อินโดนีเซียและเปรูเห็นชอบในการกลับมาเจรจาข้อตกลงความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมระหว่างอินโดนีเซียและเปรู (Indonesia-Peru Comprehensive Economic Partnership Agreement: IP-CEPA) เมื่อเดือนพฤษภาคม 2566[1] หลังจากหยุดการเจรจาตั้งแต่ปี 2560 และได้เริ่มกระบวนเจรจาความตกลงฯ เมื่อเดือนสิงหาคม 2566 รัฐมนตรีกระทรวงการค้าของอินโดนีเซีย (นาย Zulkifli Hasan) และรัฐมนตรีกระทรวงการค้าต่างประเทศและการท่องเที่ยวของเปรู (นาย Juan Carlos Mathews Salazar) ได้เริ่มการเจรจาในส่วนของการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน และประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความร่วมมือ
ความตกลง IP-CEPA จะช่วยให้เปรูสามารถขยายตลาดการค้าไปยังอินโดนีเซียและประเทศอื่น ๆ ภูมิภาคอาเซียน ในขณะเดียวกัน อินโดนีเซียก็สามารถขยายตลาดการค้าสินค้า บริการและการลงทุนไปยังเปรูได้สะดวกมากขึ้น ทั้งนี้ อินโดนีเซียเป็นคู่ค้าลำดับที่ 6 ในด้านการนำเข้าสินค้าจากภูมิภาคเอเชีย (เปรูนำเข้าสินค้าจาก 44 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย โดยนำเข้าสินค้าเอเชียจากไทยเป็นลำดับที่ 8) ทั้งนี้ อินโดนีเซียเป็นคู่ค้าลำดับที่ 11 ในด้านการส่งออกสินค้าจากเปรูไปต่างประเทศ
ในปี 2565 เปรูนำเข้าสินค้าจากอินโดนีเซียคิดเป็นมูลค่า 609 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 49 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยมีการนำเข้าจากไทยคิดเป็นมูลค่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าสำคัญที่เปรูนำเข้าจากอินโดนีเซียสูงที่สุด ได้แก่ รถยนต์ เชื้อเพลิง (ไบโอดีเซล) ปุ๋ยยูเรียและโพแทสเซียมคลอไรด์ รองเท้า ผลิตภัณฑ์กระดาษ (ทิชชู กระดาษแข็ง) เส้นด้ายทอผ้า (แบบเทียมและที่ทำจากฝ้าย)
ในส่วนของการส่งออกสินค้าจากเปรูไปยังอินโดนีเซียในปี 2565 มีมูลค่าส่งออก 83 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 15.9 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยเปรูส่งออกไปไทยคิดเป็นมูลค่า 132 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าสำคัญที่เปรูส่งออกไปอินโดนีเซียส่วนใหญ่เป็นสินค้าทางการเกษตร ได้แก่ โกโก้ องุ่น ถั่วต่าง ๆ ผลไม้ (ทับทิม) ควินัว เมล็ดเจีย สินค้าส่งออกอื่น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์แร่ (แคลเซียมฟอสเฟต แอนทราไซต์ สังกะสี) ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ (ปลาป่น ปลาหมึก) สิ่งทอ เสื้อผ้าจากฝ้าย (เสื้อเชิ๊ต และเสื้อยืด) นอกจากนี้ เปรูส่งออกสินค้าที่มีความแตกต่างกันกว่า 350 รายการ ไปยังอินโดนีเซีย คิดเป็นสัดส่วนเพิ่มขึ้นร้อยละ 495 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
บทวิเคราะห์/ความเห็นของ สคต.
เศรษฐกิจของไทยมีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ในภูมิภาคอาเซียน รองจากอินโดนีเซีย สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปยังเปรู เช่น รถยนต์ (ปิกอัพ รถยนต์เพื่อการพาณิชย์) เครื่องซักผ้า ตู้เย็น เครื่องพริ้นเตอร์ อุปกรณ์หน่วยความจำคอมพิวเตอร์ ฮาร์ดไดรฟ์ รถตักและพลั่วขับเคลื่อนด้วยตนเอง (ส่วนใหญ่ใช้ในอุตสาหกรรมเหมืองแร่) ยางรถยนต์ ถุงมือยาง ทูน่า โดยอินโดนีเซียถือเป็นคู่แข่งทางการค้าโดยตรงกับไทยในส่วนของการส่งออกสินค้าหลายประเภทไปยังเปรู เช่น รถยนต์ (สำหรับขนส่งสินค้า และสำหรับขนส่งผู้โดยสาร) ในขณะที่ เปรูมีการนำเข้าถุงมือยางจากไทยและอินโดนีเซีย คิดเป็นมูลค่า 12 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 217,000 เหรียญสหรัฐ ตามลำดับ และเปรูนำเข้าสินค้าสับปะรดกระป๋องจากไทยและอินโดนีเซีย คิดเป็นมูลค่า 1.34 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 2.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ โดยในส่วนของสินค้าที่ไทยและอินโดนีเซียไม่ได้แข่งขันกันโดยตรง เช่น ถุงยางอนามัย ทูน่าประป๋อง
ทั้งนี้ สินค้าไทยหลายประเภทที่ถูกมองว่าเป็นสินค้าส่งออกที่คล้ายคลึงกับสินค้าของประเทศญี่ปุ่น และเกาหลี เช่น รถยนต์ (ชิ้นส่วนยานยนต์ ยางรถยนต์ เบรก) ถุงมือยาง ถุงยางอนามัย ทูน่ากระป๋อง เป็นต้น อย่างไรก็ดี ตลาดในภูมิภาคลาตินอเมริกา มีแนวโน้มในการเลือกสินค้าที่มีราคาถูกกว่า หากสินค้านั้นมีคุณภาพใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะในสถานการณ์เศรษฐกิจที่อยู่ในช่วงชะลอตัว และความมั่นคงทางการเมืองของเปรู ในการนี้ สินค้าไทยที่ชาวเปรูยังคงให้ความนิยม และมีภาพลักษณ์ดีในเชิงคุณภาพ เช่น ถุงยางอนามัย ถุงมือยาง ทูน่ากระป๋อง และผลิตภัณฑ์จากยา ซึ่งผู้ประกอบการไทยที่ผลิตสินค้าดังกล่าว ควรตะหนักถึงการพัฒนาคุณภาพสินค้า สร้างความแตกต่างหรือมีทางเลือกให้กับผู้บริโภคมากขึ้น และสามารถแข่งขันด้านราคาได้ เนื่องจากการจัดทำความตกลง IP-CEPA อาจส่งผลให้เปรูเลือกนำเข้าสินค้าจากอินโดนีเซียเพิ่มขึ้น
ในช่วงเดือนมกราคม – มิถุนายน 2566 การค้าของไทยและเปรูมีมูลค่า 249 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 18.90 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยมีการนำเข้าจากเปรูเพิ่มขึ้นร้อยละ 79.37 คิดเป็นมูลค่าการนำเข้า 109.69 ล้านเหรียญสหรัฐ และการส่งออกไทยไปเปรูลดลงคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6.01 คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 139.55 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปยังเปรูที่ใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีภายใต้ความตกลง TPCEP ได้แก่ ปลาทูน่า ปลาสคิปแจ็ก และปลาโบนิโต (กระป๋อง) เครื่องซักผ้าเกิน 10 กิโลกรัม ด้ายผสมกับฝ้าย เป็นต้น ทั้งนี้ มีการขอใช้สิทธิ TPCEP ในการส่งออก คิดเป็นมูลค่า 17.99 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.97 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ที่มีการใช้สิทธิฯ มูลค่า 17.64 ล้านเหรียญสหรัฐ คิอเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ร้อยละ 112.42 ของมูลค่าการส่งออกรายการสินค้าที่ได้รับสิทธิฯ[1]
________________________________
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงซันติอาโก
กันยายน 2566
[1] กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์
[1] https://gestion.pe/economia/peru-e-indonesia-proximos-a-iniciar-negociaciones-para-un-acuerdo-comercial-tlc-noticia/
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)