เอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำกรุงเตหะราน Mr. Ronny Prasetyo Yuliantoro เข้าพบ Mr. Mehdi Zeyghami รักษาการหัวหน้าองค์การส่งเสริมการค้าของอิหร่าน (Trade Promotion Organization:TPO) โดยได้กล่าวว่า ความตกลงการให้สิทธิพิเศษทางการค้า (Preferential Trade Agreement PTA) มีความสำคัญต่อการพัฒนาการค้าระหว่างอิหร่านและอินโดนีเซีย โดยปัจจุบันอินโดนีเซียอยู่ระหว่างพิจารณาข้อเสนอที่จัดทำโดฝ่ายอิหร่าน และคาดว่า PTA ระหว่างสองประเทศจะได้ข้อสรุปในเร็วๆ นี้ เนื่องจากข้อตกลงนี้มีความสำคัญเป็นพิเศษสำหรับการเข้าถึงตลาดของทั้งสองฝ่าย
การเข้าพบครั้งนี้ เอกอัครราชทูตอินโดนีเซียได้เชิญชวนนักธุรกิจชาวอิหร่านให้เข้าร่วมงานแสดงสินค้าระดับนานาชาติของอินโดนีเซีย และกล่าวว่า “งานแสดงสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซียจะจัดขึ้นในเดือนตุลาคมและอินโดนีเซียพร้อมที่จะต้อนรับนักธุรกิจชาวอิหร่านในฐานะผู้เข้าร่วมและผู้เยี่ยมชม”
ด้าน Mr. Mehdi Zeyghami รักษาการหัวหน้า TPO ยินดีกับประเด็นความคืบหน้าการจัดทำ PTA ระหว่าง 2 ประเทศ และแจ้งยืนยันว่าการจัดส่งคณะผู้แทนการค้าอิหร่านเยือนต่างประเทศหรือการต้อนรับคณะผู้แทนการค้าจากต่างประเทศ เป็นหนึ่งในภารกิจที่สำคัญของ TPO นอกจากนี้ Mr. Zeyghami ได้อ้างถึงความสัมพันธ์ที่กว้างขวางระหว่างอิหร่านและอินโดนีเซียตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยชี้ประเด็นข้อตกลงการค้าระหว่างสองประเทศสามารถพัฒนาการค้าระหว่างทั้งสองฝ่ายได้
มูลค่าการค้าระหว่างอิหร่านและอินโดนีเซียสูงถึงเกือบหนึ่งพันล้านดอลลาร์ในปีปฏิทินอิหร่านที่ผ่านมา 1401(สิ้นสุดวันที่ 20 มีนาคม 2566) โดยอิหร่านส่งออกไปยังอินโดนีเซีย 847 ล้านดอลลาร์เ และนำเข้าจากอินโดนีเซีย 119 ล้านดอลลาร์ อินโดนีเซียเป็นหนึ่งในตลาดการบริโภคของโลก และเป็นปลายทางหลักของสินค้าส่งออกขอหลายประเทศ เมื่อพิจารณาถึงการเป็นสมาชิกของอินโดนีเซียในองค์การการค้าโลก (WTO) และอัตราภาษีศุลกากรต่ำสำหรับการส่งออกไปยังอินโดนีเซีย อิหร่านยังสามารถใช้ประโยชน์จากสถานะทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซียและขยายการค้ากับประเทศอินโดนีเซียได้
ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อิหร่านได้เริ่มลงนามในข้อตกลงการค้าพิเศษกับประเทศอื่นๆ เพื่อขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจผ่านการลดอัตราภาษีศุลกากร เช่น ข้อตกลงการค้ากับสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย (EAEU) และปากีสถาน โดยกำหนดให้ใช้ภาษีเป็นศูนย์กับสินค้าอย่างน้อย 100 รายการ อิหร่านยังได้ลงนามในข้อตกลง PTA กับอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2566 ระหว่างการเดินทางของประธานาธิบดี Ebrahim Raisi ไปยังกรุงจาการ์ตา โดยทั้งสองฝ่ายได้ลงนามในข้อตกลง 11 ฉบับเกี่ยวกับความร่วมมือในด้านต่างๆ รวมถึงน้ำมันและก๊าซ ต่อหน้าประธานาธิบดีของทั้งสองประเทศ
การแถลงข่าวร่วมกับประธานาธิบดี Joko Widodo ของอินโดนีเซียเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2566 ประธานาธิบดี Raisi กล่าวว่าอิหร่านและอินโดนีเซียมีสาขาและความสามารถที่หลากหลายในการ ร่วมมือกันเพื่อยกระดับความสัมพันธ์ โดยเน้นว่าการลงนามในข้อตกลงความร่วมมือหลายฉบับในสาขาต่าง ๆ แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของทั้งสองประเทศที่จะเจริญสัมพันธไมตรีในทุกๆ ด้าน โดยได้ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างสองประเทศเป็น 20,000 ล้านดอลลาร์ และประธานาธิบดีอิหร่านได้กล่าวว่า “แน่นอน ทั้งสองประเทศได้ตัดสินใจที่จะดำเนินการฝแลกเปลี่ยนการค้าด้วยสกุลเงินของทั้ง 2 ประเทศ”
