หน้าแรกTrade insightธุรกิจ Wellness > ข้อเสนอเพื่อชดเชยกรณีแป้งเด็กของ Johnson & Johnson

ข้อเสนอเพื่อชดเชยกรณีแป้งเด็กของ Johnson & Johnson

บริษัท Johnson & Johnson ได้แถลงว่าบริษัทได้เสนอข้อตกลงให้แก่ผู้ฟ้องร้องบริษัทจำนวนกว่า 10,000 คน จากคดีที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์แป้งที่มีส่วนผสมของสารทัลคัมซึ่งอ้างว่าเป็นสารก่อมะเร็ง ด้วยเงินชดเชยมูลค่า 65,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งการเจรจาครั้งนี้นับเป็นความพยายามครั้งที่ 3

 

การยื่นข้อเสนอดังกล่าวเพื่อต้องการยุติการฟ้องร้องที่กล่าวหาว่าส่วนผสมของสารทัลคัมเป็นสารที่ก่อให้เกิดมะเร็งรังไข่ ข้อเสนอใหม่นี้ได้ดำเนินการภายใต้เงื่อนไขของกฎหมายล้มละลายในการยุติการเรียกร้องเช่นเดียวกับความพยายามในการไกล่เกลี่ยของ 2 ครั้งที่ผ่านมาเมื่อปี 2564 และ 2567

 

ผู้พิพากษาได้ปฏิเสธการไกล่เกลี่ยใน 2 ครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากศาลล้มละลายไม่เกี่ยวข้องกับกระบวนการดังกล่าว อย่างไรก็ดี บริษัท Johnson & Johnson มีแผนที่จะอุทธรณ์การพิจารณาของศาลล้มละลายต่อศาลสูงสุดสหรัฐ (Supreme Court) ทั้งนี้ บริษัทไม่ได้ชี้แจงว่าทำไมความพยายามครั้งนี้จะผ่านการพิจารณาของ Supreme Court โดยตัวแทนของบริษัท Johnson & Johnson ไม่ขอแสดงความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าว

 

บริษัทได้พยายามหาข้อยุติทางกฎหมายมากว่า 10 ปี เพื่อรับผิดชอบต่อผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากการใช้แป้งเด็กจากการกล่าวอ้างว่าแป้งเด็กมีสารทัลคัมที่ปนเปื้อนแร่ใยหินแอสเบสโทสซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง ทำให้ผู้บริโภค 1,000 กว่าคนเป็นมะเร็งรังไข่และมะเร็งเยื่อหุ้มปอด (Mesothelioma) ซึ่งบริษัท Johnson & Johnson ได้ปฏิเสธการกล่าวอ้างดังกล่าวมาโดยตลอด อย่างไรก็ดี ในปี 2567 บริษัทได้หยุดการจำหน่ายแป้งเด็กทั่วโลกที่มีส่วนผสมของสารทัลคัม

 

ปี 2566 บริษัท Johnson & Johnson ได้เสนอเงินชดเชย 89,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้แก่ผู้เสียหาย 40,000 ราย เพื่อยุติการฟ้องร้องผ่านบริษัทลูกที่ก่อตั้งเมื่อปี 2564 เพื่อจัดการกับคดีฟ้องร้องที่เกี่ยวข้องกับแป้งฝุ่นที่มีส่วนผสมของสารทัลคัมโดยเฉพาะ แผนของบริษัทคือการใช้กลไกของบริษัทลูกในการยื่นขอความคุ้มครองจากศาลล้มละลายเพื่อเบิกจ่ายเงินชดเชยและยุติข้อพิพาททางกฎหมาย

 

Ms.Lindsey Simon ศาสตร์จารย์ด้านการล้มละลาย คณะนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัย Emory กล่าวว่าศาลล้มละลายสามารถอนุญาตให้บริษัทยุติการฟ้องร้องจากผู้ร้องเรียนที่ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของบริษัท คำตัดสินของกฎหมายล้มละลายสามารถบังคับให้ผู้ร้องเรียนต้องยอมรับข้อเสนอของบริษัทและเป็นกระบวนการที่ค่อนข้างส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวมีมูลค่าสูงและหากผู้ร้องเรียนปฏิเสธข้อเสนอในครั้งนี้ก็อาจจะไม่ได้เงินชดเชยจำนวนมากอีกแล้ว

