หน้าแรกTrade insightอุตสาหกรรมอื่นๆ > ของเล่นเสริมทักษะกำลังมาแรงในสหรัฐฯ

ของเล่นเสริมทักษะกำลังมาแรงในสหรัฐฯ

ของเล่นเสริมทักษะกำลังมาแรงในสหรัฐฯ

ตลาดจำหน่ายของเล่นและเกมส์ในสหรัฐฯ ปี 2565 มีมูลค่า 30,805 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 0.5% อย่างไรก็ตามปี 2566 คาดการณ์ว่าตลาดจำหน่ายของเล่นและเกมส์ในสหรัฐฯ น่าจะมีการเติบโตเพิ่มขึ้นอีก 5.1% โดยอาศัยแรงหนุนของอิทธิพลสื่อออนไลน์ที่เข้ามาช่วยกระตุ้นอุปสงค์ของผู้บริโภค ทำให้เกิดความต้องการสินค้าใหม่ๆ ตลอดจนการเติบโตของอุปสงค์กลุ่มสินค้านวัตกรรมที่สามารถเสริมทักษะให้กับเด็ก มีการขยายตัวอย่างมาก คาดว่าน่าจะมีการขยายตัวมากกว่า 24,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในช่วง 2563-2567 และการสนับสนุนของกลุ่มผู้บริโภค Kidults ที่เข้ามามีบทบาทและช่วยกระตุ้นการเติบโตของอุตสาหกรรมของเล่น โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มของเล่นและของสะสม

การจำหน่ายสินค้าของเล่นและเกมส์ในสหรัฐฯ ปี 2565 พบว่า ตุ๊กตาและของตกแต่งมีมูลค่าการจำหน่ายมากที่สุดอยู่ที่ 5,560.40 ล้านเหรียญสหรัฐ (-7.1% เทียบกับปีที่ผ่านมา) รองลงมาเกมส์พัฒนาสมองและเสริมสร้างการเรียนรู้ มีมูลค่า 4,121.80 ล้านเหรียญสหรัฐ (-1% เทียบกับปีที่ผ่านมา) และตัวต่อเสริมทักษะ มีมูลค่า 3,905.70 ล้านเหรียญสหรัฐ (+13.6% เทียบกับปีที่ผ่านมา)

โดยบริษัทจำหน่ายสินค้าของเล่นและเกมส์ในสหรัฐฯ ที่มีส่วนแบ่งในตลาดมากเป็นอันดับต้นของปี 2565 ได้แก่ บริษัท Hasbro (มีส่วนแบ่งในตลาด 15.5%) รองลงมา คือ บริษัท Mattel (มีส่วนแบ่งในตลาด 13.3%) บริษัท Lego group (มีส่วนแบ่งในตลาด 11.2%) บริษัท MGA Entertainment (มีส่วนแบ่งในตลาด 5.9%) และบริษัท Spin Master (มีส่วนแบ่งในตลาด 4.5%) ตามลำดับ

ในส่วนของช่องทางการจำหน่ายของเล่นและเกมส์ในสหรัฐฯ สามารถแบ่งออกเป็น 2 ช่องทางที่สำคัญ คือ

  1. ออฟไลน์ (66%) ได้แก่ ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ ร้านค้าส่ง ร้านค้าปลีก ร้านจำหน่ายอุปกรณ์สันทนาการและการกีฬา และร้าน specialty ตามลำดับ
  2. ออนไลน์ (34%) ผ่านทางแพลตฟอร์มชั้นนำ เช่น Amazon, Walmart Marketplace, Target เป็นต้น จากข้อมูลของ Statista ระบุว่า Amazon เป็นผู้นำตลาด E-Commerce ในตลาดของเล่นและเกมส์ในสหรัฐฯ โดยในปี 2564 มียอดจำหน่าย ประมาณ 6,292 ล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมา คือ Walmart.com มูลค่าจำหน่ายประมาณ 4,645 ล้านเหรียญสหรัฐและ Target.com มูลค่าจำหน่ายประมาณ 1,621 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ

