หน้าแรกTrade insightการค้าระหว่างประเทศ > คาดกันว่า อนาคตเยอรมันน่าจะส่งสินค้าไปขายที่จีนลดลง

คาดกันว่า อนาคตเยอรมันน่าจะส่งสินค้าไปขายที่จีนลดลง

Zero Covid
Zero Covid

การจีนได้ประกาศสิ้นสุดนโยบาย Zero Covid ไปเมื่อในเดือนธันวาคม 2022 นับเป็นข่าวดีแก่ทุกฝ่ายโดยเฉพาะผู้ส่งออกชาวเยอรมัน โดยผู้คนส่วนใหญ่หวังว่า ภายหลังจากที่จีนกลับมาดำเนินธุรกิจอย่างปกติแล้ว สถานการณ์ต่าง ๆ จะกลับมาดีขึ้นเหมือนช่วงก่อนโควิด แต่แล้วผู้ประกอบการหรือผู้ส่งออกชาวเยอรมันก็อาจไม่โชคดีเหมือนกับที่เคยหวังไว้ เพราะยังมีอีกหนึ่งปัญหาที่ยังคงคาราคาซัง นั่นก็คือ สงครามรัสเซีย – ยูเครน จากข้อมูลของสำนักงานสถิติประจำประเทศเยอรมนี (Statistisches Bundesamt) เปิดเผยว่า ยอดการส่งออกของเยอรมันไปจีนในช่วงเดือนมกราคม – เมษายน 2023 อยู่ที่ประมาณ 32.5 พันล้านยูโรเท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าช่วงเวลาเดียวกันปีก่อนหน้าถึง 10% และหากเทียบกับยอดการส่งออกในช่วง 4 เดือนก่อนหน้า พบว่า ลดลง 5.4% โดยยอดการส่งออกที่ลดลงนี้ทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเยอรมนีแย่กว่าที่หลาย ๆ ฝ่ายคาดการณ์ไว้ ด้านนาย Klaus-Jürgen Gern ผู้อำนายการด้านการประเมินสภาวะเศรษฐกิจของสถาบันเศรษฐกิจโลก (Ifw – Institut für Weltwirtschaft) กล่าวว่า “การส่งออกเฉพาะที่ส่งไปจีนในช่วงเดือนที่ผ่านมาขยายตัวได้แย่มาก และเมื่อพิจารณายอดการส่งออกรวมก็ชะลอตัวเช่นกัน” จึงทำให้ช่วงฤดูหนาวที่ผ่านมาเศรษฐกิจของเยอรมนีตกอยู่ในภาวะถดถอย ซึ่งหดตัวต่อเนื่องใน 2 ไตรมาส สำหรับสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการหดตัวทางเศรษฐกิจมาจากการบริโภคภาคครัวเรือนลดลงเนื่องด้วยอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น อย่างไรก็ดี ยังถือว่าโชคดีที่ภาคอุตสาหกรรมของประเทศยังสามารถขยายตัวได้บ้าง อย่างไรก็ดี การที่ภาวะเงินเฟ้อในประเทศเริ่มลงลงบ้างก็นับเป็นสัญญาณบวก ที่ทำให้เห็นว่า เศรษฐกิจของประเทศจะเริ่มกลับมาขยายตัวได้อีกครั้ง

ในปี 2020 เยอรมนีเคยประสบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือไม่ คำตอบก็คือ ตอนนั้นเศรษฐกิจของเยอรมนียังกินบุญเก่า ไม่ประสบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่พอถึงตอนนี้ ที่ตลาดจีนเริ่มประสบปัญหา เนื่องจากความต้องการสินค้าในจีนเริ่มหดตัว ทำให้สินค้าในกลุ่ม Intermediate Goods ที่เยอรมนีเคยส่งออกไปจีนต้องประสบปัญหาเพราะยอดคำสั่งซื้อลดลง โดยในเดือนพฤษภาคม 2023 ยอดการสั่งซื้อสินค้าจากประเทศนอกกลุ่มประเทศที่ใช้เงินยูโร (Euro Zone) สหรัฐอเมริกา และจีนลดลง 1.1% ล่าสุดกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ได้ออกมาคาดการณ์ว่า “เศรษฐกิจของเยอรมนีปี 2023 น่าจะขยายตัวขึ้นเพียงเล็กน้อย ค่าประเมินของ Ifw อยู่ที่ 0.5% แต่พอดูปริมาณการส่งออกล่าสุดแล้ว ก็น่าจะยากที่เศรษฐกิจของประเทศจะสามารถขยายตัวได้ ซึ่งเป็นไปได้นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันต่าง ๆ จะลดค่าประเมินลงไปอีก และจากข้อมูลขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ได้เปิดเผยตัวเลขคาดการณ์ออกมาว่า ในปี 2023 เศรษฐกิจของเยอรมนีน่าจะชะลอตัว (Stagnation)

