หน้าแรกTrade insightธุรกิจ Wellness > คาดการณ์ผลิตภัณฑ์ Skincare สำหรับผู้ชายมาแรงในปี 2024

คาดการณ์ผลิตภัณฑ์ Skincare สำหรับผู้ชายมาแรงในปี 2024

เนื้อหาสาระข่าว: Inside Hook สำนักวิเคราะห์ชั้นนำด้านธุรกิจแฟชั่น ได้เผยถึงแนวโน้มทางสังคมที่อาจส่งผล หรือมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตผู้ชายชาวอเมริกันในปี 2024 ซึ่งได้มาจากการสืบค้นข้อมูลเชิงลึกด้านพฤติกรรมผู้ชายชาวอเมริกันตลอดทั้งปีในด้านต่าง ๆ เช่น รสนิยม ไลฟ์สไตล์ และการใช้ชีวิต นำมาสู่การรวบรวมข้อมูลปัจจัยและแนวโน้มทางสังคมที่อาจส่งผลต่อวิธีชีวิต และการใช้ชีวิตของผู้ชายชาวอเมริกัน ซึ่งมีทั้งหมด 20 ปัจจัย เช่น ความนิยมในการรับประทานอาหารแบบเปิดประสบการณ์ใหม่ (Experiential Dining) จะเป็นที่นิยมสูงขึ้น ผลกระทบจากการรณรงค์ต่อต้านเกี่ยวกับ Climate Change ความนิยมการใช้แอพหาคู่ที่ต่ำลง การเสพภาพยนตร์แนว Superhero จะลดน้อยลง การขยายตัวของอาหาร Plant-based และอื่น ๆ

หนึ่งในหลายปัจจัยที่ปรากฎในบทวิเคราะห์นั้น กล่าวถึงพฤติกรรมด้านการแต่งตัว แฟชั่น และการดูแลตัวเองที่จะเปลี่ยนไป ซึ่งระบุว่าผู้ชายชาวอเมริกันจะให้ความใส่ใจกับเสื้อผ้าที่ใส่น้อยลง แต่จะเพิ่มความใส่ใจกับการดูแลผม การดูแลผิว เสริมความดูดี (Focus less on the clothes you wear and more on hair, skincare and beauty) โดยเชื่อมโยงถึงเหตุผลของการเติบโตและขยายตัวของธุรกิจด้านความงามและน้ำหอมในด้านแฟชั่น ซึ่งนับรวมถึงธุรกิจเครื่องสำอางค์รายใหญ่เช่นกัน แม้จะดูเหมือนว่าตลาดสินค้ากลุ่มนี้จะดูอิ่มตัวแล้ว แต่ทว่าจากการสำรวจข้อมูลพบว่า กลุ่มสินค้าบำรุงผิว บำรุงเส้นผม และเสริมความหล่อสำหรับผู้ชายนั้นเติบโตอย่างรวดเร็วไม่แพ้กัน ทั้งยังพบว่ากลุ่มผู้บริโภคที่เข้าใจและสามารถใช้สินค้าก็กำลังขยายฐานตามด้วยอีกเช่นกัน ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่าในปีหน้า กลุ่มสินค้าดังกล่าวอาจเติบโตได้มากถึงสองหลักเลยทีเดียว

บทวิเคราะห์และข้อเสนอแนะ: ปัจจุบันในสหรัฐฯ มีกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวกับคุณภาพและมาตรฐานของสินค้ากลุ่มเครื่องสำอางค์ค่อนข้างเข้มข้น โดยข้อมูลเกี่ยวกับกฎระเบียบ และมาตรฐานของกลุ่มสินค้าเครื่องสำอางค์ที่ผู้ประกอบการไทยควรทำความเข้าใจก่อนการส่งออกสินค้ามายังสหรัฐฯ ที่สำคัญ ประกอบด้วย

พรบ.ว่าด้วยกฎระเบียบเครื่องสำอางค์ที่ทันสมัย 2022 (Modernization of Cosmetics Regulation Act of 2022) ประธานาธิบดีไบเดนได้ลงนามและมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2022 หรือประมาณเกือบหนึ่งปีที่ผ่านมา โดยพรบ.ดังกล่าวมีใจความสำคัญพูดถึงการให้อำนาจองค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ (Food and Drug Administration: FDA) ในการควบคุมและตรวจสอบมาตรฐานและคุณภาพสินค้าเครื่องสำอางค์ ถือได้ว่าเป็นกฎหมายควบคุมความปลอดภัยสินค้าเครื่องสำอางค์ในระดับประเทศ โดย FDA จะมีอำนาจควบคุม ดังนี้

การตรวจสอบผลข้างเคียง/อาการที่ไม่พึ่งประสงค์จากการใช้สินค้า (Adverse Events) กำหนดให้บริษัทผู้ผลิตจะต้องรายงานผลข้างเคียง/อาการที่ไม่พึ่งประสงค์จากการใช้สินค้าภายใน 15 วันหลังทราบ

การเรียกเก็บสินค้า (Recall Authority) FDA สามารถสั่งเก็บสินค้าเครื่องสำอางค์ได้ หากพบว่าสินค้านั้นมีผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภค

