หน้าแรกTrade insightการค้าระหว่างประเทศ > ความขัดแย้งในตะวันออกกลางต่อเศรษฐกิจในอาร์เจนตินา

ความขัดแย้งในตะวันออกกลางต่อเศรษฐกิจในอาร์เจนตินา

หลังมีการโจมตีอิสราเอลครั้งใหญ่สุดนับตั้งแต่สงครามยมคิปปูร์ (Yom Kippur War)โดยกลุ่มฮามาส ปาเลสไตน์และการรุกตอบโต้ในฉนวนกาซา ทำให้ทั่วโลกเกิดมีความกังวัลว่าความขัดแย้งนี้จะลุกลามไปทั่วตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีปริมาณน้ำมันเกือบ 1 ใน 3 ของโลก

ขณะเดียวกัน จากบริบททางเศรษฐกิจภายในที่เลวร้าย อาร์เจนตินายังคงมีความเสี่ยงต่อความตึงเครียดระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะความขัดแย้งในอิสราเอล นายเอมิลิโอ อาปุด อดีตรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานอาร์เจนตินากล่าวว่า หากอิหร่านเข้าไปเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งและมีการตอบโต้ทางเศรษฐกิจบางประเภท อาจส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบโลกเพิ่มขึ้นได้อีก

ในส่วนของ นายมาร์เซโล เอลิซอนโด ประธานหอการค้าระหว่างประเทศ (The International Chamber of Commerce: ICC) ชี้ให้เห็นว่า โดยทั่วไปแล้วสิ่งแรกที่ทำให้เกิดปัญหาในตะวันออกกลางคือราคาน้ำมันที่สูงขึ้นและอาร์เจนตินาในปัจจุบันก็ยังคงมีปัญหา เพราะยังไม่สามารถพึ่งตนเองได้ ในทางกลับกันก็อาจทำให้เศรษฐกิจต่างประเทศชะลอตัวและส่งผลกระทบต่อการค้าต่างประเทศได้เช่นกัน นอกจากนี้ราคาของค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ อาจเพิ่มขึ้นซึ่งทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ลดลง มันคือสถานการณ์ที่ซับซ้อน ขัดแย้ง และสับสน สำหรับประเทศอย่างอาร์เจนตินา ซึ่งนั่นไม่ใช่ข่าวดี

นายเดวิด มิอาซโซ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของมูลนิธิการเกษตรเพื่อการพัฒนาอาร์เจนตินา (Foundation for the Development of Argentina:FADA) กล่าวถึงสถานการณ์ปุ๋ยและอธิบายว่า ยูเรียเป็นปุ๋ยที่สำคัญที่สุดและเป็นกุญแจสำคัญสำหรับพืชผลเช่นข้าวสาลีและข้าวโพด การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันอาจมีผลกระทบต่อราคาปุ๋ยยูเรียซึ่งส่วนใหญ่ใช้โดยเกษตกรผู้ผลิตอาร์เจนตินา

บทวิเคราะห์ผลกระทบต่อประเทศไทย

อาร์เจนตินานำเข้าสินค้ามูลค่ากว่า 51,593 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2566 (มกราคม-สิงหาคม) จากประเทศผู้ส่งออกหลัก 5 ราย ได้แก่ บราซิล ร้อยละ 24.5 จีน ร้อยละ 18.7 สหรัฐอเมริกา ร้อยละ 12.3 ปารากวัย ร้อยละ 5.5 และเยอรมนี ร้อยละ 3.6 ประเทศไทยมีความเกี่ยวข้องกับบรรดาผู้จำหน่ายของอาร์เจนตินา โดยประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 7 ในรายชื่อประเทศ และครองอันดับที่ 2 ในกลุ่มประเทศในเอเชียรองจากจีน อาร์เจนตินานำเข้าสินค้าจากไทยคิดเป็น ร้อยละ 2.4 ของการนำเข้าทั้งหมด โดยมีมูลค่ากว่า 1,215 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในส่วนของอิสราเอลส่งออกไปยังอาร์เจนตินามูลค่ารวม 119 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งคิดเป็น ร้อยละ 0.2 ของการนำเข้าทั้งหมดของอาร์เจนตินาในช่วงปี 2566 ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 48 ในบรรดาประเทศผู้ส่งออก

อาร์เจนตินาส่งออกสินค้าเป็นมูลค่ารวมกว่า 45,388 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2566 (มกราคม-สิงหาคม) โดยส่งออกไปยังประเทศหลัก 5 ประเทศ ได้แก่ บราซิล ร้อยละ 17.1 สหรัฐอเมริกา ร้อยละ 7.9 จีน ร้อยละ 7.8  ชิลี ร้อยละ 7.1 อินเดีย ร้อยละ 4.3 และไทยคิดเป็น ร้อยละ 0.4 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 39 ในบรรดาประเทศผู้นำเข้าที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกของอาร์เจนตินา ในส่วนของอิสราเอลนำเข้าจากอาร์เจนตินามูลค่ารวม 258 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งคิดเป็น ร้อยละ 0.6 ของการส่งออกทั้งหมดของอาร์เจนตินาในช่วงปี 2566 (มกราคม-สิงหาคม) ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 31 ในบรรดาประเทศผู้นำเข้า

สินค้าหลัก 5 รายการที่อาร์เจนตินานำเข้าจากไทยในปี 2566 ได้แก่ (1) ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์ ร้อยละ 22.7 (2) เครื่องยนต์ดีเซลและชิ้นส่วน ร้อยละ 17.7 (3) ยางและผลิตภัณฑ์ ร้อยละ 4.9 (4) เหล็กและเหล็กกล้า ร้อยละ 4.5 และ(5) พลาสติก ร้อยละ 3.4

