วิเคราะห์คู่ค้าไทยใช้ Data Analytics Dashboard ผ่านคิดค้า.com พบไทยเป็นคู่ค้าลำดับที่ 9 ของสิงคโปร์ มีส่วนแบ่งตลาดที่ 2.7% “ข้าวโพดหวาน แป้งข้าวเหนียว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ครองส่วนแบ่งตลาดกว่าครึ่ง
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค. ได้ติดตามเทรนด์สินค้าไทยในตลาดสิงคโปร์จาก Global Demand Dashboard ในเว็บไซต์คิดค้า.com โดยแบ่งกลุ่มสินค้าตามลักษณะการเติบโตของมูลค่าการค้าในปี 2565 เพื่อให้ผู้ประกอบการ นักวิเคราะห์ และประชาชนที่สนใจสามารถนำข้อมูลเบื้องต้นไปใช้ในการตัดสินใจวางแผนธุรกิจในอนาคตได้บนพื้นฐานของข้อมูลที่ถูกต้องและชัดเจน
พบว่า ในปี 2565 ไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 9 ของสิงคโปร์ มีส่วนแบ่งตลาดที่ 2.7% ขยายตัวที่ 33.5% เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า และสิงคโปร์นำเข้าสินค้าจากไทยเป็นมูลค่า 13,061 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่แหล่งนำเข้าอันดับ 1 ของสิงคโปร์ คือ จีน รองลงมา คือ มาเลเซีย และไต้หวัน
สำหรับสินค้าที่ไทยเป็นผู้นำตลาด 3 อันดับแรกที่เป็นผู้นำในตลาดสิงคโปร์ ได้แก่ ข้าวโพดหวานกระป๋องแปรรูป มีส่วนแบ่ง 75% แป้งข้าวเหนียว 71% และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง 64%
นอกจากนี้ การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกยังพบสินค้าที่เติบโตดีในตลาดสิงคโปร์ โดยมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น 3 อันดับแรก ได้แก่ ลำโพงขยายเสียงและส่วนประกอบ มีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น 12.9% กากน้ำตาล เพิ่มขึ้น 9% และน้ำตาลทราย เพิ่มขึ้น 8.5%
ส่วนสินค้าที่ต้องจับตาคู่แข่งทางการค้า แม้สินค้าไทยยังคงส่งออกขยายตัวได้ก็ตาม ได้แก่ ทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูป ซึ่งสิงคโปร์นำเข้าจากไทยขยายตัว 16.6% จากมูลค่านำเข้าในปี 2564 ที่ 991.47 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 1,156.52 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565 แต่พบว่าส่วนแบ่งตลาดลดลง 0.3% และน้ำมันดิน (น้ำมันที่กลั่นจากทาร์ของถ่านหิน) ซึ่งสิงคโปร์นำเข้าจากไทยขยายตัว 88.8% จากมูลค่านำเข้าในปี 2564 ที่ 87.57 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 165.35 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565 แต่พบว่าส่วนแบ่งตลาดลดลง 4.0%
นอกจากนี้ ยังมีสินค้าที่มีต้องปรับตัว เพราะไทยเริ่มสูญเสียส่วนแบ่งตลาดสิงคโปร์ให้กับคู่แข่ง และสิงคโปร์มีแนวโน้มนำเข้าจากไทยลดลง ผู้ประกอบการไทยควรปรับกลยุทธ์การตลาดเพื่อชิงส่วนแบ่งตลาดกลับคืนมา โดยสินค้าที่ต้องปรับตัว 3 อันดับแรก ได้แก่ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์และไดโอด ส่วนแบ่งตลาดลดลง 0.8% เคมีภัณฑ์อินทรีย์ ลดลง 0.4% และเครื่องสำอาง เครื่องหอม สบู่ ลดลง 0.1%
“สินค้าที่ไทยครองส่วนแบ่งตลาดสูง ผู้ประกอบการจะต้องรักษาคุณภาพ มาตรฐาน เพื่อให้สินค้ายังคงเป็นที่ต้องการ ส่วนสินค้าที่เติบโตได้ดี จะต้องมุ่งขยายตลาดเพิ่มขึ้น เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดจากคู่แข่งให้ได้เพิ่มมากขึ้น สำหรับสินค้าที่ไทยกำลังถูกแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดผู้ผลิต ผู้ส่งออก จะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด มองหาสาเหตุ และปรับปรุงสินค้าไทยให้เหนือคู่แข่ง เพื่อให้ยังคงส่วนแบ่งตลาดและชิงส่วนแบ่งตลาดกลับคืนมา”
ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเศรษฐกิจการค้า