 

อย่างไรก็ดี ผู้พิพากษาได้ปฏิเสธคำร้องของบริษัทในเดือนกรกฎาคม 2567 เนื่องจากบริษัท Johnson & Johnson ไม่ได้มีปัญหาทางการเงินอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการยื่นขอล้มละลาย ซึ่งความพยายามในการไกล่เกลี่ยในครั้งแรกปี 2564 นั้นก็ถูกผู้พิพากษาปฏิเสธเนื่องจากเหตุผลเดียวกัน

 

ข้อตกลงล่าสุดล่าสุดขึ้นอยู่กับการปรับโครงสร้างตามมาตรา 11 เพื่อขอฟื้นฟูกิจการโดยบริษัทลูกของบริษัท Johnson & Johnson ภายใต้ชื่อบริษัท LLT Management ซึ่งจดทะเบียนบริษัทในรัฐเท็กซัส หรือบริษัท LTL Management เดิมในรัฐนิวเจอร์ซีย์ ทั้งนี้ ศาลล้มละลายเท็กซัสมีความผ่อนปรนในการตีความหลักเกณฑ์มากกว่า จึงทำให้มีแนวโน้มว่าบริษัทที่ยื่นขอล้มละลายจะได้รับการคุ้มครองมากขึ้น

 

นาย Erik Haas หัวหน้าฝ่ายดำเนินคดีของบริษัท Johnson & Johnson ได้กล่าวว่าบริษัทหวังว่าผู้เสียหายจะยอมรับข้อเสนอเพื่อยุติการเรียกร้องแทนที่ผู้เสียหายจะต้องดำเนินการทางกฎหมาย ทั้งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่ผู้เสียหายจะต้องจ่ายให้กับทนายความเพื่อดำเนินการทางกฎหมาย

 

นาย Andy Birchfield ทนายความบริษัทกฎหมาย Beasley Allen ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้เสียหายได้กล่าวว่าการยื่นล้มละลายที่มีการชักชวนให้รับเงินชดเชยและการลงมติให้เห็นชอบข้อเสนอเป็นการฉ้อโกงและเป็นการกระทำที่ไม่สุจริตตามกฎหมายล้มละลาย

 

ข้อมูลตลาดแป้งทาตัวและแป้งเด็ก

ข้อมูลจาก Euromonitor พบว่ามูลค่าการตลาดของอุตสาหกรรมแป้งทาตัวและแป้งเด็กปี 2566 อยู่ที่ 123.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มจากปีก่อนหน้าร้อยละ 8.1 โดยแบรนด์ที่เป็นเจ้าตลาดแป้งทาตัวและแป้งเด็กปี 2564 คือ Johnson & Johnson ซึ่งมีผู้บริโภคกว่า 43.34 ล้านคน รองลงมาคือแบรนด์ Shower to shower 16.37 ล้านคน และแบรนด์ห้างร้าน (Store Brand) 16.33 ล้านคน

จำนวนผู้บริโภคชาวอเมริกันแบ่งตามแบรนด์

ที่มา: Statista

 

ข้อเสนอแนะของสคต. นิวยอร์ก

ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างรวดเร็ว เนื่องจากทำให้ผู้บริโภคได้รับความเดือดร้อนและอาจกลายเป็นข้อพิพาททางกฎหมายในระยะยาวที่จะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของแบรนด์ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยและผู้ส่งออกไทยที่เกี่ยวกับข้องกับสินค้าบริโภคหรือสินค้าที่ต้องใช้กับผิวจะต้องศึกษาผลกระทบของผลิตภัณฑ์อย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อแบรนด์และผลกระทบในการดำเนินธุรกิจในการชดเชยความเสียหายแก่ผู้บริโภคได้

 

ข้อมูลอ้างอิง: NYTimes

อ่านข่าวฉบับเต็ม : ข้อเสนอเพื่อชดเชยกรณีแป้งเด็กของ Johnson & Johnson

Login