าโครงการ  BRI ได้ช่วยขับเคลื่อนโอกาสทางการค้า และเป็นกลไกในการขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศร่วมกัน และทุกประเทศมีความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกันผลักดันให้เกิดความร่วมมือด้านการค้าการลงทุน ความเชื่อมโยง และความสัมพันธ์ที่ดีต่อไปในอนาคต ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและความกินดีอยู่ดีของประชาชนของทุกฝ่าย และบรรลุผลประโยชน์ร่วมกันต่อไป

ข้อมูลเพิ่มเติม/ผลกระทบ/ความเห็นของ สคต. 

          นโยบาย BRI ของจีนมีความสำคัญมากกว่าในแง่ของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม แต่ยังมีความสำคัญในแง่ของการพัฒนากรอบความสัมพันธ์ทวิภาคีที่จีนจะมีกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะกับประเทศกำลังพัฒนา ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โครงการ BRI ทำให้จีนและไทยมีความร่วมมือระหว่างกันและก่อให้เกิดการพัฒนาในหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือด้านการค้าการลงทุน ความเชื่อมโยง ความสัมพันธ์ระดับประชาชน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ

 

          การขนส่งระหว่างจีนและไทย ไม่ว่าจะทางทะเล ทางบก หรือทางอากาศได้รับการพัฒนาอย่างมาก โดยเฉพาะการเปิดให้บริการรถไฟจีน-ลาว ที่ช่วยประหยัดระยะเวลาและต้นทุนการขนส่ง เป็นการเพิ่มช่องทางขนส่งที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การขนส่งสินค้าผลผลิตทางการเกษตรของไทยเข้าสู่ตลาดจีน ซึ่งเป็นตลาดศักยภาพที่สำคัญของสินค้าเกษตรไทย

 

——————————————-

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเฉิงตู

อ่านข่าวฉบับเต็ม : งานนิทรรศการนานาชาติเส้นทางสายไหม ครั้งที่ 7 ณ นครซีอาน

Login