หน้าแรกTrade insightการค้าระหว่างประเทศ > คาดการณ์มูลค่า E-Commerce ของเปรูสูงถึง 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปี 2023

คาดการณ์มูลค่า E-Commerce ของเปรูสูงถึง 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปี 2023

หอการค้าลิมา (Lima Chamber of Commerce: CCL) คาดการณ์การซื้อขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ หรือพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Commerce: E-Commerce) ของเปรูปี 2566 นี้จะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกับของปีก่อนหน้า คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 16 หรือมีมูลค่าประมาณ 23,000 ล้านเหรียญสหรัฐ  ทั้งนี้ E-Commerce ในเปรูมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องตั้งแต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัส (โควิด-19) และปัจจุบัน ผู้บริโภคชาวเปรูจำนวนกว่า 14 ล้านคน จากจำนวนประชากรทั้งหมด 34 ล้านคน นิยมซื้อสินค้าทาง E-Commerce ทั้งนี้ หอการค้าลิมาได้จัดกิจกรรมลดราคาสินค้าครั้งใหญ่สำหรับผู้ซื้อสินค้าทางออนไลน์หรือ Cyber Days เพื่อส่งเสริมการขยายตัวของ E-Commerce และการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลภายในประเทศ เมื่อวันที่ 27 – 30 มีนาคม 2566 โดยกิจกรรมดังกล่าวได้จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 31 แล้ว ทั้งนี้ ผู้บริโภคชาวเปรูให้การตอบรับต่อการจัดกิจกรรมการซื้อขายสินค้าทางออนไลน์อย่างดี หอการค้าลิมาจึงได้จัดกิจกรรมต่อเนื่องภายใต้  “Cyber Wow Days” ซึ่งมีแผนจะจัดขึ้นในปีนี้จำนวน 3 ครั้ง โดยเริ่มกิจกรรมครั้งแรกเมื่อวันที่ 17-21 เมษายน 2566  (www.cyberwow.pe)

พฤติกรรมการซื้อสินค้าของชาวเปรู

          จากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของ E-Commerce ในเปรู ทำให้สมาคมการค้าต่าง ๆ ทำการศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้บริโภค และพบว่าความถี่ในการซื้อสินค้าทางออนไลน์ของชาวเปรูมีความแตกต่างกัน โดยร้อยละ 18.90 ของผู้บริโภคทั้งหมดมีการซื้อสินค้าทางออนไลน์เป็นรายสัปดาห์ ร้อยละ 20.40 ซื้อสินค้าราย 2 สัปดาห์ ร้อยละ 36.20 ซื้อสินค้าเป็นรายเดือน และร้อยละ 14.50 ซื้อสินค้าเป็นราย 2 เดือน ทั้งนี้ ผู้บริโภคคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 75 ของผู้บริโภคทั้งหมดที่ซื้อสินค้าทางออนไลน์ มีการซื้อสินค้าอย่างน้อยเดือนละครั้ง และผู้บริโภคกว่าร้อยละ 37 ซื้อสินค้ามีมูลค่าเกินกว่า 265 เหรียญสหรัฐ ต่อเดือน

ประเภทของสินค้า

จากข้อมูลของ Falabella ซึ่งเป็นห้างสรรพสินค้าชั้นนำของภูมิภาคลาตินอเมริกา ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการซื้อขายทาง E-Commerce พบว่า สินค้าที่ผู้บริโภคนิยมซื้อทางออนไลน์ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 ได้แก่ สินค้าในหมวดแฟชั่น  สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ สินค้าเครื่องใช้ภายในบ้าน  และรองเท้า รวมถึง สินค้าในหมวดวัสดุก่อสร้างและการซ่อมบ้าน เครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ ทั้งนี้ ในส่วนของเครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าเกี่ยวกับเครื่องทำความเย็น ได้แก่ ตู้เย็น และเครื่องปรับอากาศมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 50 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนมากขึ้นของเปรู นอกจากนี้ ในกลุ่มของสินค้าที่ได้รับความนิยมตามฤดูกาล เช่น อุปกรณ์การเรียนและเครื่องเขียน มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นในช่วงก่อนการเปิดภาคการศึกษา (เปิดเทอมในเดือนมีนาคม) และสินค้าแฟชั่นที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น จะเป็นสินค้าประเภทชุดกีฬา มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 30 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เนื่องจากชาวเปรูนิยมเล่นกีฬาในช่วงฤดูร้อน[1] ทั้งนี้ Falabella คาดการณ์ว่า E-Commerce ในเปรู ช่วงครึ่งหลังของปี 2566 นี้ จะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20-30[2]

บทวิเคราะห์ / ความเห็นของ สคต.