สินค้าหลัก 5 รายการที่อาร์เจนตินาส่งออกมายังประเทศไทยในปี 2566 ได้แก่ (1) อาหารทะเลแช่แข็ง ร้อยละ 43.1 (2) เครื่องหนัง ร้อยละ 20.6 (3) เครื่องในวัว ร้อยละ 5.8 (4) ยารักษาโรค ร้อยละ 3.8 และ(5) วัตถุดิบจากวัว ร้อยละ 2.7

สินค้าหลัก 5 รายการที่อาร์เจนตินานำเข้าจากอิสราเอลในปี 2566 ได้แก่ (1) ยากำจัดวัชพืชและยาฆ่าแมลง ร้อยละ 15.6 (2) โพลีเอทิลีน ร้อยละ 11.3 (3) สวิตช์ไฟฟ้า ร้อยละ 5.9 (4) หลอดพลาสติก ร้อยละ 5.1 และ(5) ยารักษาโรค ร้อยละ 4.2

สินค้าหลัก 5 รายการที่อาร์เจนตินาส่งออกไปยังอิสราเอลในปี 2566 ได้แก่ (1) เนื้อวัว ร้อยละ 68.9 (2) ธัญพืช ร้อยละ 7.8 (3) ถั่วลิสง ร้อยละ 3 (4) ปลาแช่แข็ง ร้อยละ 1.8 และ(5) เครื่องในสัตว์ ร้อยละ 1.6

ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

ฉันทามติในหมู่นักเศรษฐศาสตร์คือเรื่องผลของความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่อาจเป็นปัญหาหลักสำหรับอาร์เจนตินา เช่น การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันอาจเป็นปัจจัยด้านลบ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ที่จะไม่เป็นใจสำหรับการส่งออกของอาร์เจนตินา เช่นเดียวกันหากความขัดแย้งมีการนำประเทศอื่นเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องเช่นอิหร่าน อาจมีการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานระหว่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นน้ำมัน โดยจะส่งผลกระทบต่ออาร์เจนตินา เนื่องจากไม่มีอำนาจอธิปไตยด้านพลังงาน และขึ้นอยู่กับการนำเข้าพลังงานเพื่อการผลิตภาคอุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ราคาปุ๋ยอย่างยูเรียที่มาจากน้ำมัน จะมีราคาเพิ่มสูงขึ้น และนั่นเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากสำหรับผู้ผลิตพืชผลในอาร์เจนตินา นอกจากนี้ การที่อาร์เจนตินามีระบบการเงินที่แยกออกจากตลาดทุนระหว่างประเทศ ทำให้อาร์เจนตินาได้รับผลกระทบน้อยกว่าในประเทศอื่นๆ

สรุปผลกระทบความขัดแย้งในตะวันออกกลางต่อเศรษฐกิจในอาร์เจนตินา

  1. ราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น เช่น การใช้จ่ายสกุลเงิน USD มากขึ้นสำหรับการนำเข้า เงินอุดหนุนค่าไฟฟ้าและก๊าซมากขึ้น และความตึงเครียดกับ IMF ที่มากขึ้นเนื่องจากมีข้อผูกมัดทางการคลัง
  2. การชะลอตัวของเศรษฐกิจระหว่างประเทศจะส่งผลกระทบต่อการค้าต่างประเทศของอาร์เจนตินา ซึ่งอาจส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักของอาร์เจนตินาตกต่ำลง สิ่งนี้จะส่งผลกระทบต่อการขาดแคลนสกุลเงิน USD ในอาร์เจนตินามากยิ่งขึ้นในปัจจุบัน
  3. การเพิ่มขึ้นของราคาปุ๋ยยูเรียจะทำให้การผลิตพืชผลในอาร์เจนตินามีราคาแพงขึ้น โดยเฉพาะข้าวสาลีและข้าวโพดที่ต้องอาศัยปุ๋ยชนิดนี้

มูลค่าการนำเข้าเชื้อเพลิงและสินค้าเกษตรจะเพิ่มขึ้นซึ่งส่งผลเสียต่อดุลการค้า และการจำกัดผลกำไรที่ผู้ผลิตจะได้รับเมื่อเทียบกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งอาจลดลงได้เนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ตกต่ำลงทั่วโลก จากข้อมูลของการแลกเปลี่ยนธัญพืชของอาร์เจนตินา การเพิ่มขึ้นของราคาธัญพืชระหว่างประเทศอาจทำให้ราคาอาหารในท้องถิ่นเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดอัตราเงินเฟ้อมากขึ้น ประเทศไทยควรให้ความสำคัญกับความต้องการการนำเข้าของอาร์เจนตินาในด้านปัจจัยการผลิตและสินค้าจากต่างประเทศ แม้ว่าบริบททางเศรษฐกิจภายในอาร์เจนตินากำลังย่ำแย่ แต่อุตสาหกรรมต่างๆ เช่น การผลิตยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านเป็นกุญแจสำคัญสำหรับเศรษฐกิจและการจ้างงานของอาร์เจนตินา และจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลต่อไป

ที่มา:

https://www.perfil.com/noticias/economia/economia-de-guerra-puede-el-conflicto-en-israel-impactar-en-argentina.phtml/ – “What economic impact could the conflict in the Middle East have for Argentina?”, by Perfil, October 16th 2023

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงบัวโนสไอเรส สาธารณรัฐอาร์เจนตินา

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login