บริษัท SUZETTE Co., Ltd. ผู้ผลิตและจำหน่ายขนมแบรนด์ HENRI CHARPENTIER ได้พัฒนาขนมโดนัทกล้วย SDGs “Bananaana” ที่ใช้วัตถุดิบจากกล้วยตกเกรด ซึ่งจำหน่ายในร้านค้าภายในสนามบิน Tokyo International1 Airport และสนามบิน Osaka International Airport ยอดจำหน่ายเดือนมีนาคมและเดือนเมษายนพุ่งอันดับ 1
บริษัท SUZETTE Co., Ltd. ได้จับมือกับบริษัท ANA FOODS CO., LTD. ผู้นำเข้ากล้วยหอม และ ANA FESTA ร้านจำหน่ายสินค้าภายในสนามบิน ร่วมกันคิดค้นและพัฒนาสินค้าที่นำกล้วยตกเกรดที่ไม่สามารถจำหน่ายได้มาทำเป็นวัตถุดิบ โดยได้นำกล้วยตกเกรดที่ยังสดใหม่มาแปรรูปด้วยการบดผสมกับซอสคาราเมล ทำให้ได้ขนมโดนัทกล้วยที่ยังคงรสชาติความหวานของกล้วย และเมื่อเปิดซองรับประทานก็จะอบอวลไปด้วยกลิ่นหวานหอมของกล้วย เป็นของหวานมีคุณภาพภายใต้แนวคิด SDGs
ขนมโดนัทกล้วยนี้ บรรลุเป้าหมายที่ 12 ของ SDGs คือ การสร้างหลักประกันให้มีรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (Ensure sustainable consumption and production patterns) และใช้คำว่า “SDGs” บนบรรจุภัณฑ์ บริษัทฯ พยายามนำเสนอขนมหวานที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ซึ่งสมาคม SDGs Sosial Design Association ให้ความเห็นว่า หวังว่า ผลิตภัณฑ์นี้ จะมีส่วนช่วยขยายวงผู้บริโภคที่เห็นถึงความสำคัญของสิ่งต่างๆ
ปัจจุบัน ขนมโดนัทกล้วยนี้ วางจำหน่ายที่ สนามบิน Osaka International Airport (ถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2566) และที่ร้าน HENRI CHARPENTIER ภายในสนามบิน Tokyo International Airport และหากจำหน่ายดีก็อาจจะขยายสาขาที่วางจำหน่ายเพิ่มขึ้น โดยราคาขนมโดนัทกล้วยนี้ กล่อง 3 ชิ้นราคา 648 เยน (ประมาณ 160 บาท) และ กล่อง 5 ชิ้นราคา 1080 เยน (ประมาณ 250 บาท)
บทวิเคราะห์ (ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย)
ผู้บริโภคญี่ปุ่นมีความคุ้นเคยกับกล้วยซึ่งเป็นผลไม้ที่รับประทานกันมากที่สุดในประเทศญี่ปุ่น โดยในแต่ละปีมีการนำเข้ากล้วยหอมถึงกว่าปีละ 1 ล้านตัน โดยในส่วนของประเทศไทยนั้น ได้มีความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย -ญี่ปุ่น (Japan – Thailand Economic Partnership Agreement: JTEPA) ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2550 โดยทางญี่ปุ่นได้ให้สิทธิพิเศษการยกเว้นภาษีนำเข้ากล้วยจากประเทศไทยเป็นจำนวนถึง 8,000 ตัน
นอกจากกล้วยสดแล้ว ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากกล้วยก็ได้รับความนิยมเช่นกัน เช่น Banana Chips กล้วยอบแห้ง น้ำกล้วยปั่น ฯลฯ ซึ่งประเทศไทยมีสินค้าแปรรูปจากกล้วยที่หลากหลาย ตลาดญี่ปุ่นจึงเป็นตลาดที่น่าสนใจและมีโอกาสสำหรับทั้งสินค้ากล้วยหอมสดและผลิตภัณฑ์แปรรูปกล้วย สิ่งสำคัญคือคุณภาพที่ดีและการผ่านมาตรฐานที่เข้มงวดต่างๆ นอกจากนี้ ปัจจุบัน ผู้บริโภคญี่ปุ่นให้ความสนใจในเรื่อง SDGs ซึ่งเป็นจุดที่ดึงดูดผู้บริโภคได้หากมีการนำเสนอที่เข้าใจง่ายและชัดเจน
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว
ฉบับที่ 36 ประจำวันที่ 3 – 9 มิถุนายน 2566
————————————–
อ้างอิง
หนังสือพิมพ์ The Japan Food Journal ฉบับวันที่ 2 มิถุนายน 2566
ภาพประกอบข่าวจากเว็บไซต์ https://www.henri-charpentier.com/special/hc_bananaana/
ภาพประกอบแบนเนอร์ https://www.henri-charpentier.com/special/hc_bananaana/