เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2567 คณะรัฐมนตรีซึ่งมีนายกรัฐมนตรีนเรนทระ โมดี เป็นประธานการประชุม ได้อนุมัติให้จัดตั้งท่าเรือวาดาวัน (Vadhavan) ใกล้กับมหาราษฎร์ธรรมหนุ โครงการนี้ถูกมอบหมายให้รับผิดชอบการก่อสร้างโดยบริษัท Vadhavan Port Project Limited (VPPL) ซึ่งเป็นบริษัทภายใต้แผนงาน Special Purpose Vehicle (SPV) ของหน่วยงาน Jawaharlal-Nehru Port Authority (JNPA) และ Maharashtra Maritime Authority (MMB) ถือหุ้นร้อยละ 74 และ 26 ตามลำดับ ท่าเรือ Vadhavan จะได้รับการพัฒนาให้เป็นท่าเรือหลักและเป็นท่าเรือน้ำลึกในพื้นที่สีเขียวที่เหมาะสมต่อทุกสภาพอากาศ ในเมืองวาดาวัน เขตพัลการ์ รัฐมหาราษฏระ
ต้นทุนค่าใช้จ่ายของโครงการรวมถึงการเวนคืนที่ดินประเมินเป็นมูลค่ารวม 9,134 ล้านเหรียญสหรัฐ (7.622 แสนล้านรูปี) ซึ่งรวมไปถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ท่าเทียบเรือ และอาคารเชิงพาณิชย์อื่นๆ ในรูปแบบความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) ครม.ยังเห็นชอบให้สร้างถนนเชื่อมต่อระหว่างท่าเรือกับทางหลวง ซึ่งรับผิดชอบโดย Ministry of Road Transport & Highways และดำเนินการเชื่อมต่อรางรถไฟกับโครงข่ายทางรถไฟเดิมและทางเดินพิเศษสำหรับการขนส่งสินค้าทางรถไฟที่กำลังจะสร้างเสร็จ (Dedicated Rail Freight Corridor)
ท่าเรือแห่งนี้จะประกอบด้วยท่าเทียบเรือตู้สินค้า 9 แห่ง แต่ละแห่งมีความยาว 1,000 เมตร เป็นท่าเทียบเรืออเนกประสงค์ 4 แห่ง ได้แก่ ท่าเทียบเรือชายฝั่ง ท่าเทียบเรือขนส่งสินค้าของเหลว ท่าเทียบเรือ Ro-Ro (ลำเลียงสินค้าขึ้นและลงจากเรือด้วยสายพาน) และท่าเทียบเรือสำหรับยามชายฝั่ง โครงการนี้ยังมีความเกี่ยวเนื่องกับการถมทะเลเพื่อขยายพื้นที่ 1,448 เฮกตาร์ และการก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นในทะเล 10.14 กิโลเมตร รวมทั้งพื้นที่จัดเก็บตู้คอนเทนเนอร์และตู้สินค้า โดยรวมแล้ว โครงการนี้จะมีศักยภาพในการรองรับการขนส่งสะสมถึง 298 ล้านตันต่อปี รวมถึงความสามารถในการบริหารตู้สินค้าประมาณ 23.2 ล้านทีอียู (เทียบเท่า 20 ฟุต)
การเพิ่มขีดความสามารถด้วยการยกระดับท่าเรือ Vadhavan จะช่วยผลักดันการส่งออก-นำเข้า ให้สามารถเคลื่อนย้ายสินค้าผ่านระเบียงเศรษฐกิจ Indo-Middle East European Economic Corridor (IMEEC) และ International North-South Transport Corridor (INSTC) กอปรกับการมีท่าเทียบเรือที่มีศักยภาพและมาตรฐานระดับสากลนี้ จะมีส่วนส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) ให้เกิดประสิทธิผล เกิดการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อบริหารจัดการเรือขนาดใหญ่ที่ใช้เส้นทางสายหลักในการเดินเรือระหว่างประเทศผ่านเส้นทาง ตะวันออกไกล ยุโรป ตะวันออกกลาง แอฟริกาและอเมริกา เมื่อก่อสร้างเสร็จท่าเรือ Vadhavan จะเป็นกลายท่าเรือที่ติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก
ข้อมูลเพิ่มเติม
1. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Mr. Ashwini Vaishnaw) ให้ข้อมูลว่าท่าเรือ Vadhavan แห่งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของโครงการระเบียงเศรษฐกิจ IMEC ซึ่งเป็นเมกะโปรเจกต์ ด้วยการเชื่อมต่อทางรถไฟและทางหลวงที่เชื่อมมายังท่าเรือผ่านการออกแบบอย่างเหมาะสม
2. การใช้ประโยชน์จากท่าเรือ Vadhavan มีข้อได้เปรียบที่สำคัญ 2 ประการ คือ 1) ความลึก และ 2) การเชื่อมต่อกับพื้นที่ห่างไกลจากตัวเมือง ดังนั้น การเชื่อมต่อระหว่างท่าเรือและพื้นที่ห่างไกลจากตัวเมืองจะเป็นไปอย่างไร้รอยต่อในอนาคต ด้วยระยะห่างจากเส้นทางขนส่งสินค้า 12 กม. ทั้งนี้ การก่อสร้างท่าเรือจะดำเนินการเป็น 2 ระยะ โดยระยะแรกคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2572 โดยจะเป็นไปในรูปแบบการร่วมทุน(JV) ระหว่างหน่วยงาน Jawaharlal Nehru Port Authority และ Maharashtra Maritime Board
