หน้าแรกTrade insight > ความสัมพันธ์สั่นไหวยูเครนเตรียมประกาศห้ามนำเข้าสินค้าเกษตรจากโปแลนด์

ความสัมพันธ์สั่นไหวยูเครนเตรียมประกาศห้ามนำเข้าสินค้าเกษตรจากโปแลนด์

รัฐบาลยูเครนแถลงเตรียมออกประกาศคว่ำบาตรห้ามนำเข้าสินค้าเกษตรจาก 3 ประเทศ ได้แก่ โปแลนด์ ฮังการี และสโลวาเกีย เพื่อเป็นการตอบโต้กรณีที่รัฐบาลโปแลนด์ บัลกาเรีย ฮังการี สโลวาเกีย และโรมาเนีย ได้แสดงความจำนงต้องการขยายระยะเวลาห้ามนำเข้าธัญพืชจากยูเครน ภายหลังสหภาพยุโรปมีมติยกเลิกการคว่ำบาตรห้ามนำเข้าธัญพืชจากยูเครนใน 5 ประเทศ เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2566 ทั้งนี้ สินค้าเกษตรที่รัฐบาลยูเครนเตรียมประกาศห้ามนำเข้าจากประเทศดังกล่าว ได้แก่ ผักและผลไม้ อาทิ หอมใหญ่ มะเขือเทศ ผักกระหล่ำ และแอปเปิ้ล เป็นต้น

 

ก่อนหน้าที่รัฐบาลยูเครนจะมีการประกาศเตรียมคว่ำบาตรดังกล่าว ยูเครนได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยัง World Trade Organization (WTO) เพื่อท้วงติงโปแลนด์ ฮังการี และสโลวาเกีย เกี่ยวกับการคว่ำบาตรสินค้าเกษตรจากยูเครนพร้อมขอหารือทางด้านกฎหมาย โดยล่าสุด มีรายงานว่ายูเครนได้บรรลุการลงนามข้อตกลงทวิภาคีร่วมกับสโลวาเกียเกี่ยวกับการค้าธัญพืชซึ่งคาดว่าจะมีการประกาศยกเลิกการคว่ำบาตรการนำเข้าธัญพืชจากยูเครนในสโลวาเกีย

 

ข้อมูลเพิ่มเติม/ข้อคิดเห็นของสคต.

1. การห้ามนำเข้าธัญพืชจากยูเครนในประเทศโปแลนด์ บัลกาเรีย ฮังการี สโลวาเกีย และโรมาเนีย ของสหภาพยุโรป
ได้ประกาศเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 โดยมีการขยายระยะเวลามาแล้ว 1 ครั้ง เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2566 และครบกำหนดการขยายระยะเวลาดังกล่าวเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา โดยสหภาพยุโรปได้มีมติยกเลิกการคว่ำบาตรห้ามนำเข้าธัญพืชจากยูเครนของทั้ง 5 ประเทศ เนื่องจากเห็นว่าภาวะตลาดเริ่มมีเสถียรภาพและไม่ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนแต่อย่างใด ทั้งนี้ สหภาพยุโรปได้กำชับให้ยูเครนควบคุมและตรวจสอบการส่งออกธัญพืชอย่างเข้มงวดเพื่อป้องกันมิให้เกิดผลกระทบกับตลาดและผู้ผลิตใน 5 ประเทศดังกล่าว

2. ธัญพืชถือเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของยูเครน โดยนอกจากจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับยูเครนซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตแล้วยังสร้างมูลค่าให้กับผู้ดำเนินการส่งออกและแปรรูปสินค้าอีกด้วย ธัญพืชจึงมีความสำคัญและเป็นสินค้าที่มีอำนาจในการเจรจาต่อรองการค้าระหว่างประเทศของยูเครน เห็นได้จากความสำเร็จในการที่ยูเครนสามารถเข้าเจรจากับ
สโลวาเกีย ซึ่งอาจจะขยายผลต่อไปยังฮังการีและโปแลนด์อีกด้วย

 

 

ที่มา :

1. Polish Press Agency
2. kyivpost

ที่มา: กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login