หน้าแรกTrade insightยานยนต์เเละส่วนประกอบ > คณะกรรมาธิการยุโรปเห็นชอบการแก้ไขปัญหาด้านการต่อต้านทุจริตและอาชญากรรมของโรมาเนียและบัลแกเรีย ส่งผลดีต่อโอกาสทางการค้าของสมาชิกในเขตเชงเก้น

คณะกรรมาธิการยุโรปเห็นชอบการแก้ไขปัญหาด้านการต่อต้านทุจริตและอาชญากรรมของโรมาเนียและบัลแกเรีย ส่งผลดีต่อโอกาสทางการค้าของสมาชิกในเขตเชงเก้น

ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์ วันที่ 18-22 กันยายน 2566
www.thaitradebudapest.hu / Facebook Fanpage: @ThaiTradeBudapest 

 

หลังจากคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ได้ติดตามผลการดำเนินงานของรัฐบาลโรมาเนียและบัลแกเรียในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและการต่อต้านการทุจริตเป็นเวลากว่า 16 ปี ในที่สุด คณะกรรมาธิการยุโรปได้แถลงเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2566 ว่ารัฐบาลโรมาเนียและบัลแกเรียบรรลุเงื่อนไขการปฏิบัติงานภายใต้กลไกความร่วมมือและการตรวจสอบ (Cooperation and Verification Mechanism-CVM) แล้ว เนื่องจากทั้งสองประเทศได้แสดงความคืบหน้าในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมความพยายามในการต่อต้านการทุจริต และการจัดการอาชญากรรมอย่างต่อเนื่อง นับเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของทั้งสองประเทศ

 

อนึ่ง เมื่อโรมาเนียและบัลแกเรียเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปในปี 2550 ทั้งสองประเทศยังมีปัญหาการทุจริตในภาครัฐอยู่มาก คณะกรรมาธิการยุโรปจึงจัดตั้งกลไก CVM ซึ่งเป็นมาตรการพิเศษที่จะให้คณะกรรมาธิการยุโรปสามารถติดตามการดำเนินงานของรัฐบาลโรมาเนียและบัลแกเรียในกระบวนการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและการต่อต้านการทุจริต ตลอดจนการก่ออาชญากรรม ให้เป็นไปตามมาตรฐานสหภาพยุโรปได้

 

ในโอกาสนี้ นาง Ursula von der Leyen ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปแสดงความยินดีกับโรมาเนียและบัลแกเรีย เน้นย้ำถึงความสำคัญของหลักนิติธรรมในฐานะคุณค่าพื้นฐานร่วมกัันภายในสหภาพยุโรป นับต่อจากนี้ โรมาเนียและบัลแกเรียจะเข้าสู่วิธีการประเมินตัวชี้วัดด้านหลักนิติธรรมและนิติรัฐ (Rule of Law) ในลักษณะเดียวกับประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปอื่นๆ อีก 25 ประเทศ แสดงให้เห็นว่ามาตรฐานของโรมาเนียและบัลแกเรีย เริ่มปรับขึ้นมาใกล้เคียงประเทศอื่นๆ ที่ก้าวหน้าทางการเมืองและประชาธิปไตยมากขึ้น อย่างไรก็ดี แม้จะสิ้นสุดกลไก CVM แล้ว ทว่าโรมาเนียและบัลแกเรียยังต้องเดินหน้าพัฒนาประเทศต่อไปให้ใกล้เคียงกับประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปอื่นๆ เนื่องจากตามดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index-CPI) ที่จัดทำโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International-TI) ระบุว่า โรมาเนียและบัลแกเรียยังได้คะแนนต่ำกว่าประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปอยู่มาก

 

การสิ้นสุดกลไก CVM นี้ ไม่เพียงแต่เป็นการยอมรับความก้าวหน้าในการปฏิรูปประเทศของโรมาเนียและบัลแกเรียเท่านั้น แต่ยังมีความสำคัญในบริบทของการเข้าเป็นสมาชิกเขตเชงเก้นในอนาคต เนื่องจาก ก่อนหน้านี้ เนเธอร์แลนด์ไม่ยอมรับให้ทั้งสองประเทศเข้าเป็นสมาชิกเขตเชงเก้น โดยอ้างว่าโรมาเนียและบัลแกเรียยังมีปัญหาการทุจริตในประเทศอยู่มาก และจะรอให้การประเมินตามกลไก CVM นี้ผ่านก่อน ดังนั้น เมื่อโรมาเนียและบัลแกเรียผ่านกลไก CVM แล้ว เนเธอร์แลนด์และประเทศอื่นๆ ในอียูก็ควรต้องยอมพิจารณาท่าทีกับโรมาเนียและบัลแกเรียใหม่