ผลกระทบทางเศรษฐกิจและความท้าทาย
1. ปริมาณการค้าที่เพิ่มขึ้น: ท่าเรือ Vadhavan แห่งใหม่ที่มีความสามารถในการรองรับเรือสินค้าในปริมาณมาก (298 ล้านตันต่อปี) จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการจัดการสินค้าที่ลำเลียงเข้าสู่ท่าเรือของอินเดียได้ นั่นหมายถึงจะช่วยกระตุ้น ปริมาณการนำเข้าและส่งออกระหว่างไทยกับอินเดียให้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
2. การปรับปรุงประสิทธิภาพ: การมีระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัยและระดับน้ำลึกที่เหมาะสมจะช่วยให้เรือขนาดใหญ่สามารถเทียบท่าได้ ซึ่งระบบโครงสร้างที่ดีจะช่วยลดระยะเวลาการขนส่งของเรือที่เข้าเทียบท่า เป็นการลดต้นทุนการขนส่งของผู้ส่งออกไทยด้วย นอกจากนี้ เมื่อท่าเรือมีระบบเชื่อมโยงที่มีประสิทธิภาพ เชื่อมโยงทางถนนและทางรถไฟสู่ท่าเรือตามแผนงาน จะช่วยยกระดับการเข้าถึงพื้นที่แนวหลังของท่าเรือ Vadhavan เป็นการเปิดตลาดใหม่ให้แก่ธุรกิจไทย
3. การแข่งขันที่สูงขึ้น: ด้วยประสิทธิภาพของท่าเรือใหม่อาจดึงดูดธุรกิจจากประเทศอื่นๆ เข้ามาในบริเวณเขตท่าเรือ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการแข่งขันของผู้ส่งออกไทยในตลาดอินเดีย
ข้อคิดเห็น
โครงการพัฒนาท่าเรือ Vadhavan คาดว่าจะใช้เม็ดเงินลงทุนสูงถึง 9,134 ล้านเหรียญสหรัฐ (7.622 แสนล้านรูปี) นับว่าเป็นแผนแม่บทท่าเรือที่จะมีส่วนปรับภูมิทัศน์ทางทะเลของอินเดียใหม่ ท่าเรือ Vadhavan ถูกออกแบบให้มีการก่อสร้างเป็นระยะ ตั้งอยู่ในตำแหน่งยุทธ์ศาสตร์เพื่อรองรับปริมาณขนส่งในปริมาณที่มากและเรือคอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่ ด้วยการมีตำแหน่งยุทธ์ศาสตร์ที่ดี มีระยะทางที่สามารถเชื่อมต่อเมืองมุมไบกับอินเดียตอนกลางและตอนเหนือได้ ทำให้ท่าเรือแห่งนี้จะกลายเป็นประตูทางการค้าที่สำคัญ ประกอบกับการมีระดับทะเลน้ำลึกในเขตท่าเรือยิ่งทำให้ท่าเรือ Vadhavan กลายเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางทะเลที่เหมาะสมต่อการลำเลียงขนส่งสินค้า นอกเหนือจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่กำลังจะเกิดขึ้น โครงการก่อสร้างท่าเรือ Vadhavan ยังนำเสนอโอกาสมากมายสำหรับภาคธุรกิจต่างๆ จะช่วยเพิ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจส่งผลให้เกิดโอกาสต่อการจ้างงานทั้งทางตรงและทางอ้อมกว่า 1.2 ล้านคน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจในท้องถิ่น ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยที่สนใจธุรกิจที่มีความเกี่ยวเนื่องการก่อสร้างท่าเรือ ทั้งธุรกิจอุปกรณ์ก่อสร้าง อุปกรณ์ขุดลอกทางทะเล วิศวกรที่มีความเชี่ยวชาญและชำนาญด้านการวางกลยุทธ์ และธุรกิจด้านโลจิสติกส์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ควรติดตามข้อมูลข่าวสาร เพื่อให้สามารถใช้โอกาสนี้วางตำแหน่งทางธุรกิจ สำรวจความเป็นไปได้ในการทำงานร่วมกับบริษัทอินเดีย เพื่อใช้ประโยชน์จากระบบที่มีประสิทธิภาพของท่าเรือแห่งใหม่
ที่มา :
1- https://www.business-standard.com/india-news/greenfield-port-in-maharashtra-to-be-integral-part-of-imec-vaishnaw-124062000065_1.html
2 – https://utkarsh.com/current-affairs/cabinet-green-signals-a-greenfield-major-port-at-vadhavan-maharashtra#:~:text=The%20government%20of%20India%20has,Modi%20on%2019%20June%202024
3 – https://pib.gov.in/PressReleaseIframePage.aspx?PRID=2026695
อ่านข่าวฉบับเต็ม : คณะรัฐมนตรีอินเดียอนุมัติ “โครงการพัฒนาท่าเรือ Vadhavan แห่งรัฐมหาราษฏระ”