ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนกันยายน 2564
ปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังจากภาครัฐผ่อนคลายมาตรการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส Covid – 19
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เผยว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดยรวมในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งในปัจจุบันและในอนาคต เป็นผลจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส Covid – 19 ที่ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ ประกอบกับภาครัฐได้ผ่อนคลายมาตรการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส Covid – 19 ทั้งการปรับลดเวลาเคอร์ฟิว และคลายล็อกดาวน์ให้ผู้ประกอบการสามารถเปิดดำเนินการได้เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งการฉีดวัคซีนสามารถดำเนินการได้ครอบคลุมประชากรเพิ่มมากยิ่งขึ้น
โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนกันยายน 2564 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 42.1 เทียบกับระดับ 37.2 ในเดือนก่อนหน้า เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันและ ในอนาคต โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบัน ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 29.9 มาอยู่ที่ระดับ 34.2 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 42.1 มาอยู่ที่ระดับ 47.4 เมื่อพิจารณารายภาค พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกภูมิภาค โดยเฉพาะภาคกลาง มีสัดส่วนการเพิ่มขึ้นมากที่สุด จากระดับ 36.8 มาอยู่ที่ระดับ 44.1 รองลงมาคือ กรุงเทพฯ และปริมณฑล จากระดับ 34.6 มาอยู่ที่ระดับ 39.6 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากระดับ 38.1 มาอยู่ที่ระดับ 42.6 ภาคใต้ จากระดับ 38.9 มาอยู่ที่ระดับ 42.9 และภาคเหนือ จากระดับ 35.9 มาอยู่ที่ระดับ 39.7 ตามลำดับ
เมื่อจำแนกรายอาชีพ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าในทุกกลุ่มอาชีพ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการ มีสัดส่วนการเพิ่มขึ้นมากที่สุด จากระดับ 36.9 มาอยู่ที่ระดับ 43.6 รองลงมาคือ กลุ่มพนักงานเอกชน จากระดับ 35.4 มาอยู่ที่ระดับ 40.8 กลุ่มเกษตรกร จากระดับ 37.9 มาอยู่ที่ระดับ 42.5 กลุ่มพนักงานของรัฐ จากระดับ 44.2 มาอยู่ที่ระดับ 48.0 กลุ่มไม่ได้ทำงาน/บำนาญ จากระดับ 32.3 มาอยู่ที่ระดับ 36.1 กลุ่มรับจ้างอิสระ จากระดับ 35.5 มาอยู่ที่ระดับ 39.3 และกลุ่มนักศึกษา จากระดับ 35.5 มาอยู่ที่ระดับ 37.4 ตามลำดับ
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ กล่าวสรุปว่า จากการที่ความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่สองทั้งนี้เป็นผลจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส Covid – 19 ที่ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ ประกอบกับภาครัฐได้มีการพิจารณาผ่อนคลายมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส Covid – 19 ทั้งลดเวลาเคอร์ฟิวเป็น 22.00 – 04.00 น. และอนุญาตให้ผู้ประกอบการและธุรกิจหลายประเภทสามารถดำเนินการได้ เช่น ร้านตัดผม–ร้านเสริมสวย ร้านนวด ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหารสามารถนั่งรับประทานที่ร้านได้ เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้พิจารณาให้เปิดกิจการเพิ่มขึ้นอีก เช่น โรงภาพยนต์ การเล่นดนตรีในร้านอาหาร กีฬาในร่ม ร้านทำเล็บ เป็นต้น รวมทั้งจะมีการเปิดพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวอีก 10 พื้นที่ มีผลเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 นี้ ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรสำคัญๆ ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า เช่น ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น ส่งผลให้ความเชื่อมั่นภาวะเศรษฐกิจของผู้ประกอบการและประชาชนดีขึ้น ถึงแม้ว่าจะยังคงอยู่ในช่วงที่มีความไม่เชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจก็ตาม ซึ่งหากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส Covid – 19 ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เช่น โครงการคนละครึ่ง ที่ได้โอนเงินรอบสองไปแล้ว น่าจะช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศกลับเข้าสู่ทิศทางที่ดีขึ้นและพร้อมจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องอีกครั้ง ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของไทยปรับตัวดีขึ้นตามลำดับได้
ที่มา : สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.)