          เปรูเป็นประเทศหนึ่งที่มีพัฒนาการด้าน E-Commerce มากที่สุดประเทศหนึ่งในภูมิภาคลาตินอเมริกา โดยค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อหัวต่อปีในการซื้อสินค้าผ่านช่องทาง E-Commerce ของชาวเปรู มีมูลค่าประมาณ 594 เหรียญสหรัฐ และ E-Commerce ในเปรู คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13 ของการบริโภคของภาคเอกชน โดยมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 91 ตั้งแต่ปี 2563[3] นอกจากนี้ การค้าปลีกทางช่องทางออนไลน์ของเปรูมีสัดส่วนร้อยละ 18 ของการค้าปลีกทั้งหมด ซึ่งถือว่ามีสัดส่วนที่มากกว่าเม็กซิโก (ร้อยละ 11) และบราซิล (ร้อยละ 17)[4]

การใช้ E-Commerce เป็นเครื่องมือในการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้า ถือเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับภาคธุรกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และการที่ผู้บริโภคชาวเปรูให้ความนิยมซื้อสินค้าทาง  E-Commerce จึงเป็นโอกาสให้กับผู้ประกอบการไทยด้วย ปัจจุบัน ผู้ประกอบการหรือผู้นำเข้าของเปรูให้ความสนใจสินค้าไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าดังต่อไปนี้

สินค้าในกลุ่มวัสดุและอุปกรณ์ก่อสร้าง  สินค้าและอุปกรณ์สำหรับการปรับปรุงบ้าน  เช่น กระเบื้องเซรามิกสำหรับปูพื้น และปูผนัง ซึ่งมีการขยายตัวของความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ชาวเปรูยังให้ความนิยมสินค้าจากวัสดุธรรมชาติสำหรับเฟอร์นิเจอร์และในการตกแต่งบ้าน เช่น หวาย ไม้สัก ผ้าไหมที่มีการออกแบบลวดลาย เป็นต้น

สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าจากประเทศไทยได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง อาทิ ตู้เย็น และเครื่องปรับอากาศ เนื่องจากประเทศเปรูมีภูมิอากาศร้อนชื้น สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าจากประเทศไทยได้รับการยอมรับด้านมาตรฐาน คุณภาพ และมีประสิทธิภาพในการช่วยประหยัดพลังงาน โดยในช่วงเปลี่ยนฤดูกาลเป็นช่วงฤดูหนาว สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้น เช่น เครื่องซักผ้า เครื่องอบแห้ง เครื่อง/อุปกรณ์ทำความร้อน  เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก (กาต้มน้ำไฟฟ้า เครื่องชงกาแฟ เครื่องทำแซนวิช และเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาหารและเครื่องดื่ม) ทั้งนี้ สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ตลาดมีความต้องการตลอดปี ได้แก่ หม้อหุงข้าวไฟฟ้า ซึ่งหม้อหุงข้าวไฟฟ้าจากประเทศไทยได้รับความนิยมอย่างมากจากผู้บริโภคชาวเปรู เนื่องจากสินค้ามีคุณภาพ และทนทาน โดยข้าวเป็นอาหารหลักของชาวเปรู และชาวเปรูมีการบริโภคข้าวเฉลี่ย 61 กิโลกรัมต่อคนต่อปี

สินค้าอาหารสัตว์เลี้ยง และอุปกรณ์ เช่น ของเล่น อุปกรณ์ตัดและตกแต่งขน

สินค้าแฟชั่นในกลุ่มกีฬา เช่น  ชุดกีฬา อุปกรณ์  และรองเท้า

สินค้าอุปกรณ์การเรียน เช่น สมุดโน๊ต อุปกรณ์สำหรับการเขียนและระบายสี  อุปกรณ์สำหรับวางบนโต๊ะเรียน / โต๊ะทำงาน เป็นต้น

ทั้งนี้ แม้ว่าผู้ประกอบการไทยจะสามารถใช้โอกาสจากความนิยมของ E-Commerce ในเปรู แต่ขณะเดียวกันผู้ประกอบการจากทั่วโลกสามารถใช้ E-Commerce เป็นเครื่องมือช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันเช่นเดียวกับผู้ประกอบการไทย ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรมีการจัดทำกลยุทธ์ในการขายสินค้า มีการพัฒนาและออกแบบสินค้า และสามารถแข่งขันด้านราคา

______________________________

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงซันติอาโก

พฤษภาคม 2566

[1]  * Summer time starts in December and ends in March

[2] Latin America Retail online news – https://www.america-retail.com/peru/electrodomesticos-crecio-busqueda-de-productos-de-refrigeracion-y-climatizacion/

[3] Americas Market Intelligence, 2022

[4] https://americasmi.com/insights/peru-ecommerce-market-data/

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login