 

ออสเตรียก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ไม่สนับสนุนการขยายตัวของเขตเชงเก้น โดยรัฐบาลออสเตรียอ้างว่าสหภาพยุโรปควรให้ความสำคัญกับการจัดตั้งระบบการป้องกันชายแดนที่มีประสิทธิภาพก่อนที่จะรับสมาชิกเข้ามาใหม่ ซึ่งรัฐบาลออสเตรียยังคงกังวลว่าโรมาเนียและบัลแกเรียยังไม่สามารถแก้ปัญหาผู้ลักลอบเข้าเมืองเข้าเขตเชงเก้นผ่านประเทศของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถึงแม้ว่ารัฐบาลโรมาเนียและบัลแกเรียได้แสดงออกอย่างมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาการอพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย และข้อพิจารณาที่สำคัญที่สุด คือคณะกรรมาธิการยุโรปยอมรับการแก้ปัญหาของโรมาเนียและบัลแกเรียแล้ว ดังนั้น หากออสเตรียยังคงไม่เห็นด้วยกับการเข้าเป็นสมาชิกเชงเก้นของโรมาเนียและบัลแกเรีย โรมาเนียอาจพิจารณาฟ้องร้องออสเตรียต่อศาลยุติธรรมแห่งสหภาพยุโรปว่า การไม่ยอมยกมือสนับสนุนให้โรมาเนียเข้าเขตเชงเก้นของออสเตรียนั้น ส่งผลให้โรมาเนียได้รับความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคมต่อโรมาเนีย ซึ่งออสเตรียต้องชดใช้ค่าเสียหายนี้ให้แก่โรมาเนีย อีกปัจจัยหนึ่งที่โรมาเนียจะเสียประโยชน์จากการที่ยังไม่สามารถเข้าเป็นสมาชิกเขตเชงเก้นได้ คือการขนส่งสินค้าผ่านยานพาหนะของโรมาเนียปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มหาศาลระหว่างต่อคิวรอผ่านแดนเข้า-ออกระหว่างโรมาเนียและเขตเชงเก้นที่ชายแดน รถบรรทุกก็ต้องเสียเวลาตรวจน้ำหนักและมูลค่าสินค้าที่ด่านศุลกากร ส่งผลให้โรมาเนียเสียประโยชน์ทางเศรษฐกิจในปัจจัยนี้

 

ข้อคิดเห็นและบทวิเคราะห์ของ สคต.

 

การสิ้นสุดกลไก CVM อย่างเป็นทางการสำหรับโรมาเนียและบัลแกเรียเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา นับเป็นก้าวสำคัญสำหรับทั้งสองประเทศที่แสดงให้เห็นว่าประเทศของตนมีการพัฒนาปรับปรุงพร้อมเข้าสู่การค้ากับประเทศในเขตเชงเก้น อย่างไรก็ตาม ในการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมาตรการยุติธรรมและกิจการภายใน (Justice and Home Affairs Council) ของสหภาพยุโรปในวันที่ 28 กันยายนที่จะถึงนี้ ยังไม่บรรจุวาระการพิจารณาเข้าร่วมเป็นสมาชิกภาพเขตเชงเก้นของโรมาเนียและบัลแกเรีย จึงจะต้องลุ้นต่อไปว่าวาระดังกล่าวจะบรรจุเข้าทันการประชุมที่เหลืออีกสองครั้งในปีนี้หรือไม่ (ปลายเดือนตุลาคม 2566 และต้นเดือนธันวาคม 2566)

 

อีกทางเลือกหนึ่ง คือ หากโรมาเนียและบัลแกเรียเข้าเป็นสมาชิกเขตเชงเก้นไม่สำเร็จในปีนี้ ทั้งสองประเทศอาจจะรอให้ออสเตรียจัดการเลือกตั้งทั่วไปช่วงฤดูใบไม้ร่วงปี 2567 ซึ่งอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงในคณะรัฐบาลชุดใหม่ที่เป็นผลดีต่อทั้งสองประเทศมากขึ้น ทั้งนี้ ช่วงเวลาดังกล่าวจะเกิดขึ้นในระหว่างที่ตำแหน่งประธานคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปจะเวียนมายังประเทศฮังการีช่วงครึ่งปีหลังของปี 2567 จากปัจจัยนี้เองประเทศฮังการีที่เป็นประเทศเพื่อนบ้าน และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทั้งออสเตรีย โรมาเนีย และบัลแกเรีย จึงอาจจะเป็นตัวกลางในการเจรจาประเด็นดังกล่าวนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

