หน้าแรกTrade insight > ขยะพลาสติกและขยะบรรจุภัณฑ์เพิ่มสูงขึ้นในประเทศเยอรมนี

ขยะพลาสติกและขยะบรรจุภัณฑ์เพิ่มสูงขึ้นในประเทศเยอรมนี

สมาคมช่วยเหลือสิ่งแวดล้อมแห่งเยอรมนี (Deutschen Umwelthilfe, DUH) รายงานว่า ปัจจุบัน บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติกที่ใช้แล้วทิ้งมีจำนวนสูงขึ้น และก่อให้เกิดขยะพลาสติกจำนวนมาก เพื่อไม่ให้วิกฤตขยะพลาสติกรุนแรงขึ้น จำเป็นต้องลดจำนวนขยะพลาสติกให้ได้อย่างน้อยครึ่งหนึ่งภายในปี 2570 ซูเปอร์มาร์เก็ตและร้าน Discounter ชื่อดัง 3 รายในประเทศเยอรมนี ได้แก่ Aldi Nord, Aldi Süd และ Lidl กำลังถูกจับตาและวิพากษ์วิจารณ์เป็นพิเศษ

การจับจ่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตและร้าน Discounter ไม่ว่าจะเป็นพริกสามสีหรือผักสลัดในห่อพลาสติก ยาสีฟันในกล่องกระดาษแข็ง ขวดนมใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ล้วนส่งผลให้เกิดขยะจากบรรจุภัณฑ์เป็นจำนวนมากและรวดเร็ว ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ได้มาจากการตัดสินใจของผู้บริโภค แต่เป็นผู้ประกอบการมากกว่าที่เสนอสินค้าของตนด้วยหีบห่อบรรจุภัณฑ์ หรือภาชนะที่ใช้แล้วทิ้งมากเกินความจำเป็น

จากการสำรวจล่าสุดในปี 2566 ของ สมาคม DUH พบว่า ร้านค้าและซูเปอร์มาร์เก็ตที่มีสาขาทั่วประเทศ จำนวน 5 ราย ไม่มีการนำเสนอบรรจุภัณฑ์แบบใช้แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ได้อีกกับผลิตภัณฑ์นมและโยเกิร์ต ซึ่งผลการสำรวจในต้นปี 2565 ก็ได้ข้อสรุปเช่นเดียวกัน สำหรับบรรจุภัณฑ์ในผักและผลไม้มีอัตราส่วนลดลงเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน

ซูเปอร์มาร์เก็ตและร้าน Discounter ที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษอย่าง Aldi Nord, Aldi Süd และ Lidl นั้นไม่พบบรรจุภัณฑ์ที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ไม่ว่าจะบนชั้นวางสินค้านมหรือกลุ่มเครื่องดื่ม Aldi Süd ออกมาประกาศว่า ในปี 2567 จะเริ่มใช้ขวดที่ใช้ซ้ำได้ในกลุ่มสินค้าเครื่องดื่ม ทั้ง Aldi Nord และ Aldi Süd ระบุว่า ภายในสิ้นปี 2568 ประมาณร้อยละ 40 ของผักและผลไม้ที่วางจำหน่ายในซูเปอร์จะไม่บรรจุหีบห่อ และจะมุ่งเน้นการใช้พลาสติกรีไซเคิลแทน

นาง Barbara Metz กรรมการผู้จัดการของ DUH กล่าวว่า จากการสำรวจตามท้องตลาดมีการใช้บรรจุภัณฑ์แบบใช้แล้วทิ้ง และพลาสติกบรรจุหีบห่อมากเกินความจำเป็น จนก่อให้เกิดขยะจำนวนมาก แม้แต่ผักและผลไม้ที่มีความแข็ง เช่น แครอท แอปเปิ้ล หรือพริกหยวก ก็มักจะนำเสนอในบรรจุภัณฑ์แบบใช้แล้วทิ้งมากกว่าแบบไม่มีหีบห่อ หากเราไม่ต้องการให้วิกฤตพลาสติกทวีความรุนแรงมากขึ้น ทุกคนต้องช่วยกันลดปริมาณขยะจากบรรจุภัณฑ์ต่างๆให้ได้ครึ่งหนึ่ง ภายในปี 2570 และเก็บค่าประกันขวด กระป๋อง หรือกล่องเครื่องดื่มแบบใช้แล้วทิ้งอย่างน้อย 20 เซ็นต์

ทั้งนี้ ไม่ใช่ว่าบรรจุภัณฑ์ประเภทขวดที่ส่งคืนได้ ทั้งหมดจะเป็นขวดที่นำกลับมาใช้ซ้ำได้ ขวดที่เรานำไปคืนตามตู้รับคืนขวดอัตโนมัติซึ่งจะถูกตัด บด และรีไซเคิลในภายหลังนั้นถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่แบบใช้ครั้งเดียว แต่บรรจุภัณฑ์แบบใช้ซ้ำได้มักเป็นภาชนะที่สามารถทำความสะอาด และนำกลับมาบรรจุซ้ำอีกได้

