หน้าแรกTrade insightกุ้งขาวแวนนาไม > ความกังวลในสินค้ากุ้งจากอินเดียกำลังเพิ่มสูงขึ้นในสหรัฐฯ

ความกังวลในสินค้ากุ้งจากอินเดียกำลังเพิ่มสูงขึ้นในสหรัฐฯ

เนื้อหาสาระข่าว: ในปัจจุบันอินเดียถือเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกสินค้ากุ้งมายังสหรัฐฯ มากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนโดยประมาณอยู่ที่ร้อยละ 40 ของทั้งหมด ทั้งนี้โดยส่วนมากสินค้ากุ้งที่อินเดียส่งออกมายังสหรัฐฯ คือกุ้งแช่แข็งที่ผ่านกระบวนการตัดแต่งแบบพร้อมปรุง เช่น กุ้งถอดหัว-ถอดหางแช่แข็ง เป็นต้น ซึ่งเป็นที่นิยมสำหรับผู้บริโภคชาวอเมริกันอย่างมาก อย่างไรก็ตาม สำนักข่าว AP ได้เผยแพร่รายงานเกี่ยวกับเบื้องหลังของอุตสาหกรรมกุ้งในอินเดียซึ่งสามารถอธิบายถึงเหตุผลว่าทำไมที่ผ่านมาสินค้ากุ้งของอินเดียถึงได้ครองส่วนแบ่งในตลาดของสหรัฐฯ ได้มากขนาดที่เป็นอยู่ ทั้งนี้ ข้อมูลจากการรายงานเบื้องหลังของเหตุผลนั้นเมื่อถูกเปิดโปงออกมาแล้ว ต้องถือว่าสร้างความน่ากังวลให้กับบริษัทผู้นำเข้าในสหรัฐฯไม่มากก็น้อย รวมถึงท่าทีของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และอาจส่งผลกระทบต่อความนิยมในตัวสินค้ากุ้งจากประเทศอินเดียด้วย

สำนักข่าว AP ได้อธิบายเหตุผลสำคัญที่สนับสนุนให้การแข่งขันสินค้ากุ้งของอินเดียในสหรัฐฯตีตลาดและได้ส่วนแบ่งมากถึงร้อยละ 40 นั้นมาจากราคาขายโดยเฉลี่ยที่ต่ำกว่าสินค้ากุ้งจากประเทศอื่น ๆ ทำให้ได้เปรียบในเรื่องของราคาต้นทุนในการขาย ทำให้เกิดการเรียกร้องจากภาคธุรกิจและผู้ประกอบการกุ้งในสหรัฐฯ ได้ร้องเรียนถึงการเข้ามาตีตลาดที่ทำให้สินค้ากุ้งที่ผลิตในสหรัฐฯเองนั้นได้รับผลกระทบอย่างมาก ทั้งนี้ ราคาที่ต้องจ่ายเบื้องหลังการผลิตสินค้ากุ้งที่ราคาต่ำของอินเดียนั้น แลกมาด้วยอุตสาหกรรมการผลิตที่เต็มไปด้วยสภาวะที่ผู้เขียนใช้คำว่า ‘เป็นอันตรายและการกดขี่’ (Dangerous and Abusive) และกระบวนการที่ทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างสิ้นเชิง

