หน้าแรกTrade insightยานยนต์เเละส่วนประกอบ > ความคืบหน้า FTA อิสราเอล-ญี่ปุ่น

ความคืบหน้า FTA อิสราเอล-ญี่ปุ่น

กระทรวงเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของอิสราเอล เปิดเผยว่า ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา การเจรจาเพื่อลงนามข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างอิสราเอลกับญี่ปุ่นมีความคืบหน้าอย่างมากโดยอิสราเอลและญี่ปุ่นได้ประกาศขยายเวลาการเจรจาสำหรับ FTA หลังจากตรวจสอบเรื่องนี้มาเกือบทศวรรษ และล่าสุดการเจรจาได้รับแรงกระตุ้นผลักดันจากหลายฝ่าย

แหล่งข่าวทางการทูตประเมินสถานการณ์ในแง่ดีว่า ร่างข้อตกลงฉบับแรกสามารถนำเสนอได้ภายในครึ่งหลังของปี 2567 และลงนามในปี 2568 แหล่งข่าวกล่าวว่าการที่รัฐบาลญี่ปุ่นเร่งสร้างแรงจูงใจในการบรรลุข้อตกลงกับอิสราเอลนั้นเกิดจากการลงนามเขตการค้าเสรีเมื่อปีที่แล้วระหว่าง อิสราเอลกับเกาหลีใต้ และเขตการค้าเสรีระหว่างอิสราเอลกับจีน ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการเจรจาระดับสูงก่อนที่จะลงนาม เนื่องจากรัฐบาลญี่ปุ่นมีความกังวลว่าข้อตกลงระหว่างอิสราเอลกับประเทศเกาหลีใต้และจีนเหล่านี้ทำให้เกิดการยกเลิกอากรศุลกากรที่ตามมาอาจเป็นอันตรายต่อการนำเข้าของอิสราเอลจากญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบของเขตการค้าเสรีที่เกิดขึ้นใหม่ต่อตลาดรถยนต์ของอิสราเอลคาดว่าจะค่อนข้างจำกัดเมื่อเทียบกับข้อตกลงของเกาหลีและจีน เนื่องจากรถยนต์ส่วนใหญ่ของแบรนด์ญี่ปุ่นที่จำหน่ายในอิสราเอลผลิตในยุโรปนั้นได้รับการยกเว้นภาษีศุลกากรอยู่แล้ว ในช่วงระยะเวลาเดือนมกราคมถึงกรกฎาคม พ.ศ. 2566 รถยนต์ที่ผลิตในญี่ปุ่นคิดเป็นสัดส่วนเพียงประมาณ 13% ของยานพาหนะทั้งหมดที่นำเข้าไปยังอิสราเอล ซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่า 30% เมื่อเที่ยบกับปริมาณและมูลค่าที่นำเข้าเมื่อทศวรรษที่แล้ว ในขณะที่รถยนต์ที่ผลิตในจีนมีส่วนแบ่งตลาดนำเข้ามายังอิสราเอล เพิ่มขึ้น 17% ในปีนี้

การยกเลิกภาษีศุลกากร (ไม่รวมภาษีซื้อ) ที่จะเกิดขึ้นพร้อมกับการลงนามเขตการค้าเสรีจะเป็นประโยชน์ต่อแบรนด์รถยนต์เป็นหลัก ซึ่งรถยนต์ส่วนใหญ่ผลิตในญี่ปุ่น นำโดยมาสด้า ซูบารุ และLexus ตามมาด้วยแบรนด์ โตโยต้า นิสสัน และซูซูกิบางรุ่นที่ผลิตในญี่ปุ่น นอกจากนี้ รถที่ใช้พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตใน ประเทศตะวันตกอาจได้รับประโยชน์ทางอ้อมจากข้อตกลงนี้ เนื่องจากบางส่วนมีการติดตั้งแบตเตอรี่ที่ผลิตในญี่ปุ่น และปัจจุบันต้องเสียภาษีศุลกากรในอิสราเอล

กระทรวงเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมกล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้อิสราเอลและญี่ปุ่นกำลังศึกษาความเป็นไปได้เป็นขั้นตอนเบื้องต้น ก่อนที่จะเริ่มการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีในรายละเอียดต่อไป

ที่มา: en.globes.co.il – 31/08/2023

อิสราเอลได้ทำข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับสหรัฐอเมริกาแล้ว ยังมี FTA กับบัลแกเรีย แคนาดา โคลอมเบีย สาธารณรัฐเช็ก ฮังการี เม็กซิโก ปานามา โปแลนด์ โรมาเนีย สาธารณรัฐสโลวัก สโลวีเนีย ตุรกี ยูเครน สหราชอาณาจักร สหภาพยุโรป และ EFTA (ไอซ์แลนด์ ลิกเตนสไตน์ นอร์เวย์ และสวิตเซอร์แลนด์) ในปี 2554 มีการลงนามข้อตกลงทางการค้ากับประเทศ MERCOSUR (อาร์เจนตินา บราซิล ปารากวัย อุรุกวัย และเวเนซุเอลา)

อิสราเอลยังมีข้อตกลงการค้าพิเศษกับจอร์แดน และรักษาสหภาพศุลกากรกับทางการปาเลสไตน์ ในปี 2548 สหภาพยุโรปเริ่มจัดเก็บภาษีศุลกากรสำหรับสินค้าที่ผลิตโดยบริษัทอิสราเอลที่ตั้งอยู่ในเวสต์แบงก์ อีกทั้งยังมีการจัดทำความตกลงพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ (Qualifying Industrial Zone: QIZ) กับอียิปต์ และจอร์แดน

อิสราเอลอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อลงนามเขตการค้าเสรีกับประเทศอื่นๆ อีกหลายประเทศ รวมถึงออสเตรเลีย เกาหลีใต้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อินเดีย จีน และญี่ปุ่น (ข้อมูล ณ มิ.ย. 2565)

ที่มา: www.trade.gov/country-commercial-guides/israel-trade-agreements

ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ

อิสราเอลแสดงท่าทีให้ความสนใจในการจัดทำข้อตกลงการค้าเสรีกับไทยมาโดยตลอด ซึ่งฝ่ายไทยก็ได้ศึกษาความเป็นได้ตลอดจนผลที่ได้รับหากตกลงเขตการค้าเสรีกับอิสราเอล

อิสราเอลเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย ถ้าจัดอันดับจะอยู่ประมาณอันดับที่ 22 สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น (1) เครื่องจักรไฟฟ้า เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า (2) เพชร (3) ภาคบริการด้านไฮเทคโนโลยี สินค้านำเข้าสำคัญ เช่น (1) เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ เครื่องจักร (2) อัญมณี  (3) ยานยนต์ นอกจากนี้ อิสราเอลนั้นเป็นประเทศที่ผลิตสินค้าเกษตรผักผลไม้ได้พอเพียงบริโภคในประเทศและสามารถส่งออกผักผลไม้ได้บางประเภท ซึ่งหน่วยงานภาครัฐได้ให้การปกป้องอย่างมากและสนับสนุนภาคการเกษตรของอิสราเอลเป็นอย่างดีแม้ว่าพื้นที่ของประเทศส่วนใหญ่แห้งแล้งแต่ก็มีเทคโนโลยีด้านการเกษตรที่เจริญก้าวหน้ามาก

———————————————————————-

สคต.เทลอาวีฟ

6 ก.ย.2566

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login