การขยายตัวของเชตเชงเก้น สร้างประโยชน์ให้แก่เศรษฐกิจของประเทศสมาชิกเขตเชงเก้นเป็นอย่างมากเนื่องจากจะสามารถทำให้การเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตที่สำคัญ ได้แก่ ประชากร สินค้า บริการ และทุนระหว่างประเทศ เป็นไปอย่างเสรี ไม่ต้องเสียเวลาตรวจเอกสารเมื่อเดินทางข้ามพรมแดน ทำให้การขนส่งในระบบโลจิสติกส์และการเดินทางของประชากรเป็นไปอย่างราบรื่นและรวดเร็ว ช่วยส่งเสริมการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การลงทุน และการท่องเที่ยวของประเทศสมาชิก นอกจากนี้ หากจำนวนสมาชิกเขตเชงเก้นเพิ่มขึ้น จะถือเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ในการพัฒนาระดับความร่วมมือทางเศรษฐกิจและสังคมระหว่างประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ไม่เพียงแต่โรมาเนียและบัลแกเรียจะได้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ แต่ยังรวมถึงประเทศสมาชิกเขตเชงเก้นอื่นๆ ที่ต้องการทำการค้ากับโรมาเนียและบัลแกเรียด้วย

 

สำหรับการค้าระหว่างไทยกับโรมาเนียและบัลแกเรีย สถานการณ์ปัจจุบันที่ยังไม่แน่นอนของทั้งสองประเทศ อาจจะยังไม่เพิ่มโอกาสในการค้ากับทั้งสองประเทศมากนัก ผู้ประกอบการไทยที่กำลังพิจารณาทำการค้า/การลงทุนกับในโรมาเนียหรือบัลแกเรีย รวมถึงผู้ประกอบการไทยที่ทำธุรกิจอยู่แล้วในโรมาเนียหรือบัลแกเรีย จะยังต้องเผื่อเวลาสำหรับการขนส่งสินค้าข้ามชายแดน และต้องศึกษากฎระเบียบของผู้ถือวีซ่าเชงเก้นและบัตรพำนักชั่วคราวที่ออกโดยประเทศสมาชิกเขตเชงเก้น เช่น ฮังการี และโครเอเชีย ว่าตนมีสิทธิ์อยู่ในประเทศนอกเขตเชงเก้นกี่วัน อย่างไรก็ดี ในระยะยาว สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์ คาดว่าหากโรมาเนียและบัลแกเรียสามารถเข้าเป็นสมาชิกเขตเชงเก้นได้ จะเป็นโอกาสทองของผู้ประกอบการไทยที่จะเข้ามาสำรวจตลาดโรมาเนียและบัลแกเรีย อาจมีการเจรจานัดหมายกับผู้ประกอบการมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ที่ผ่านมาสินค้าไทยที่มีการส่งออกไปทั้งสองประเทศนี้ หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า หม้อแปลงไฟฟ้า ชิ้นส่วน ยานยนต์ พลาสติก วงจรพิมพ์ เครื่องปรับอากาศ หม้อแบตเตอรี่ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม ส่วนสินค้าเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง ยางพารา ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ซอสปรุงรส อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ข้าวสาลี ข้าวหอมมะลิ และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เป็นต้น ทั้งนี้ สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์ จะนำส่งข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสินค้าที่ตลาดโรมาเนียและบัลแกเรียต้องการจากไทยในโอกาสต่อไป

 

ที่มาของข้อมูล:

    • https://ec.europa.eu/commission/presscorner/detail/en/ip_23_4456
    • https://emerging-europe.com/news/bulgaria-and-romania-are-finally-rid-of-the-cvm-but-schengen-membership-remains-elusive
    • https://sofiaglobe.com/2023/09/15/ec-formally-closes-cooperation-and-verification-mechanism-for-bulgaria-and-romania/
    • https://www.euractiv.com/section/politics/news/bulgaria-and-romania-off-the-hook-for-judicial-deficiencies/
    • https://www.politico.eu/article/romania-austria-schengen-accession-lawsuit-marcel-ciolacu-croatia-bulgaria/
    • https://www.rferl.org/a/eu-bulgaria-romania-end-monitoring/32594402.html
    • https://www.rri.ro/en_gb/romania_austria_controversy_over_schengen_enlargement-2690351

 

มอนเตเนโกรระงับการนำเข้าสุกรและผลิตภัณฑ์จากเนื้อสุกรจาก 43 ประเทศทั่วโลก 🐷 เนื่องจากโรค ASF ยังคงระบาดอย่างต่อเนื่อง เป็นโอกาสที่น่าสนใจสำหรับผู้ส่งออกเนื้อสุกรจากไทย

สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์
18-22 กันยายน 2566

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login