สภาวะการทำงานที่คนงานในอุตสาหกรรมกุ้งที่ AP รายงานนั้นน่าหดหู่อย่างมาก ซึ่งนอกจากจะมีมาตรฐานความปลอดภัยที่ต่ำแล้ว ยังขาดมาตรฐานทางสาธารณสุขอีกด้วย ตัวอย่างของสภาพการทำงานดังกล่าว ได้แก่การทำงานต่อเนื่อง 10 ชั่วโมง กับค่าแรง 4 เหรียญสหรัฐฯต่อวัน ซึ่งต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำตามกฎหมายของอินเดียด้วยซ้ำ ยังไม่นับการโดนหัวค่าหัวคิวอีกวันละ 25 เซนต์ ค่าเดินทางของรถรับส่งบริษัท และอื่น ๆ สถานที่และอุปกรณ์การปลอกเปลือกกุ้งที่ไม่ได้มาตรฐาน ขาดอุปกรณ์ป้องกันแม้เพียงถุงมือเพื่อป้องกันการบาดเจ็บและการที่อวัยวะถูกทำลายจากการทำงานให้ห้องแช่เย็น (Frostbite) ทั้งนี้ มีรายงานอาการบาดเจ็บที่สาหัสจากอาการติดเชื้อ และจากบาดแผลเป็นจำนวนมาก ตลอดจนสภาพความเป็นอยู่ที่ถูกกักขังในที่พักรวมของบริษัทภายใต้การถูกจับตามองตลอดเวลา และจะออกไปข้างนอกได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาติเท่านั้น ในส่วนของผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศนั้น มีรายงานว่าระบบเพาะเลี้ยงกุ้งนั้นมีการขุดบ่อตามธรรมชาติ และมีการใช้สารเคมีและยาปฏิชีวนะ (Antibiotic) ในการเพาะเลี้ยงกุ้ง และนับรวมถึงน้ำเสียที่ปล่อยออกมาจากโรงงานผลิตสินค้ากุ้งทั้งหลายที่ลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ทำให้ระบบนิเวศ ป่าชายเลน และสิ่งแวดล้อมในบริเวณนั้นถูกทำลายเสียหากอย่างสิ้นเชิง สารเคมีตกค้างทำให้การเพาะปลูกและการเษตรเสียหายเนื่องจากดินเสีย ในแหล่งน้ำก็ถูกเจือปนไปด้วยสารพิษ จนอาจกล่าวได้ว่าวิถีชีวิตของเกษตรกรก็ได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างไปด้วย ซึ่งทั้งหมดเป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งจากรายงานของ AP ที่ชี้ให้เห็นถึงสถานการณ์อันน่าห่วงกังวลในประเด็นผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มาตรฐานทางสุขอนามัยของสินค้า และการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ซึ่งเกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตสินค้ากุ้งจากอินเดียมายังสหรัฐฯ ตลอดเวลาที่ผ่านมา

ท่าทีของบริษัทและห้างร้านที่จัดจำหน่ายสินค้ากุ้งจากอินเดีย ได้ออกมาแสดงท่าที่และความคิดเห็นต่อกรณีดังกล่าวในหลากหลายอารมณ์ด้วยกัน อาทิ Walmart ซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ ได้กล่าวว่า “เมื่อบริษัทได้รับทราบถึงกรณีดังกล่าวแล้ว ทาง Walmart จะส่งนักสืบเพื่อไปตรวจสอบข้อเท็จจริง ณ สถานที่ผลิตด้วจตัวเอง และจะไม่นิ่งนอนใจกับกรณีที่เกิดขึ้น” Rich Products Corp. บริษัทผู้นำเข้าสินค้ากุ้งในสหรัฐฯ เจ้าของแบรนด์สินค้า Sea Pak อาหารทะเลแปรรูปชื่อดังกล่าวว่า “เรามีความพร้อมที่จะตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างจริงจังที่สุด และจะดำเนินมาตรการตามหลักที่ถูกต้องสำหรับกรณีนี้ต่อไป” และ Sysco บรัทผู้จัดจำหน่าย (Distributor) อาหารรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ กล่าวว่าจะทำการหยุดการสั่งซื้อจากบริษัทผู้ผลิตกุ้งที่ถูกกล่าวหาในอินเดียทั้งหมด จนกว่าจะสืบสวนข้อเท็จจริงเสร็จสิ้น