การลงทะเบียนสถานประกอบการ (Register Facilities and Consumer Products) สถานประกอบการเครื่องสำอางค์ในสหรัฐ ซึ่งรวมถึงผู้นำเข้าสินค้าที่นำเข้ามาด้วยนั้น จะต้องลงทะเบียนรายละเอียดเกี่ยวกับสถานที่ผลิต และประกอบการโดยละเอียด ตามช่องทาง Cosmetics Direct ของ FDA

หลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิต (Good Manufacturing Practice) FDA จะเป็นผู้กำหนดมาตรฐานทางสุขอนามัยของสถานที่ผลิตสินค้า โดยมุ่งเน้นการควบคุมคุณภาพ และมาตรฐานทางสาธารณสุขในกระบวนการผลิตไม่ให้มีสารปนเปื้อน ซึ่ง FDA จะตรวจสอบอย่างละเอียด

การปรับปรุงฉลากสินค้า (Improved Labels) กำหนดให้ฉลากสินค้าเครื่องสำอางค์จะต้องระบุข้อมูลติดต่อของสถานประกอบการเพื่อใช้ในการแจ้งในกรณีเกิดอาการไม่พึงประสงค์หลังใช้สินค้า นอกจากนี้จะต้องระบุข้อมูลเกี่ยวกับอาการแพ้ หรือระคายเคืองที่อาจเกิดขึ้นจากสารส่วนผสมในเครื่องสำอางค์

การควบคุมการปนเปื้อนของสาร Polyfluoroalkyl Substances (PFAS) สาร PFAS ซึ่งเป็นสารเคมีที่สามารถส่งผลเสียต่อสุขภาพในหลายด้าน เช่น ระบบภูมิคุ้มกัน ความดันโลหิต ภาวะเจริญพันธุ์ ต่อมไทรอยด์ จนถึงสามารถก่อมะเร็งได้นั้น หากพบว่าเป็นส่วนผสมในสินค้าเครื่องสำอางค์ จะต้องถูกตรวจสอบโดย FDA และศูนย์พิษวิทยาศึกษาแห่งชาติของสหรัฐฯ (National Center for Toxicological Research)

ทั้งหมดที่กล่าวมาในข้างต้นนั้นเป็นเพียงกฎหมายในระดับประเทศที่ไม่ได้กล่าวถึงการกักหรือยึดสินค้าเครื่องสำอางค์ที่ตรวจพบว่ามีสารเจือปนหรือไม่ได้มาตรฐาน ทว่ายังมีกฎหมายในระดับรัฐที่ได้ออกกฎหมายควบคุมปริมาณของสารเคมีต่าง ๆ ที่เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางค์ ประกอบด้วย 1,4-ไดออกเซน (1,4-Dioxane), แคดเมียม (Cadmium), สารเจือปนสี (Color Additives), ฟอร์มาลดีไฮด์ (Formaldehyde), สารปรอท (Mercury), สารพาราเบน (Parabens), สาร PFAS, สารทาเลท (Phthalate), เมทานอล (Methanol), เมทิลเมทาคริเลต (Methyl Methacrylate) ซึ่งสารทั้งหมดที่ได้กล่าวมานั้นถูกกฎหมายควบคุมปริมาณ – สั่งห้ามใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางค์ ทั้งนี้ ระดับความเข้มข้นในการควบคุมแตกต่างกันไปตามชนิดของสารเคมี ใน 20 รัฐ ประกอบด้วย แคลิฟอเนีย โคโลราโด ฟลอริดา ฮาวาย อิลลินอย ไอโอวา แมรีแลนด์ มินเนโซตา มอนทานา มิซซิซิปปี เนวาดา นิวเจอร์ซีย์ นิวเม็กซิโก นิวยอร์ก โอไฮโอ โอเรกอน เวอร์มอนต์ เวอร์จิเนีย วอชิงตัน และวิซคอนซิน

ผู้ประกอบการธุรกิจสินค้าเครื่องสำอางค์ ผลิตภัณฑ์บำรุงสุขภาพผิว และเสริมความหล่อท่านชาย ที่สนใจจะส่งออกสินค้ามายังสหรัฐฯ ควรทำความเข้าใจกฎระเบียบ และข้อกำหนดเกี่ยวกับมาตรฐานสินค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารเคมีเจือปนที่อาจเป็นส่วนผสมซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับในสหรัฐฯ ทั้งยังควรปรับปรุงข้อมูลของฉลากสินค้าให้มีรายละเอียดครอบคลุมตามระเบียบ เพื่อประโยชน์ทางการค้าในตลาดสหรัฐฯ ต่อไป

ที่มา: InsideHook
เรื่อง: “20 Trends That Will Define the Lives of American Men in 2024”
โดย: Alex Lauer
สคต. ไมอามี /วันที่ 27 ธันวาคม 2566

อ่านข่าวฉบับเต็ม : คาดการณ์ผลิตภัณฑ์ Skincare สำหรับผู้ชายมาแรงในปี 2024

Login