สถานการณ์ราคาค่าครองชีพของผู้บริโภคยังคงสูงขึ้น เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าในเดือนมิถุนายน โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.7 และแม้ว่าอัตราเงินเฟ้อได้ชะลอตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 แต่ราคาผู้บริโภคในเดือนมถุนายนเมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม ยังคงเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3
สำนักงานสถิติเช็ก (ČSÚ) รายงานข้อมูลราคาสินค้า พบว่าสินค้าอาหารหลายรายการมีราคาแพงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน อาทิ ไข่มีราคาสูงขึ้นร้อยละ 28.8 มันฝรั่งราคาสูงขึ้นร้อยละ 28.2 เนยและไขมันพืชอื่น ๆ ราคาสูงขึ้นร้อยละ 17.1 และผลไม้มีราคาสูงขึ้นร้อยละ 15.2 ต้นทุนของน้ำตาลและมันฝรั่งสูงขึ้นร้อยละ 50.3 และร้อยละ 37 ตามลำดับ สำหรับสินค้าในหมวดหมู่อื่น ๆ ราคายังสูงขึ้นมากเช่นเดียวกัน ค่าระบบทำความร้อนและน้ำร้อนสูงขึ้นร้อยละ 40.7 ค่าระบบจัดการน้ำเสียสูงขึ้นร้อยละ 26.9 ค่าไฟฟ้าสูงขึ้นร้อยละ 24.6 ค่าน้ำประปาสูงขึ้นร้อยละ 16.3 และต้นทุนที่อยู่อาศัยสูงขึ้นร้อยละ 6.9
สำหรับการใช้จ่ายในส่วนของการพักผ่อนหย่อนใจหรือสันทนาการ ได้ส่งผลให้ราคาแพ็คเกจท่องเที่ยว เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.4 บริการจัดเลี้ยงในร้านอาหารและโรงแรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.8 และบริการที่พักเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.5 อย่างไรก็ดี สำหรับการขนส่งมีราคาถูกลง เนื่องจากราคาเชื้อเพลิงที่ลดลงส่งผลให้ค่าขนส่งลดลงร้อยละ 25
นายจาโรสลาฟ ซิกต้า รองประธานสำนักงานสถิติเช็กระบุว่า ราคาผู้บริโภคที่ต่ำที่สุดคือในช่วงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2564 อยู่ที่ร้อยละ 6.6 ซึ่งก่อนหน้านี้ตัวเลขราคาผู้บริโภคอยู่ในระดับต่ำกว่าร้อยละ 10 มาตลอดตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2541 ทั้งนี้ ราคาแพ็กเกจท่องเที่ยวในเดือนมิถุนายนปรับเพิ่มขึ้นต่ำกว่าเดือนพฤษภาคมร้อยละ 1.4 การชะลอตัวของราคาดังกล่าวมีปัจจัยหลักจากการปรับเพิ่มราคาที่ชะลอตัวลงในกลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ที่อยู่อาศัย น้ำ ไฟฟ้า ก๊าซ และเชื้อเพลิงอื่น ๆ โดยเดือนมิถุนายนราคาแพ็คเกจวันหยุดเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.7 เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม การเพิ่มขึ้นของราคาไวน์และเบียร์ที่ปรับ
ปรับขึ้นร้อยละ 2.6 และร้อยละ 1.5 ตามลำดับ ส่งผลให้งบการใช้จ่ายในช่วงฤดูร้อนลดลง โดยค่าบริการที่พักเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 ค่าบริการจัดเลี้ยงในร้านอาหารและโรงแรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 แต่ยังมีบางรายการได้แก่ สินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับการบำรุงรักษาครัวเรือนมีราคาปรับลดลงร้อยละ 1.4
อัตราเงินเฟ้อกำลังชะลอตัวลงในกลุ่มสินค้าอาหาร ซึ่งเป็นข่าวดีสำหรับผู้บริโภค และแม้ว่าสินค้าเหล่านี้จะมีราคาสูงกว่าปีที่แล้ว แต่การปรับเพิ่มขึ้นของราคาก็เริ่มลดระดับลง ราคาเนื้อสัตว์ที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบรายปีชะลอตัวลงเหลือร้อยละ 4.7 เทียบกับร้อยละ 8.7 ในเดือนพฤษภาคม ราคาชีสและนมเปรี้ยวปรับขึ้นร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับการปรับขึ้นในเดือนพฤษภาคม ร้อยละ 16.1 ราคาน้ำมันและไขมันลดลงร้อยละ 4.3 ในขณะที่เดือนพฤษภาคมราคาปรับขึ้นร้อยละ 2.0 ซึ่งรวมไปถึงราคาเชื้อเพลิงที่เริ่มชะลอตัวลง โดยก๊าซธรรมชาติปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.8 ในปีนี้ เทียบกับร้อยละ 47.6 ในเดือนพฤษภาคม และเชื้อเพลิงแข็ง (ไม้ ถ่าน เศษไม้) เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.2 เทียบกับร้อยละ 39.4 ในเดือนพฤษภาคม
ข้อเสนอแนะ/โอกาส/แนวทาง
สถานการณ์ราคาผู้บริโภคที่ราคาสินค้ายังคงสูงขึ้น แต่ในอัตราที่เริ่มชะลอตัวลง รวมถึงตัวเลขเงินเฟ้อเริ่มกลับมาอยู่ที่ระดับกว่าร้อยละ 10 และราคาพลังงานที่ปรับลดลง นับเป็นข่าวดีสำหรับตลาดสาธารณรัฐเช็ก อย่างไรก็ดี ในช่วงไตรมาสถัดไป คาดว่าผู้บริโภคจะยังคงชะลอการใช้จ่าย เนื่องจากค่าครองชีพของสินค้าอุปโภค บริโภคหลายรายการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ค่าอาหาร และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับที่พักอาศัยยังคงมีราคาสูง แค่เริ่มลดระดับอัตราการปรับเพิ่มของราคา
สินค้าที่ต้องอาศัยความร่วมมือตลอดห่วงโซ่อุปทานอาจจะช่วยลดต้นทุนการผลิตและการขนส่งของผู้ประกอบการได้ รวมไปถึงการหาแนวทางปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน ปรับปรุงกระบวนการผลิตที่ทำให้การผลิตมีประสิทธิภาพมากขึ้นและใช้ต้นทุนลดลง อาทิ แนวคิดในการประหยัดพลังงาน การจัดการสินค้าคงคลังอย่างมีประสิทธิภาพ หรือการสำรวจแหล่งวัตถุดิบใหม่ ๆ เป็นต้น
ผู้ประกอบการไทยควรติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจของตลาดเป้าหมาย การวางแผนการลดต้นทุนการผลิตและการกำหนดราคาที่เหมาะสมยังคงมีความสำคัญ เนื่องจากปัจจัยราคายังมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภค การศึกษาข้อมูลโดยการสำรวจผลิตภัณฑ์หรือบริการต่างๆ ที่เป็นที่ต้องการของตลาดเพื่อวางแผนการผลิตสินค้าในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังซบเซา โดยใช้เครื่องมือด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ผ่านสื่อ/ช่องทางออนไลน์ จะทำให้สามารถติดตามแนวโน้มความต้องการของตลาดได้รวดเร็วขึ้น
***********************************
expats.cz
ข่าวรายสัปดาห์ 17–21 กรกฎาคม 2566
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)