การจำหน่ายสินค้าของเล่นเพื่อเสริมทักษะในตลาดอเมริกาเหนือ มีมูลค่าประมาณ 24,980 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 38% ของตลาดของเล่นทั้งหมด อนึ่ง จากแนวโน้มดังกล่าวพบว่าตลาดสหรัฐฯ มีความต้องการสินค้าของเล่นเพื่อเสริมทักษะเพิ่มมากขึ้น โดยแนวโน้มที่น่าสนใจ มีดังนี้

  1. ความต้องการของเล่นอัจฉริยะเพิ่มมากขึ้น ของเล่นอัจฉริยะหรือปัญญาประดิษฐ์ ปี 2564 มีมูลค่าประมาณ 11,720 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าน่าจะมีการขยายตัวที่ 16.4%
  2. การซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ผู้บริโภคเกิดการรับรู้ถึงสินค้านวัตกรรมใหม่ๆ และอรรถประโยชน์ของสินค้าเพิ่มมากขึ้น ตลอดจนทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินค้าได้โดยสะดวกมากขึ้น น่าจะเป็นโอกาสที่ดีในการขยายตลาดดังกล่าว แต่อุปสรรคของแบรนด์น้องใหม่ที่ต้องเผชิญเมื่อเข้ามาเจาะตลาดสหรัฐฯ คือ การแข่งขันทางด้านราคา การเข้าถึงผู้บริโภคและถูกลอกเลียนแบบจากคู่แข่ง
  3. ความต้องการของเล่นสำหรับการศึกษา S.T.E.M (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ คณิตศาสตร์) เพิ่มมากขึ้น โดยทั่วไปผู้ปกครองใส่ใจเรื่องการศึกษาของบุตรหลานมากขึ้นและพร้อมที่จะลงทุนในการซื้อสินค้าดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น
  4. กลุ่มเด็กอายุแรกเกิด-4 ปี คาดว่าน่าจะเป็นกลุ่มสำคัญที่ช่วยผลักดันการเติบโตของตลาดของเล่นเสริมทักษะ เนื่องจากผู้ปกครองต้องการเตรียมพื้นฐานที่มั่นคงให้กับเด็กวัยวัยเริ่มเรียนรู้
  5. การเติบโตของของเล่นเพื่อการศึกษาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและปลอดสารพิษมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น

สำหรับผู้ส่งออกของเล่นไทยที่ยังไม่เคยจำหน่ายในตลาดสหรัฐฯ การเข้ารวมงานแสดงสินค้า Toy fair (https://toyfairny.com/) ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 30 กันยายน-3 ตุลาคม 2566 ณ นครนิวยอร์ก และงาน NYNOW (https://nynow.com/) ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 13-16 สิงหาคม 2566 และ 4-7 กุมภาพันธ์ 2567 ณ นครนิวยอร์ก จะช่วยสร้างโอกาสในการเข้าถึงผู้ซื้อในตลาดสหรัฐฯ ได้ อย่างไรก็ดี ผู้ส่งออกไทยควรเข้าร่วมงานอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ซื้อ

นอกจากการเข้าร่วมงานแล้ว การหาตัวแทนจำหน่ายในตลาดสหรัฐฯ น่าจะเป็นอีกทางเลือกที่สามารถสร้างเครือข่ายและช่วยในการเจาะตลาดแบบระยะยาวได้ ทั้งนี้ การจำหน่ายผ่าน E-Commerce และการประชาสัมพันธ์ออนไลน์ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยสร้างกระแสนิยมผ่านผู้บริโภคและกระตุ้นอุปสงค์ให้ผู้ซื้อ (buyer) เกิดความสนใจที่จะนำเข้าสินค้าในอนาคตต่อไปได้

ที่มา :

Euromonitor.com/Maximizemarketresearch.com/ /Timeout.com/Statista.com

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login