เมื่อประมาณกลางมิถุนายน 2566 รัฐบาลคาซัคสถานได้ประกาศให้ท่าเรืออักเตา (Aktau) และท่าเรือคูริก (Kuryk) รวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเขตเศรษฐกิจพิเศษเมืองท่าอักเตา (Seaport Aktau Special Economic Zone -SEZ) โดยมีเป้าหมายในการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ของประเทศ ทั้งนี้ การรวมท่าเรือทั้งสองแห่งไว้ใน SEZ คาดว่าจะช่วยดึงดูดการลงทุนโดยนำไปสู่การสร้างศูนย์คอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่ที่ท่าเรืออักเตาภายในสิ้นปี พ.ศ. 2568 ตลอดทั้งการติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ ที่ท่าเรือคูริกและท่าเรืออักเตาอย่างเต็มรูปแบบ โดยมีหน่วยลำเลียงขนถ่ายสินค้าที่ทันสมัยด้วย
รูปจาก: https://astanatimes.com/2021/08/kuryk-seaport-plans-to-increase-shipment-capacity/
ปัจจุบัน คาซัคสถานถือเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าที่สำคัญแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียกลาง โดยสินค้าประมาณร้อยละ 40 ที่ขนส่งผ่านทะเลแคสเปียนถูกขนส่งผ่านทางท่าเรืออักเตา นอกจากนี้ ท่าเรือคูริกและท่าเรืออักเตายังถูกใช้ในการขนส่งสินค้าไปยังประเทศต่างๆ เช่น อาเซอร์ไบจาน อิหร่าน รัสเซีย และเติร์กเมนิสถาน รวมทั้งประเทศในภูมิภาคยุโรปผ่านทางทะเลดำ (black sea) ด้วย ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมาหลังเกิดสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน การขนส่งสินค้าผ่านท่าเรือคูริกในคาซัคสถานได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า โดยมีปริมาณสูงกว่า 550,000 ตัน
รูปจาก: https://www.swp-berlin.org/10.18449/2022C64/
การที่คาซัคสถานได้รวมท่าเรืออักเตา (Aktau) และท่าเรือคูริก (Kuryk) ไว้ใน SEZ มีความสอดคล้องกับการพัฒนาเส้นทางการขนส่ง Trans-Caspian International Transport Route (TITR) หรือ Middle Corridor ซึ่งจะสามารถเชื่อมโยงและรองรับการขนส่งสินค้าระหว่างทวีปเอเชียและยุโรปผ่านทะเลแคสเปียน (ท่าเรืออักเตา และท่าเรือคูริกอยู่บริเวณรอบทะเลแคสเปียน) และทะเลดำได้ โดยไม่ต้องผ่านประเทศรัสเซีย โดยที่ผ่านมา คาซัคสถานได้เล็งเห็นถึงโอกาสทางเศรษฐกิจการค้าจากเส้นทาง Middle Corridor จึงได้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งต่างๆ และจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและชาติตะวันตกที่ยืดเยื้อในปัจจุบัน จึงทำให้มีการคาดการณ์ว่า Middle Corridor น่าจะทวีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในฐานะเส้นทางขนส่งสินค้าระหว่างทวีปเอเชียและยุโรปเนื่องจากหลายประเทศต้องการหลีกเลี่ยงการขนส่งสินค้าผ่านรัสเซียซึ่งถูกชาติตะวันตกคว่ำบาตร อย่างไรก็ดี โดยที่เส้นทาง Middle Corridor เป็นเส้นทางขนส่ง ที่ผ่านหลายประเทศ เช่น จีน จอร์เจีย อาเซอร์ไบจัน และตุรกี จึงยังอาจทำให้มีขั้นตอนเกี่ยวกับพิธีการทางศุลกากรของประเทศต่างๆ หลายประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
ที่มาของข้อมูล:
– Aktau and Kuryk Ports Included in Seaport Aktau Special Economic Zone (https://astanatimes.com/2023/06/aktau-and-kuryk-ports-included-in-seaport-aktau-special-economic-zone/)
– The Middle Corridor and the Russia-Ukraine War: the Rise of New Regional Collaboration in Eurasia? (https://www.cacianalyst.org/publications/analytical-articles/item/13744-the-middle-corridor-and-the-russia-ukraine-war-the-rise-of-new-regional-collaboration-in-eurasia?.html)
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)