หน้าแรกTrade insightธุรกิจ Logistics > ขั้นตอนทั่วไปสำหรับการส่งออกสินค้าจากไทยไปยังอียิปต์

ขั้นตอนทั่วไปสำหรับการส่งออกสินค้าจากไทยไปยังอียิปต์

ภูมิภาคแอฟริกาเหนือประกอบด้วยประชากรกว่า 250 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรทั้งทวีปแอฟริกา โดยอียิปต์เป็นประเทศที่มีประชากรสูงสุดในภูมิภาค คือ กว่า 100 ล้านคน และเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับต้น ๆ ของไทยในภูมิภาค  อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าไทยไปยังอียิปต์มีกระบวนเฉพาะและหลายขั้นตอน ตั้งแต่การระบุผู้นำเข้าอียิปต์ที่มีศักยภาพและมีความน่าเชื่อถือ การปฏิบัติตามกฎระเบียบการนำเข้าซึ่งอาจมีเปลี่ยนแปลงเป็นระยะ ๆ การพิจารณากำหนดเทอมทางการค้าและรูปแบบการชำระเงินที่เหมาะสม รวมถึงการขอใบอนุญาตและหนังรับรองที่เกี่ยวข้อง โดยขั้นตอนการส่งออกสินค้าไปอียิตป์ในกรณีทั่วไปมีดังนี้

1. การระบุผู้นำเข้า
ชาวอียิปต์ที่มีศักยภาพ
และน่าเชื่อถือ
– ต้องพิจารณาระบุผู้นำเข้าชาวอียิปต์ด้วยความรอบคอบ โดยจะต้องเป็นผู้นำเข้าที่มีความน่าเชื่อถือ ดำเนินการธุรกิจมาพอสมควร และมืเครือข่ายธุรกิจในอียิปต์

– อาจสืบค้นหาผู้นำเข้าชาวอียิปต์ที่มีศักยภาพจากแหล่งที่น่าเชื่อ เช่น งานแสดงสินค้าที่จัดโดยภาครัฐ เครือข่ายธุรกิจ และสภาหอการค้าอียิปต์

2. ศึกษากฎระเบียบและมาตรการการนำเข้า – ต้องศึกษา ทำความเข้าใจ และปฏิบัติตามกฎระเบียบการนำเข้าของอียิปต์ โดยสามารถค้นหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ โดยเฉพาะหน่วยงานศุลกากรอียิปต์

– ควรศึกษาและเรียนรู้ประสบการณ์จากผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จทั้งไทยและอียิปต์ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดความราบรื่นในการส่งออกยิ่งขึ้น

– ติดตามข่าวสารกฎระเบียบการนำเข้าอียิปต์อย่างสม่ำเสมอ

– ทั้งนี้ อียิปต์กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนแปลงไปสู่การใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่ออำนวยความสะดวกการค้าอย่างเต็มรูปแบบ โดยมีความจำเป็นต้องลงทะเบียนนำเข้าสินค้าล่วงหน้าก่อนการนำเข้า (ผ่านทางออนไลน์) หรือ Advance Cargo Information System (ACI) รวมถึงการพัฒนามาตรฐานสินค้าและโรงงาน โดยมีความจำเป็นต้องจดทะเบียนโรงงานสำหรับสินค้าที่จะส่งออกมาอียิปต์ รายชื่อสินค้าตามประกาศของกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของอียิปต์ โดยจะอธิบายโดยละเอียดในลำดับต่อไป

3. การดำเนินการ
ด้านเอกสารจำเป็น
– ต้องดำเนินการด้านเอกสารจำเป็นอย่างครบถ้วน ในทุกขั้นตอนการส่งออกให้เสร็จสมบูรณ์ เช่น ใบกำกับสินค้า รายการบรรจุหีบห่อ ใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า และใบส่งสินค้า
4. การดำเนินการ

ด้านโลจิสติกส์

– ต้องพิจารณารูปแบบและวิธีการการขนส่งสินค้าไปยังอียิปต์อย่างเหมาะสม ขึ้นอยู่กับลักษณะของสินค้า อายุของสินค้า และงบประมาณ
5. การดำเนินการ
ด้านการชำระเงิน
– ต้องพิจารณากำหนดเทอมทางการค้า และเงื่อนไขการชำระเงินให้เหมาะสม

