ตามรายงาน The 2022 Emerging Market Logistics Index ซึ่งเผยแพร่โดยบริษัท Agility ผู้ให้บริการโลจิสติกส์และการขนส่งสินค้า ปรากฎว่า เวียดนามอยู่อันดับที่ 11 ในกลุ่มตลาดโลจิสติกส์เกิดใหม่ 50 แห่งทั่วโลก
โลจิสติกส์เป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตรวดเร็วและมั่นคงที่สุดในเวียดนาม โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 14-16 ต่อปี รวมมูลค่า 40-42 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี เนื่องจากเสถียรภาพทางการเมือง และภูมิศาสตร์ที่เอื้ออำนวย ทำให้เวียดนามได้ประโยชน์จากห่วงโซ่อุปทาน นอกจากนี้ เวียดนามยังได้ใช้ประโยชน์จากแนวชายฝั่งทะเลที่ยาวอีก
การเติบโตที่เข้มแข็งของอีคอมเมิร์ซทั้งด้านการส่งออกและการบริโภคภายในประเทศ ทำให้เวียดนามยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน และกลายเป็นศูนย์กลางของการขนส่งสินค้าของโลก ซึ่งเป็นจุดเชื่อมโยงในห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก โดยเฉพาะ อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ของเวียดนามมีความก้าวหน้าอย่างมาก จํานวนธุรกิจและคุณภาพของบริการโลจิสติกส์เพิ่มขึ้น ส่งผลให้สินค้านําเข้าและส่งออกในปี 2565 อยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 732.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.5 เมื่อเทียบกับปี 2564 เวียดนามได้รับการพยาการณ์ว่า จะเป็น “ดาวเด่นด้านโลจิสติกส์” ของเอเชียจากข้อได้เปรียบดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ของเวียดนามยังคงมีจุดอ่อนหลายประการ เช่น ต้นทุนโลจิสติกส์ที่สูง การขาดการเชื่อมโยงระหว่างผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์กับผู้ประกอบการด้านการผลิต การค้า และการนําเข้า-ส่งออก ขนาดและศักยภาพทางการเงินของบริษัทมีจํากัด
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ยังต้องพัฒนาการเชื่อมต่อโครงสร้างพื้นฐาน
และการขยายความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเป็นศูนย์โลจิสติกส์และเซัพพลายเชนที่ครอบคลุมสําหรับการแปรรูป การจัดเก็บ การขนส่ง และการจัดจำหน่ายสินค้า
ด้วยความท้าทายเหล่านี้ งานแสดงสินค้าโลจิสติกส์นานาชาติเวียดนาม 2566 (VILOG 2023) ซึ่งมีกําหนดจัดขึ้นในเดือนสิงหาคม 2566 จะเป็นโอกาสที่ดีสําหรับชุมชนธุรกิจโลจิสติกส์และสาขาที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมความร่วมมือ และเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการโลจิสติกส์
จัดทำโดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโฮจิมินห์
วิเคราะห์ผลกระทบ
จากการจัดอันดับประจำปีของบริษัท Agility ในปี 2566 เวียดนามเป็นหนึ่งในกลุ่มตลาด
โลจิสติกส์เกิดใหม่ของโลก และอยู่ในอันดับที่ 4 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดัชนีการจัดอันดับของบริษัท Agility พิจารณาจากเกณฑ์สี่ประการ ได้แก่ โอกาสด้านโลจิสติกส์ภายในประเทศ โอกาสด้านโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ ดัชนีความพร้อมด้านเทคโนโลยี และหลักการทำธุรกิจ นอกจากนี้ ตามรายงานของบริษัท Savills Vietnam โลจิสติกส์ในเวียดนามกำลังพัฒนาอย่างมาก เนื่องจากการเติบโตของอีคอมเมิร์ซ ส่งผลให้ความต้องการพัฒนาสาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้องรองรับภาคโลจิสติกส์เพิ่มขึ้นอย่างมาก เช่น คลังสินค้า และห้องเย็น เป็นต้น
นำเสนอโอกาส/แนวทาง
แนวโน้มธุรกิจโลจิสติกส์ของเวียดนามที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้มีความต้องการพัฒนาระบบห่วงโซ่ของธุรกิจมากขึ้น ทั้งในด้านการลงทุนสาธารณูปโภคพื้นฐานให้ครอบคลุม เช่น ถนน และท่าเรือ เพื่อต่อเชื่อมระบบโครงข่ายโลจิสติกส์ภายในประเทศ และเชื่อมต่อกับต่างประเทศ นอกจากนี้ เวียดนามมีความต้องการการลงทุนใน Support Industry อาทิ คลังสินค้าและห้องเย็น รวมถึงเทคโนโลยีและองค์ความรู้ด้านการจัดการระบบโลจิสติกส์คลังสินค้า ซึ่งเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในการร่วมลงทุนในอุตสาหกรรมคลังสินค้าและการส่งออกเทคโนโลยีรวมทั้งอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องมาในเวียดนาม
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)