ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนสิงหาคม 2564 ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามสถานการณ์ติดเชื้อไวรัส COVID-19 รายใหม่ที่ลดลง
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เผยว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งในปัจจุบันและในอนาคต เป็นผลจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส Covid – 19 มียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง ประกอบกับภาครัฐได้มีพิจารณาผ่อนคลายมาตรการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (พื้นที่สีแดง) โดยคลายล็อกดาวน์ให้ผู้ประกอบการสามารถเปิดดำเนินการได้ รวมทั้งประชาชนทยอยได้รับวัคซีนเพิ่มมากขึ้นทั่วทั้งประเทศ
โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนสิงหาคม 2564 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 37.2 เทียบกับระดับ 36.7 ในเดือนก่อนหน้า เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันและในอนาคต โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบัน ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 29.8 มาอยู่ที่ระดับ 29.9 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต พบว่า ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 41.3 มาอยู่ที่ระดับ 42.1 หากจำแนกรายภูมิภาค จะพบว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบทุกภูมิภาค โดยเฉพาะภาคใต้ มีสัดส่วนการเพิ่มขึ้นมากที่สุด จากระดับ 36.8 มาอยู่ที่ระดับ 38.9 รองลงมาคือ ภาคเหนือ จากระดับ 34.7 มาอยู่ที่ระดับ 35.9 และภาคกลาง จากระดับ 36.1 มาอยู่ที่ระดับ 36.8 ในขณะที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ปรับตัวลดลงจากระดับ 35.8 มาอยู่ที่ระดับ 34.6 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ที่ยังคงมีความรุนแรงและมียอดผู้ติดเชื้อรายวันจำนวนมาก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปรับลดลงจากระดับ 38.7 มาอยู่ที่ระดับ 38.1 เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรสำคัญ ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิ ข้าวเปลือกเจ้า และข้าวเปลือกเหนียวปรับราคาลดลงอย่างต่อเนื่อง
เมื่อจำแนกรายอาชีพ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าเกือบทุกกลุ่มอาชีพ ยกเว้นกลุ่มเกษตรกร ปรับลดลงจากระดับ 38.1 มาอยู่ที่ระดับ 37.9 เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรที่สำคัญปรับราคาลดลง เช่น ข้าวเปลือก ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สุกร ไก่ กุ้ง และผลไม้ (ทุเรียน เงาะ มังคุด) ในขณะที่กลุ่มนักศึกษา ปรับเพิ่มขึ้น จากระดับ 33.1 มาอยู่ที่ระดับ 35.5 กลุ่มพนักงานของรัฐ ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 42.8 มาอยู่ที่ระดับ 44.2 กลุ่มรับจ้างอิสระ จากระดับ 34.2 มาอยู่ที่ระดับ 35.5 กลุ่มผู้ประกอบการ จากระดับ 36.3 มาอยู่ที่ระดับ 36.9 กลุ่มพนักงานเอกชน จากระดับ 35.2 มาอยู่ที่ระดับ 35.4 และกลุ่มไม่ได้ทำงาน/บำนาญ จากระดับ 32.2 มาอยู่ที่ระดับ 32.3
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ กล่าวสรุปว่า จากการที่ความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นครั้งนี้เป็นผลจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส Covid – 19 มียอดผู้ติดเชื้อรายวันสูงอย่างต่อเนื่องในช่วงต้นเดือน และเริ่มลดลงในช่วงปลายเดือน ประกอบกับภาครัฐได้มีพิจารณาผ่อนคลายมาตรการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (พื้นที่สีแดง) โดยจะคลายล็อกดาวน์ให้ผู้ประกอบการร้านเสริมสวย ร้านอาหาร ร้านนวด (เฉพาะนวดเท้า) เป็นต้น สามารถเปิดดำเนินการได้แบบมีเงื่อนไข ส่วนห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอล สามารถเปิดดำเนินการได้ทุกแผนก โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 นี้ ซึ่งจากการผ่อนคลายมาตรการดังกล่าว ประกอบกับประชาชนทยอยได้รับวัคซีนเพิ่มมากขึ้นทั่วทั้งประเทศ ส่งผลให้ความเชื่อมั่นภาวะเศรษฐกิจของผู้ประกอบการและประชาชนเริ่มดีขึ้น ถึงแม้ว่าจะยังคงอยู่ในช่วงที่มีความไม่เชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจก็ตาม
ที่มา : สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.)