ตามแผนงานล่าสุดของรัฐบาลคูเวตวางแผนที่จะเปิดตัวเครื่องมือการลงทุนใหม่เพื่อพัฒนาตลาดในประเทศและส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยได้เปิดตัวกองทุนเพื่อการพัฒนา หรือ Ciyada Development Fund : CDF เป็นโครงการสําคัญผ่านความร่วมมือกับภาคเอกชน โดยมีเป้าหมายเพื่อเร่งการเติบโตของเศรษฐกิจคูเวตและปรับปรุงคุณภาพชีวิต เสริมสร้างความก้าวหน้าในด้านการพัฒนาต่างๆ ผ่านการวางแผนเชิงกลยุทธ์และการดำเนินโครงการพัฒนา ขนาดใหญ่อย่างมีประสิทธิผล รวมทั้งดึงดูดการลงทุนใหม่
เครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่เป็นส่วนหนึ่งของกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (sovereign wealth fund หรือ SWF) มูลค่า 700 พันล้านดอลลาห์สหรัฐฯ เป็นเงินออมสำหรับชีวิตหลังยุคน้ำมันหรือที่เรียกว่า Future Generations Fund (FGF) บริหารจัดการโดยองค์การบริหารการลงทุนคูเวต (Kuwait Investment Authority :KIA) เพื่อลงทุน ในต่างประเทศ รวมทั้งเป็นผู้จัดการกองทุนเพื่อการบริหารเงินทุนสำรอง (General Reserve Fund)
กองทุนเพื่อความมั่งคั่งแห่งชาติ หรือ Sovereign Wealth Fund :SWF เป็นกองทุนที่จัดตั้งในกรณีที่ประเทศมีเงินทุนไหลเข้าอย่างต่อเนื่องและยาวนานจนทำให้ทุนสำรองระหว่างประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในระยะยาว เช่น กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน ซึ่งประเทศเหล่านี้มีการเกินดุลเดินสะพัดอยู่เสมอ ทำให้ทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน เช่น ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดีอาระเบียและคูเวต
กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติกองทุนแรกของโลกก่อตั้งโดยคูเวตในปี 2496 มีชื่อเรียกว่า Kuwait Investment Authority โดยนำเงินรายได้จากการค้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของประเทศบางส่วน มาบริหารให้เกิดผลกำไร จะเน้นการลงทุนหลักทรัพย์ต่างประเทศ ไม่เน้นการลงทุนในประเทศ เพราะต้องการควบคุมอัตราเงินเฟ้อในประเทศเป็นสำคัญแต่สำหรับกองทุนเพื่อการพัฒนา หรือ CDF ของคูเวตจะลงทุนร่วมกับเอกชนทั้งในและนอกประเทศ
ทั้งนี้ โครงการ Ciyada จะทํางานร่วมกับภาคเอกชนในประเทศและระหว่างประเทศ รัฐบาลกล่าวว่ากองทุนใหม่จะดําเนินการภายใต้กรอบการกํากับดูแลที่ดีและความโปร่งใสเพื่อความก้าวหน้าและความมั่งคั่ง ซึ่งตรงกันข้ามกับ FGF ซึ่งไม่รายงานผลการปฏิบัติงานของตนต่อสาธารณชน
การศึกษาความเป็นไปได้ของ Ciyada ซึ่งจะมีอำนาจหน้าที่แตกต่างจาก FGF จะเสร็จสิ้นภายในหนึ่งปี และแผนการทำงานรัฐบาลจะเผยแพร่พร้อมกับการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่ทุกครั้ง
เนื่องจากเศรษฐกิจของคูเวตทั้งหมดขึ้นอยู่กับน้ำมันและก๊าซสำรองจำนวนมากของประเทศ การลดลงของราคาน้ำมันดิบทำให้เกิดการขาดดุลในเศรษฐกิจคูเวต อย่างไรก็ตาม KIA ได้จัดทำแผนเจ็ดปีเพื่อรับมือเรื่องนี้ ทำให้แน่ใจว่ามูลค่าของ เงินดีนาร์คูเวต KWD ยังคงแข็งแกร่งและมีเสถียรภาพ การเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ทำให้ราคาเพิ่มขึ้นและสนับสนุนสกุลเงินในประเทศ ในทางตรงกันข้าม การลดลงของอุปสงค์และการเพิ่มขึ้นของอุปทานทำให้ราคาน้ำมันลดลงและส่งผลเสียต่อเงิน KWD
ความเห็นของ สคต.ดูไบ
ตามข้อมูลของสถาบันวิเคราะห์เศรษฐกิจ World Bank Gulf Economic Update (GEU) วิเคราะห์การเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ GCC โดยรวมปี 2566 จะเติบโตได้น้อยลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากรายได้จากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติลดลง รวมทั้งเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว คาดเศรษฐกิจ GCC จะเติบโตที่ร้อยละ 2.5 และขยายตัวเป็นร้อยละ 3.2 ในปี 2567 เมื่อเทียบกับการเติบโตของ GDP ที่โดดเด่นของภูมิภาคที่ร้อยละ 7.3 เมื่อปี 2565 ที่ได้รับแรงหนุนจากการผลิตน้ำมันที่เพิ่มขึ้นอย่างมากเกือบตลอดทั้งปี
ทั้งนี้ ประเทศ GCC ได้ปฏิรูปด้านเศรษฐกิจ ปรับปรุงบรรยากาศทางธุรกิจความสามารถในการแข่งขัน และการปรับปรุงในการมีส่วนร่วมของแรงงานหญิงในประเทศ และคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของคูเวตปีนี้จะชะลอตัวลงเหลือร้อยละ 1.3 จากนโยบายลดปริมาณผลิตน้ำมันเพื่อตอบสนองแนวทางการผลิตของ OPEC+ ที่ได้มีมติปรับลดกำลังการผลิตรวม 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปี 2565 ถึงสิ้นปี 2566 เพื่อผลักดันราคาน้ำมันให้อยู่ในระดับสูงต่อไป และจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา
คาดว่าภาคน้ำมันปีนี้จะหดตัวร้อยละ 2.2 แม้ว่าคูเวตจะมีโรงกลั่นน้ำมัน Al Zour ที่สร้างใหม่เสร็จสิ้น ในขณะที่ภาคที่ไม่ใช่น้ำมันของคูเวตคาดว่าจะเติบโตร้อยละ 4.4 โดยได้รับแรงหนุนจากการบริโภคภาคเอกชนเป็นหลัก ในขณะที่ความไม่แน่นอนของนโยบายที่เกิดจากการชะงักงันทางการเมือง คาดว่าจะบ่อนทําลายการดําเนินโครงการโครงสร้างพื้นฐานใหม่
การค้าระหว่างไทยกับคูเวตล่าสุดเดือน ม.ค.-ส.ค. 2566 มีการค้าขายระหว่างกันมูลค่ารวม 1,118.1 ล้านดอลลาห์สหรัฐฯ (-23.8%) แบ่งออกเป็น
– ภาคการส่งออกสินค้า เช่น รถยนต์ ผลิตภัณฑ์ไม้ ปลากระป๋อง น้ำตาลทราย และเครื่องประดับอัญมณี ฯลฯ มูลค่ารวม 226.3 ล้านดอลลาห์สหรัฐฯ (+19.6%)
– ภาคการนำเข้าสินค้า มูลค่า 891.8 ล้านดอลลาห์สหรัฐฯ (-34.8%) สินค้าร้อยละ 99 คือ น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ และ เคมีภัณฑ์
——————————————————
ที่มา :
Bloomberg
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)