– ทั้งนี้ วิธีการที่แนะนำ คือ การเปิด L/C เพี่อลดความเสี่ยง

6. การดำเนินการ
ด้านอื่น ๆ
– การส่งออกสินค้าไปยังอียิปต์อาจมีขั้นตอนและกระบวนการเพิ่มเติม ขึ้นอยู่กับลักษณะของสินค้าและข้อบังคับเฉพาะของอียิปต์ เช่น มาตรฐานสินค้า มาตรฐานโรงงาน มาตรการด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช การฉลาก

ทั้งนี้ ขั้นตอนสำคัญในการส่งออกสินค้าไปยังอียิปต์ ได้แก่ การลงทะเบียนนำเข้าสินค้าล่วงหน้าก่อนการนำเข้า และการจดทะเบียนโรงงาน

การลงทะเบียนล่วงหน้าเพื่อนำเข้าสินค้ามายังอียิปต์ (Advance Cargo Information System: ACI) อียิปต์ได้เริ่มนำระบบดังกล่าวมาใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 โดยทุกชิปเมนต์ที่จะนำเข้ามาอียิปต์ ผู้นำเข้าจะต้องดำเนินการลงทะเบียนล่วงหน้าภายใต้ระบบ Nafeza หรือเรียกว่าเป็นระบบหน้าต่างเดียว Single Window ของศุลกากรอียิปต์ โดยผู้นำเข้าจะต้องกรอกข้อมูลรายละเอียดของผู้ส่งออกและข้อมูลของสินค้าที่จะนำเข้าผ่าน Nafeza Platform ดังกล่าว ซึ่งเมื่อศุลกากรอียิปต์ตรวจประเมินแล้ว ไม่มีข้อขัดข้อง ก็จะแจ้ง ACID number (หมายเลข 19 หลัก) ให้ผู้นำเข้าทราบ เพื่อแจ้งผู้ส่งออกให้ระบุในเอกสาร shipping documents ที่เกี่ยวข้องต่างๆ เช่น commercial invoice  ใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Packing List และ B/L

จากนั้น ผู้ส่งออกจึงทำการส่งเอกสารทางการค้าต่าง ๆ ให้กับผู้นำเข้าและศุลกากรอียิปต์ผ่านระบบ blockchain ซึ่งมี CargoX เป็นผู้ให้บริการ โดยจะต้องทำการส่งเอกสารต่างๆ เข้าระบบก่อนที่สินค้าจะมาถึงท่าเรือปลายทาง มิเช่นนั้นจะไม่สามารถตรวจปล่อยสินค้าได้

นอกจากนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ศุลกากรอียิปต์ได้เริ่มใช้ระบบดังกล่าวกับการขนส่งทางอากาศ หรือ Air Cargo ด้วยเช่นเดียวกัน โดยขั้นตอนและวิธีปฏิบัติ ก็เช่นเดียวกับการขนส่งทางเรือ ซึ่งขณะนี้ ได้เปิดให้เริ่มทดลองใช้บริการได้แล้วเช่นเดียวกัน  ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยที่มีการส่งออกทางอากาศมายังอียิปต์จะต้องเตรียมความพร้อมและประสานกับผู้นำเข้าเพื่อการลงทะเบียนล่วงหน้าสินค้าที่จะนำเข้าทางอากาศภายใต้ระบบดังกล่าวด้วยเช่นเดียวกัน

ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ธนาคารพาณิชย์ในอียิปต์ก็ได้เชื่อมโยงเข้ากับระบบ Nafeza ด้วยแล้ว ซึ่งจะทำให้การจัดส่งเอกสารต่าง ๆ ทั้งเอกสารทางการค้าและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการจ่ายชำระเงิน สามารถเข้าสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์เชื่อมโยงกันได้อย่างครบวงจรมากขึ้น และหากในอนาคตหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในประเทศของอียิปต์สามารถเข้าร่วมในระบบดังกล่าวได้อย่างครบถ้วน ก็น่าจะไม่ต้องส่งเอกสารทางการค้าที่เป็นกระดาษควบคู่กันไปอีก และสอดคล้องกับนโยบายของอียิปต์ที่จะพัฒนาประเทศไปสู่ Digital Economy ภายในปี 2573 (ค.ศ. 2030)

 

การจดทะเบียนโรงงาน (Factory Registration)

กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของอียิปต์ได้ออกประกาศเลขที่ 43/2016 เมื่อปี 2559 เรื่องการขอจดทะเบียนโรงงานสำหรับผู้ส่งออกสินค้าตามที่ระบุไว้ท้ายประกาศของกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของอียิปต์ ซึ่งจะต้องดำเนินการขออนุญาตจดทะเบียนโรงงานก่อนการส่งออก

