หน้าแรกTrade insightข้าว > “ข้าวญี่ปุ่นคุณภาพตก ผลกระทบจากอากาศร้อน”

“ข้าวญี่ปุ่นคุณภาพตก ผลกระทบจากอากาศร้อน”

ผลผลิตข้าวใหม่ปี 2566 กำลังจะเริ่มออกสู่ท้องตลาด และเป็นที่ค่อนข้างแน่ชัดแล้วว่า ผลผลิตปีนี้คุณภาพต่ำลง เนื่องจากอากาศที่ร้อนระอุอย่างต่อเนื่องและฝนไม่ตกทำให้ขาดแคลนน้ำ นอกจากนี้ ต้นข้าวเติบโตเร็วทำให้เก็บเกี่ยวเร็วขึ้น 1 – 2 สัปดาห์เมื่อเทียบกับปีปกติ แหล่งเพาะปลูกต่างๆ จำเป็นต้องรับมือกับปัญหานี้ โดยเฉพาะแหล่งเพาะปลูกข้าวสำคัญอย่างจังหวัดนีงาตะ ข้าวสายพันธุ์ Koshihikari ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักประสบปัญหาอย่างหนักผลผลิตลดลง โดยในปริมาณที่ผลิตได้ทั้งหมดเป็นข้าวคุณภาพระดับ 3 ร้อยละ 70 ข้าวคุณภาพระดับ 2 ร้อยละ 30 และแทบไม่มีผลผลิตที่เป็นข้าวคุณภาพระดับ 1 เลย ซึ่งต่ำสุดเป็นประวัติการณ์
กระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง ได้ประกาศสถานการณ์ผลผลิต ณ วันที่ 15 สิงหาคม 2566 ว่า มี 34 จังหวัด “เหมือนปีที่ผ่านมา” 5 จังหวัด “ค่อนข้างดี” และ 7 จังหวัดซึ่งส่วนใหญ่เป็นจังหวัดทางภาคตะวันตกประเมินสถานการณ์ว่า “ไม่ค่อยดี” ทั้งนี้ จังหวัดฮอกไกโด จังหวัดอิวาเตะ และจังหวัดมิยางิ ที่ประเมินว่า “ค่อนข้างดี” นั้น แม้คุณภาพจะต่ำแต่ปริมาณผลผลิตอยู่ในระดับดี นอกจากนี้ จังหวัดที่แม้ประเมินว่า “เหมือนปีที่ผ่านมา” แต่คาดว่าได้ผลผลิตปริมาณน้อย จึงเป็นที่แน่ชัดว่า ปริมาณผลผลิตเก็บเกี่ยวมีปริมาณต่ำ


“ข้าว” เป็นพืชผลทางการเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากสภาพดินฟ้าอากาศ ที่ผ่านมา หากปีไหนที่เก็บเกี่ยวได้ผลผลิตต่ำก็จะนำข้าวสต็อกของปีก่อนออกมา แต่ปี 2565 ด้วยดินฟ้าอากาศที่แปรปวน ฝนตกหนัก พายุเข้า ทำให้ผลผลิตข้าวจำนวนมากเป็นข้าวเม็ดเล็ก อีกทั้ง รัฐบาลได้ผลักดันนโยบายปลูกพืชทดแทนเพื่อไม่ให้ราคาข้าวตกต่ำ จึงทำให้สต็อกข้าวปีที่แล้วมีไม่มากนัก
ในขณะที่แหล่งเพาะปลูกข้าวมีการวางจำหน่ายข้าวพันธุ์ใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาข้าวที่มีความอร่อยที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่มีความหลากหลายมากขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นการพัฒนาพันธุ์ข้าวที่ทนต่ออากาศร้อนได้จึงทำให้ได้ผลผลิตปริมาณมากขึ้น เช่น สายพันธุ์ “Shinnosuke” ของจังหวัดนีงาตะที่วางแผนปริมาณการจำหน่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 22 จากปีก่อน พันธุ์ข้าว “Ginga no shizuku” ของจังหวัดอิวาเตะ ที่ผลผลิตเพิ่มขึ้นเท่าตัว นอกจากนี้ จังหวัดนีงาตะ กำลังวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มความทนอากาศร้อนให้กับสายพันธุ์ “Koshihikari” ซึ่งเป็นข้าวสายพันธุ์หลักของจังหวัด
ปีเพาะปลูกปีนี้ นับได้ว่าเป็นปีที่ “สภาพอากาศร้อนระดับภัยพิบัติ” และอาจเป็นปีที่เป็นจุดเปลี่ยนของพันธุ์ข้าวด้วยก็เป็นได้

บทวิเคราะห์ (ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย)
ฤดูร้อนของประเทศญี่ปุ่นปีนี้ มีสภาพอากาศที่ร้อนระอุเป็นประวัติการณ์ ส่งผลกระทบต่อพืชผลเกษตรหลายชนิดซึ่งรวมถึงข้าวด้วย ปัญหาโลกร้อนมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นทุกปี อุณหภูมิที่สูงขึ้นจึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยากและอาจส่งผลกระทบต่อปริมาณและคุณภาพของผลผลิตข้าวของญี่ปุ่นในอนาคต
ปี 2565 พื้นที่เพาะปลูกข้าวของญี่ปุ่น เท่ากับ 1,355,000 เฮกตาร์ (หรือ 8,468,750 ไร่) ลดลง 48,000 เฮกตาร์ (หรือ 300,000 ไร่) คาดการณ์ผลผลิต 7.27 ล้านตัน ลดลง 293,000 ตัน (ข้อมูลจากกระทรวงเกษตร ป่าไม้และประมง) ซึ่งลดลงทั้งพื้นที่และปริมาณผลผลิต หากสภาพอากาศที่แปรปรวนส่งผลกระทบต่อผลผลิตข้าวอย่างต่อเนื่อง ก็อาจเป็นไปได้ที่ญี่ปุ่นจะเกิดสถานการณ์ขาดแคลนข้าวเหมือนในอดีตเมื่อปี 2536 ที่ญี่ปุ่นจำเป็นต้องนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ แต่ในตอนนั้น ข้าวไทยที่มีความแตกต่างจากข้าวญี่ปุ่นทำให้ไม่ได้รับความนิยมและมีภาพลักษณ์ว่าเป็นข้าวคุณภาพต่ำ ปัจจุบัน อาหารไทยได้แพร่หลายในประเทศญี่ปุ่น และผู้บริโภคญี่ปุ่นมีความคุ้นเคยกับอาหารไทยซึ่งรวมถึงข้าวไทยมากขึ้น และด้วยความพยายามในการฟื้นฟูภาพลักษณ์ข้าวไทยของรัฐบาล ทำให้ปัจจุบันภาพลักษณ์ข้าวไทยเปลี่ยนไปจากอดีตและเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคญี่ปุ่น

 

ฉบับที่ 1 ประจำวันที่ 30 กันยายน – 6 ตุลาคม 2566
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
แปลและเรียบเรียงจาก
หนังสือพิมพ์ The Japan Food Journal ฉบับวันที่ 25 กันยายน 2566
ภาพประกอบบทความจากเว็บไซต์
https://shinnosuke.niigata.jp/

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login