ขยะจากบรรจุภัณฑ์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จากข้อมูลของกระทรวงสิ่งแวดล้อมของเยอรมันพบว่า ในปี 2563 มีขยะจากบรรจุภัณฑ์ประมาณ 18.8 ล้านตัน ในขณะที่ 10 ปีก่อน มีขยะจากบรรจุภัณฑ์ประมาณ 16 ล้านตัน ซึ่งเท่ากับว่าชาวเยอรมันผลิตขยะจากบรรจุภัณฑ์ประมาณ 225 กิโลกรัมต่อหัว โดยขยะที่ถูกผลิตเหล่านี้มากกว่า 8.3 ล้านตันมาจากกระดาษ กระดาษแข็ง และกล่องกระดาษ ประมาณ 3.22 ล้านตันมาจากขยะพลาสติก และมากกว่า 3 ล้านตันมาจากขยะจากแก้ว ที่น่าจับตาเป็นพิเศษ คือ ขยะจากอะลูมิเนียม ที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นจาก 90,600 ตันในปี 2553 เป็น 140,000 ตันในปี 2563

สัดส่วนของครัวเรือนขนาดเล็กที่มีสมาชิก 1-2 คน รวมทั้งจำนวนผู้สูงอายุกำลังเพิ่มขึ้นซึ่งจะส่งผลต่อการผลิตขยะจากบรรจุภัณฑ์ลำดับต่อไป เนื่องจากว่าผู้ประกอบการจะเสนอสินค้าที่มีขนาดหรือหน่วยที่เล็กลง ทำให้ปริมาณหีบห่อบรรจุภัณฑ์เพิ่มขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้ พฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไป ทั้งการบริโภคอาหารจานด่วน อาหารซื้อกลับบ้าน และอาหารสำเร็จรูปก็เป็นการเพิ่มขยะบรรจุภัณฑ์เช่นเดียวกัน

ในรายงานของ DUH ให้ความเห็นว่า สำหรับลูกค้าแล้ว ความยั่งยืนของผลิตภัณฑ์ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการซื้อสินค้า เพื่อให้ลูกค้าสามารถตัดสินใจได้ง่าย บรรดาร้านค้าปลีกควรมีข้อเสนอที่เหมาะสม และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปัจจุบัน มีร้านค้าหลายแห่งโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ มีทางเลือกในการจับจ่ายซื้อของ โดยไม่มีหีบห่อบรรจุภัณฑ์ให้ลูกค้าของตน เพื่อลดการผลิตขยะเพิ่ม แต่ส่วนแบ่งทางการตลาดของร้านเหล่านี้ยังค่อนข้างน้อยอยู่

นาง Antje Gerstein จากสมาคมการค้าแห่งเยอรมัน (Handelsverband Deutschland, HDE) กล่าวว่า ผู้ประกอบการด้านอาหารมีความพร้อมและมุ่งมั่นในการลดขยะจากบรรจุภัณฑ์ ซึ่งเห็นได้ชัดจากร้านค้าปลีกที่ขายผักและผลไม้ต่างเริ่มหันมาใช้ถุงตาข่ายที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ เพื่อช่วยลดการใช้ถุงพลาสติก อีกทั้งยังมีความพยายามลดวัสดุในการผลิตบรรจุภัณฑ์ให้บางลงในผลิตภัณฑ์นมและเครื่องดื่มของตน เพื่อลดการหมุนเวียนของบรรจุภัณฑ์ การวางมัดจำสำหรับบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มที่ใช้ซ้ำไม่ได้จะทำให้ระบบมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ในประเทศเยอรมนี กฎหมายบรรจุภัณฑ์ฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 ซึ่งร้านอาหารต้องนำเสนอบรรจุภัณฑ์ที่นำกลับมาใช้ซ้ำได้ให้ลูกค้าที่ซื้ออาหารกลับบ้าน แต่ก็ยังไม่ถูกถือปฏิบัติเท่าที่ควร จนกระทั่งกลางเดือนพฤษภาคม นาง Steffi Lemke รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อม เรียกร้องให้มีการควบคุมที่เข้มงวดขึ้น ผู้ประกอบการร้านอาหารต้องปฏิบัติตามกฎหมายในการใช้บรรจุภัณฑ์ซ้ำ พร้อมกันนั้น เทศบาลและรัฐก็ควรควบคุมร้านต่างๆ ให้เข้มงวดขึ้น

นอกจากขยะจากบรรจุภัณฑ์แล้ว ในประเทศเยอรมนียังมีการผลิตขยะจากเศษอาหารมากถึง 11 ล้านตันต่อปี เกือบร้อยละ 60 ของขยะเหล่านี้มาจากครัวเรือนส่วนบุคคลทั้งสิ้น ซึ่งเท่ากับว่ามีการผลิตขยะ 80 กิโลกรัมต่อหัวต่อปี                         

Tagesschau, ntv

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

บทความที่เกี่ยวข้อง

Login