สินค้าหลักที่จะต้องขอจดทะเบียนโรงงานก่อนการส่งออกและเป็นสินค้าที่มีศักยภาพในการส่งออกของไทย ได้แก่ ผลไม้แห้ง (พิกัดตอนที่ 8) น้ำมันและไขมัน (พิกัดตอนที่ 15) ผลิตภัณฑ์อาหารที่ประกอบด้วยช็อคโกแล็ต (พิกัดตอนที่ 18) น้ำผลไม้ (พิกัดตอนที่ 20) เครื่องสำอาง (พิกัดตอนที่ 33) สบู่ (พิกัดตอนที่ 34) ผลิตภัณฑ์เครื่องแก้ว (พิกัดตอนที่ 70) เครื่องใช้ในครัว (พิกัดตอนที่ 39/44/69/73/74/76/82) สิ่งทอ เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย (พิกัดตอนที่ 50-55/58/60-63) รองเท้า (พิกัดตอนที่ 64) เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก (พิกัดตอนที่ 72) ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้า (พิกัดตอนที่ 84-85) รถจักรยานและจักรยานยนต์ (พิกัดตอนที่ 87) ของเล่นเด็ก (พิกัดตอนที่ 95) และเฟอร์นิเจอร์ (พิกัดตอนที่ 94)

ดังนั้น ก่อนที่ผู้ประกอบการจะส่งออก จึงควรตรวจสอบรายการสินค้าของตนว่าอยู่ภายใต้ประกาศดังกล่าวของกระทรวงการค้าฯ หรือไม่ เนื่องจากจะต้องได้รับอนุญาตและผ่านการตรวจสอบรับรองจากหน่วยงานด้านมาตรฐานภายใต้กระทรวงการค้าฯ ก่อน  โดยผู้ประกอบการจะต้องจัดเตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้อง อาทิ หนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัท หนังสือการจดทะเบียนโรงงาน หนังสือรับรองเครื่องหมายการค้า ใบรองด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ตามเกณฑ์มาตรฐานสากล และจัดส่งให้กับผู้นำเข้าเพื่อนำไปยื่นขออนุญาตก่อนการนำเข้า เมือ่ได้รับอนุญาตแล้วจึงจะเริ่มกระบวนการส่งออกมาได้

 

ความเห็น/ข้อเสนอแนะ

ปัจจุบัน อียิปต์กำลังเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจหลายประการ รวมถึงการว่างงานที่สูง ภาวะเงินเฟ้อ การขาดดุลงบประมาณจำนวนมาก ภาระหนี้สาธารณะในระดับสูง และการขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ  ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจอียิปต์ รวมถึงการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้า-ส่งออกสินค้าไปยังอียิปต์  โดยเฉพาะภาวะการขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ ซึ่งดำเนินมาตั้งแต่ปลายปี 2565 ทำให้ธนาคารกลางอียิปต์ต้องเข้ามาควบคุมการชำระเงินระหว่างประเทศ รวมถึงการพิจารณาอนุมัติให้ชำระค่าสินค้านำเข้าเกือบทุกรายการจากทุกประเทศทั่วโลก ซึ่งในบางกรณีอาจใช้เวลาอนุมัติมากกว่า 8 เดือน ส่งผลให้มีสินค้าติดค้างอยู่ที่ท่าเรือเป็นจำนวนมาก และผู้ส่งออกต้องเสียค่า Demurrage charge โดยไม่มีความจำเป็น

นอกจากนี้ รัฐบาลอียิปต์ยังมีการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบในการนำเข้าสินค้าเป็นระยะ ๆ เช่น การบังคับให้เปิด L/C (ปัจจุบันยกเลิกแล้ว) การบังคับให้สินค้านมและเนื้อสัตว์จะต้องได้รับตราฮาลาล “ISEG Halal” ที่พิจารณาอนุมัติตราดังกล่าวได้จากองค์เดียวเท่านั้น การให้แรงจูงใจภาษีนำเข้ากับสินค้าวัตถุดิบเพื่อกระตุ้นให้เกิดการผลิตภายในประเทศ  ซึ่งล้วนส่งผลกระทบกับการส่งออกสินค้าจากไทยไปยังอียิปต์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผู้ประกอบการไทยที่ส่งออกสินค้าไปยังอียิปต์จะต้องติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด เพื่อพิจารณากำหนดรูปแบบ ช่วงเวลา และเทอมการชำระเงิน อย่างเหมาะสมเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ทางการค้า โดยมีความเสี่ยงน้อยที่สุด

——————————————————-

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login