ในขณะที่หน่วยงานภาครัฐของสหรัฐฯที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการนำเข้าสินค้าอย่าง CBP (U.S. Customs and Border Protection) ได้ออกมาให้ข้อมูลกับ AP เกี่ยวกับกรณีที่เกิดขึ้นว่า แม้ว่า CBP จะให้ความสำคัญกับการป้องกันการนำเข้าสินค้าที่มีกระบวนการผลิตเกี่ยวข้องกับกับบังคับแรงงานเช่นนี้ แต่ก็ต้องยอมรับว่าการที่จะสกัดกั้นให้ได้ทั้งหมดนั้นเป็นภารกิจที่ยากมาก ทางด้าน National Fisheries Institute (NFI) สมาคมผู้ค้าอาหารทะเลที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ได้กล่าวว่า “เราจะตอบสนองต่อกระบวนการละเมิดแรงงานทุกรูปแบบที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตสินค้าอาหารทะเล” ขณะที่ Trey Pearson ประธาน American Shrimp Processors Association ได้แสดงความคิดเห็นต่อกรณีนี้ว่า “อินเดียได้สร้างความเสียหายต่อตลาดสินค้ากุ้งภายในสหรัฐฯอย่างมหาศาล ซึ่งมาจากการกระทำทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม (Unfair Trade Practices)”

บทวิเคราะห์ และข้อเสนอแนะ: ภายใต้เงื่อนไขและความท้าทายของการค้าระหว่างประเทศในปัจจุบัน ที่ซึ่งการแข่งขันทางการค้ามีปัจจัยที่ลึกมากไปกว่าคุณภาพของสินค้านั้น กระบวนการผลิตและได้มาซึ่งสินค้านั้นสำคัญไม่น้อยไปกว่าคุณภาพและราคาของสินค้า หลายองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำล้วนสามารถถูกแทรกแซงด้วยคำว่า “มาตรฐาน” สำหรับการผลิต/สินค้าได้ทั้งสิ้น อาทิ มาตรฐานทางสิ่งแวดล้อม มาตรฐานทางสุขอนามัย มาตรฐานทางสวัสดิภาพของแรงงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตทั้งหมด ซึ่งเมื่อพิจารณาองค์ประกอบเหล่านี้ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงจากรายงานข่าวข้างต้น ประกอบกับท่าที่ของภาคธุรกิจผู้ประกอบการที่สะท้อนออกมา ทำให้สินค้ากุ้งจากอินเดียถือว่าอยู่ในสถานะที่น่ากังวลและสุ่มเสี่ยงต่อการถูกมาตรการกีดกันทางการค้าซึ่งอาจมาในรูปแบบมาตรฐานในกระบวนการผลิตตามตัวอย่างที่ได้กล่าวไป

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่อาจเป็นประโยชน์ทางการค้าสำหรับสินค้ากุ้งจากประเทศไทยก็คือความเป็นไปได้ในส่วนแบ่งทางการตลาดที่อาจเพิ่มสูงขึ้น หากสินค้ากุ้งจากอินเดียจะถูกมาตรการกีดกันทางการค้าดำเนินการ เนื่องจากข้อเท็จจริงในปัจจุบันที่สหรัฐฯนำเข้าสินค้ากุ้งจากประเทศไทยเป็นอันดับที่ 5 ตามหลังอินเดีย เอกวาดอร์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม ทำให้จากนี้จะต้องติดตามความเคลื่อนไหวจากภาครัฐของสหรัฐฯที่อาจเกิดขึ้นเพิ่มตอบโต้ต่อกรณีที่เกิดขึ้นกับกระบวบการผลิตสินค้ากุ้งจากประเทศอินเดีย ซึ่งอาจเป็นคุณสำหรับสินค้ากุ้งประเทศไทยหากมีมาตรการที่สินค้ากุ้งไทยผ่านมาตรฐานอยู่แล้ว แต่ก็อาจเป็นโทษได้เช่นกันหากมีมาตรฐานที่แตกต่างไป

*********************************************************
ที่มา: Associated Press (AP)
เรื่อง: “AP Documents grueling conditions in Indian shrimp industry that report calls ‘dangerous and abusive”
โดย: Martha Mendoza, Mahesh Kumar, Piyush Nagpal
สคต. ไมอามี /วันที่ 21 มีนาคม 2567

อ่านข่าวฉบับเต็ม : ความกังวลในสินค้ากุ้งจากอินเดียกำลังเพิ่มสูงขึ้นในสหรัฐฯ

Login