ความหวังที่ยอดการส่งออกอาจปรับตัวเพิ่มขึ้น ถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีอะไรแน่นอน เป็นเพียงแค่ความหวังลม ๆ แล้ง ๆ ซึ่งเป็นไปได้ว่า การส่งออกไปจีนอาจจะเพิ่มขึ้นแล้วจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวได้ ซึ่งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ศุลกากรของจีนได้เปิดเผย ตัวเลขการนำเข้าสินค้าจากเยอรมนี ในเดือนพฤษภาคม 2023 ว่า ยอดนำเข้าสินค้าจากเยอรมนีของจีน (ยอดเป็นเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ) ขยายตัวขึ้นเกือบ 7% เทียบกับเดือนก่อนหน้า ในขณะที่ จากข้อมูลของสำนักงานสถิติประจำประเทศเยอรมนี เปิดเผยว่า ยอดการส่งออกไปจีนของเยอรมนี ในเดือนเมษายน 2023 ขยายตัวขึ้น 10.1% เทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยสำนักงานสถิติฯ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การคำนวณที่แตกต่างกัน ทำให้ตัวเลขไม่เท่ากับที่จีนคำนวณได้มา อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการส่งออกของเยอรมนีไปจีนที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นนี้ นับเป็นส้ญญาณที่ดีที่จะสามารถทำให้ยอดการส่งออกของเยอรมนีขยายตัวขึ้นได้ ด้านนาง  Geraldine Dany-Knedlik ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการวิจัยทางเศรษฐกิจเยอรมนี (DIW – Deutscher Institut für Wirtschaftsforschung) กล่าวว่า “ตัวเลขการค้าต่างประเทศล่าสุดของเยอรมนีสะท้อนให้เห็นว่า มีความเป็นไปได้ที่ในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ เศรษฐกิจของเยอรมันอาจจะกลับมาแซงหน้าไตรมาสแรกได้” ซึ่งสาเหตุสำคัญก็เพราะการส่งออกที่เคยได้รับผลกระทบจากนโยบาย Zero Covid ของจีน เริ่มกลับมาส่งออกได้อีกครั้ง อย่างไรก็ดี แม้สถานการณ์การส่งออกจะกลับมาดีขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเยอรมนีจะรอดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย

ปัจจัยเสี่ยงทั้งจากภายในและภายนอก ขณะนี้เศรษฐกิจจีนยังไม่มั่นคงทำให้เกิดปัญหากับเยอรมนีบ้างไม่มากก็น้อย สำหรับสาเหตุสำคัญที่เศรษฐกิจจีนยังไม่มั่นคง ได้แก่ (1) จีนฟื้นตัวจากวิกฤติการณ์การระบาดของเชื้อโควิด – 19 ได้ช้ากว่าที่คิด (2) ปัญหาฟองสบู่อสังหาฯ ที่ยังคงมีอยู่ โดยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาธุรกิจก่อสร้างเป็นเครื่องจักรสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจของจีนให้เจริญเติบโต ซึ่งแม้ว่า จีนจะพยายามอัดฉีดเม็ดเงินและนโยบายต่าง ๆ เพื่อมารักษาธุรกิจดังกล่าวไม่ให้พังทลายลง แต่นโยบายเหล่านี้ก็ไม่ส่งผลให้เห็นเป็นรูปธรรมมากนัก นาง Pia Hüttl นักเศรษฐศาสตร์ของ DIW กล่าวว่า “ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์มีหนี้จำนวนมาก ส่งผลให้การลงทุนลดลง” (3) ผู้ส่งออกชาวเยอรมันหวังในตลาดจีนมากเกินไป นาย Gern ผู้เชี่ยวชาญของ IfW ให้ความเห็นว่า การสิ้นสุดนโยบาย Zero Covid ของจีน ไม่ได้ผลักดันเศรษฐกิจของจีนเท่าไรนัก และในช่วงที่เกิดการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 รูปแบบการค้าขายได้เปลี่ยนไป โดยการค้าหรือซื้อสินค้า Online ได้ขยายตัวทั่วโลก ครอบคลุมตั้งแต่สินค้าเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ ไปจนถึงสินค้าเพื่อสุขภาพต่าง ๆ ในขณะที่ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมของเยอรมนีในตลาดจีนกลับลดลง และ (4) ทิศทางความต้องการสินค้าจากเยอรมันที่ลดลง เพราะรัฐบาลจีนเริ่มสนับสนุนให้ภาคเอกชนของตนซื้อสินค้าที่ผลิตภายในประเทศมากขึ้น ดังนั้น แม้แนวโน้มการส่งออกสินค้าจากเยอรมันไปจีนจะดีขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศจะกลับมาดีขึ้นโดยอัตโนมัติ นาง Alicia Garcia Herrero นักเศรษฐศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของธนาคารเพื่อการลงทุน Natixis จากฝรั่งเศสกล่าวว่า “สินค้าส่งออกของเยอรมันไปจีน จะถูกแทนที่ด้วยสินค้าที่ผลิตขึ้นในจีน” ยกตัวอย่างเช่น ชิ้นส่วนรถยนต์ นาง Garcia Herrero ได้ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานี้ คือ สิ่งที่เราคาดการณ์เมื่อดูจากนโยบายอุตสาหกรรมที่จีนกำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน” นับตั้งแต่ปี 2015 จีนได้พยายามผลักดันนโยบาย “Made in China 2025” โดยรัฐบาลจีนทุ่มเงินหลายพันล้านให้แก่กลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็นกุญแจสำคัญ (Key Industry) เพื่อลดการพึ่งพาจากต่างประเทศ นาง Garcia Herrero เห็นว่า อุตสาหกรรมรถยนต์นั้นเป็นจุดเริ่มต้นของนโยบายนี้เท่านั้น และกล่าวว่า “จะมีอีกหลายภาคอุตสาหกรรมที่จีนจะทำการผลิตเองในประเทศเพื่อเลิกนำเข้าจากต่างประเทศ”

 Handelsblatt 23 มิถุนายน 2566

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเบอร์ลิน (Thanit Hirungitrungsri)

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login