นอกจากนี้ ก่อนเดินทางไปอินโดนีเซีย Mr. Issa Zarepour รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศของอิหร่าน ซึ่งเป็นประธานฝ่ายอิหร่านของคณะกรรมการร่วมเศรษฐกิจอิหร่าน-อินโดนีเซีย ได้จัดการประชุมกับนักธุรกิจชาวอินโดนีเซียในกรุงเตหะราน โดยนักธุรกิจอินโดนีเซียยินดีอย่างยิ่งที่จะขยายความสัมพันธ์ทางการค้าการลงทุนกับอิหร่าน การขจัดอุปสรรคการแลกเปลี่ยนทางการค้าระหว่างอิหร่านและอินโดนีเซียจะสามารถสนับสนุนการค้าให้เจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว
ข้อมูลการค้าของอิหร่านกับอินโดนีเซียในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า ความสัมพันธ์ทางการค้าของอิหร่านกับอินโดนีเซียมาถึงมูลค่าสูงสุดในปีปฏิทินอิหร่าน 1400 (สิ้นสุดวันที่ 20 มีนาคม 2565) โดยในปี 1400 มูลค่าการส่งออกสูงสุดไปยังอินโดนีเซียเท่ากับ 1.081 พันล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ การส่งออกของอิหร่านไปยังอินโดนีเซียในช่วงสิบปีที่ผ่านมามีแนวโน้มสูงขึ้นมาโดยตลอด โดยปี 1392 อิหร่านส่งออกไปยังอินโดนียเซียเพียงมูลค่า 60 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่ปี 1400 อิหร่านส่งอออกมากกว่าหนึ่งพันล้านดอลลาร์ ซึ่งแสดงถึงศักยภาพด้านเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ
เอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำกรุงเตหะรานกล่าวว่า อิหร่านสามารถใช้อินโดนีเซียเป็นศูนย์กลางในการกระจายสินค้าของอิหร่านในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยเอกอัครราชทูตอินโดนีเซีย ได้เคยให้สัมภาษณ์ระหว่างพิธีฉลองวันอาเซียนปี 2022 ที่กรุงเตหะรานเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้วว่า ประเทศสมาชิกอาเซียนและอิหร่าน มีศักยภาพที่ดีที่สามารถพัฒนาได้ เช่น ความร่วมมือด้านสุขภาพ
นอกจากนี้ การเป็นสมาชิกของอิหร่านและอินโดนีเซีย ในข้อตกลงระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศที่สำคัญ เช่น องค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) ขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (the Non-Aligned Movement : NAM) องค์การความร่วมมืออิสลาม (Organization of Islamic Cooperation: OIC) และ D -8 องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจ หรือที่เรียกว่า Developing-8 สามารถเป็นเวทีในการเพิ่มความร่วมมือทวิภาคีและพหุภาคีได้
ที่มา: PTA important for Iran-Indonesia trade expansion: Indonesian envoy – Tehran Times
ความเห็นสำนักงาน
ถึงแม้อิหร่านจะถูกมาตรการคว่ำบาตรจากสหัฐอเมริกา อย่างไรก็ดี อิหร่านได้มีความพยายามจะขยายมูลค่าทางการค้ากับนานาประเทศ ทั้งอินโดนีเซีย สหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย อินเดีย ปากีสถาน ซึ่ง การที่อิหร่านจะจัดทำข้อตกลงพิเศษทางการค้ากับประเทศต่าง โดยเฉพาะอินโดนีเซีย จะส่งผลให้ไทยอาจเสียเปรียบในการส่งออกสินค้าประเภทเดียวกันมายังอิหร่านได้
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)