โปรตีนทางเลือกหรือโปรตีนจากพืช (Plant base) เป็นหนึ่งในกลุ่มกระแสอาหารแห่งอนาคต (Future Food) ที่ในผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารทั่วโลกกำลังให้ความสนใจอย่างแพร่หลาย เพราะถือเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคที่คำนึงถึงสุขภาพ และสนับสนุนกระบวนการผลิตอาหารด้วยแนวทางที่ยั่งยืนที่นับวันจะเพิ่มมากขึ้น
จากผลสำรวจโดยศูนย์วิจัยอาหารและผลิตภัณฑ์การเกษตร มหาวิทยาลัย Dalhousie แคนาดา ในกลุ่มตัวอย่างผู้บริโภคชาวแคนาดา จำนวนทั้งหมด 5,507 ราย เกี่ยวกับพฤติกรรมการซื้อผลิตภัณฑ์อาหารโปรตีนจากพืชขณะนี้ ได้ว่า กลุ่มสำรวจร้อยละ 22.3 เห็นว่าผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืชยังอยู่ในระดับราคาที่หาซื้อได้ (affordable) โดยในระยะเวลา 12 เดือนที่ผ่านมา ร้อยละ 34 ของผู้ตอบแบบสำรวจ มีการบริโภคโปรตีนจากพืชมาบ้างแล้ว โดยร้อยละ 31 ได้บริโภคอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง ในขณะที่ร้อยละ 19.8 มีการบริโภค 2-3 ครั้งต่อเดือน
ซึ่งหากเทียบกับพฤติกรรมการบริโภคผลิตภัณฑ์นม/ผลิตภัณฑ์จากนมทางเลือก (Dairy Alternatives) ในช่วงเวลาเดียวกัน อาจมีความแตกต่างกันเล็กน้อย โดยชาวแคนาดาร้อยล 42.2 หันมาบริโภคผลิตภัณฑ์นม/ผลิตภัณฑ์จากนมทางเลือก และมีถึงร้อยละ 50.4 ที่บริโภค Dairy Alternatives อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาพฤติกรรมการเลือกบริโภคอาหารในกลุ่มโปรตีน พบว่าชาวแคนาดาส่วนมากยังเลือกที่จะรับประทานเนื้อสัตว์เป็นปกติ ร้อยละ 49.2 ขณะเดียวกัน ก็มีผู้บริโภคหันมาบริโภคโปรตีนจากพืชเพิ่มขึ้น โดยผู้ตอบแบบสำรวจร้อยละ 28.1 เลือกทานโปรตีนเนื้อสัตว์และโปรตีนจากพืช และร้อยละ 12.3 จะเลือกบริโภคโปรตีนจากพืชเท่านั้น จึงอาจกล่าวได้ว่าครัวเรือนแคนาดาได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยหันมาบริโภคโปรตีนจากพืชมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ อันเกิดจากกระแสรักสุขภาพที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
เมื่อถามถึงแนวโน้มการรับประทานโปรตีนทางเลือกหรือโปรตีนจากพืช (Plant base) พบว่า ร้อยละ 30.7 มาจากความต้องการดูแลสุขภาพโดยรวม และร้อยละ 12.6 ชื่นชอบรสชาติอาหารที่ทำมาจากโปรตีนทางเลือก นอกจากนั้น ชาวแคนาดาอีกร้อยละ 12.1 มองว่าการลดบริโภคเนื้อสัตว์เพื่อประโชยน์ด้านสิ่งแวดล้อม (ร้อยละ และอีกร้อยละ 8.9 ลดการทารุณกรรมต่อสัตว์
สำหรับภาคธุรกิจ กระแสลดการบริโภคเนื้อสัตว์ส่งผลให้อาหารที่ผลิตจากพืชมียอดขายดีขึ้นเรื่อยๆ จนหลายบริษัทต่างพากันนำนวัตกรรมมาใช้ในพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ให้มีรสชาติที่ดี เพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค โดยร้อยละ 33.8 ของกลุ่มสำรวจกล่าวว่า ผลิตภัณฑ์อาหารโปรตีนจากพืชปัจจุบันนี้มีรสชาติดี ถูกปาก ขณะเดียวกัน อีกร้อยละ 39 เชื่อว่า อาหารโปรตีนทางเลือกมีสารอาหารที่เป็นประโชยน์ต่อร่างกายที่ดี
แม้อาหารจากพืชจะเป็นหนึ่งในสินค้าอาหารที่อยู่ในกระแสการบริโภคของคนรุ่นใหม่ แต่ยังมีอีกหลายปัจจัยที่กลายป็นความท้ายทายของผู้ประกอบการที่ต้องการเจาะตลาดนี้ ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค ได้แก่ ราคา (ร้อยละ 47.7) รสชาติอาหาร (ร้อยละ 44.9) คุณค่าทางโภชนาการ (ร้อยละ31.5) เหตุผลความยั่งยืน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (ร้อยละ 29) อย่างไรก็ดี จากผลสำรวจครั้งนี้ เผยว่า ผู้บริโภคแคนาดาร้อยละ 39.4 มีโอกาสที่จะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือกหรือโปรตีนจากพืช (Plant base) ในอีก 6 เดือนข้างหน้านี้
“ข้อคิดเห็นจากสำนักงานฯ กระแสผู้บริโภคยุคใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนนับวันจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ สำหรับอุตสาหกรรมอาหารในฐานะที่ไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าหลายประเภทสู่ตลาดโลก การปรับตัวของผู้ประกอบการเพื่อรองรับกระแสรักโลกจึงมีความจำเป็น โดยควรทำการศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน การสร้างการรับรู้ การกระจายช่องทางการจัดจำหน่าย และการกำหนดราคาที่เหมาะสม รวมถึงการปรับภาพลักษณ์แบรนด์ให้สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม (environmental friendly) ตลอดจนเรื่องความยั่งยืน (sustainability) เพิ่มขึ้น เพื่อเป็นโอกาสเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจและผลักดันการเติบโตของตลาดอาหารแห่งอนาคต (Future Food) ของไทยต่อไป”
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)