หน้าแรกTrade insight > ขนมกินเล่นที่พัฒนาเพื่อเจาะกลุ่ม Gen – MZ

ขนมกินเล่นที่พัฒนาเพื่อเจาะกลุ่ม Gen – MZ

บริษัท AEON ได้วางจำหน่ายสินค้าประเภทขนมกินเล่น 4 ชนิดภายใต้แบรนด์ TOPVALU ซึ่งเป็น Private Brand (PB) ของบริษัทฯ โดยขนมกินเล่น 4 ชนิดที่พัฒนาขึ้นครั้งนี้เพื่อเจาะกลุ่ม Gen – MZ (กลุ่มผู้บริโภคอายุราว 20 – 30 กว่าปี) โดยนำเสนอในรูปแบบ “ขนมกินเล่นที่มีวิวัฒนาการ” และมีกำหนดการฉายโฆษณาโทรทัศน์ในเดือนกรกฎาคมนี้
สำหรับสินค้าทั้ง 4 ชนิดนี้ ประกอบด้วยโยเกิร์ตแนวของหวาน (yogurt x dessert) “Gateau Soyeux” 2 รสชาติ ได้แก่ รส Apple pie cake และ รส Basque cheese cake (ราคา 148 เยน หรือประมาณ 37 บาท ไม่รวมภาษีบริโภค) หากเปรียบเทียบกับตลาดโยเกิร์ตของประเทศทางแถบยุโรป โยเกิร์ตแนวของหวานในตลาดญี่ปุ่นยังมีส่วนแบ่งตลาดน้อย บริษัทฯจึงเห็นโอกาสในผลิตภัณฑ์นี้ อีกทั้งโยเกิร์ตยังมีแคลอรี่และไขมันต่ำกว่าเค้กหรือไอศกรีม จึงอาจเป็นที่ต้องการสำหรับการซื้อเพื่อเป็นรางวัลสำหรับตัวเอง
นอกจากนี้ ยังมีขนมซีรี่ย์ “Joynuts” รส “Caramel Macchiato” ที่มีถั่วและชอกโกแล็ตต่างๆรวมกัน 6 ชนิดในถุง (ราคา 798 เยน ประมาณ 200 บาท ไม่รวมภาษีบริโภค) หากรับประทานพร้อมกันก็จะได้รสชาติ caramel macchiato
ขนมกินเล่นที่วางจำหน่ายในครั้งนี้อีกหนึ่งชนิด ได้แก่ “Mango Ball” (ราคา 398 เยน ประมาณ 100 บาท ไม่รวมภาษีบริโภค) มีคอนเซปต์พอดีคำโดยนำผลไม้อบแห้งมาทำเป็นทรงกลมและห่อทีละชิ้น ซีรี่ย์ขนมถั่วและผลไม้อบแห้งนั้น นอกจากจะให้ความสำคัญในเรื่องสุขภาพแล้ว ยังให้ความสำคัญในการแบ่งกันรับประทานได้ง่ายอีกด้วย
บริษัทฯให้ความเห็นว่า ช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ผู้คนส่วนใหญ่มักอยู่คนเดียว แต่ต่อจากนี้ จะมีโอกาสสังสรรค์รวมกลุ่มกันมากขึ้น จึงคิดที่จะผลิตสินค้าที่สามารถแบ่งปันกันรับประทานได้ง่ายออกวางจำหน่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งกลุ่ม Gen -MZ มีแนวโน้มความชอบที่จะแบ่งปันสิ่งที่ตัวเองชอบให้กับเพื่อนๆ และให้ความสำคัญกับความคิดเห็นของคนที่ไว้วางใจ บริษัทฯ จึงพยายามที่จะพัฒนาสินค้าขนมกินเล่นที่สามารถดึงดูดกลุ่มคน Gen -MZ เพื่อซื้อและแชร์กับเพื่อนๆ
สำหรับการพัฒนาขนมกินเล่นครั้งนี้ บริษัทฯ ได้ทำการสำรวจและสัมภาษณ์นักศึกษามหาวิทยาลัยเพื่อค้นหาความชอบ นอกจากนี้ โฆษณาโทรทัศน์ก็เล็งกลุ่ม Gen -MZ โดยใช้ศิลปินที่โดนใจกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มนี้อีกด้วย
แบรนด์ TOPVALU ได้พัฒนาสินค้าโดยกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนและครั้งนี้ก็เช่นกัน บริษัทฯโฟกัสที่กลุ่มผู้บริโภค Gen-MZ ในซีนการรับประทานของว่าง ด้วยนโยบายการกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนนี้ บริษัทฯ ได้แบ่งกลุ่มสินค้าออกอย่างชัดเจน เช่น สินค้าฉลากแดง “best price” เป็นกลุ่มสินค้าที่พัฒนาเพื่อดันให้เป็นสินค้าติดอันดับในแต่ละประเภท สินค้าฉลาก “Green eyes” เป็นสินค้าที่โฟกัสในเรื่องของสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

บทวิเคราะห์ (ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย)
ญี่ปุ่นนับว่าเป็นชาติที่ให้ความสำคัญและใส่ใจในเรื่องสุขภาพอย่างยิ่ง โดยเฉพาะนับตั้งแต่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 กระแสการรักษาสุขภาพเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงและสามารถต่อสู้กับเชื้อโรคได้ ซึ่งก็เป็นกระเเสที่เกิดขึ้นทั่วโลกเช่นกัน โดยจะเห็นได้ว่า กลุ่มอาหาร ได้แก่ อาหารแห่งอนาคตที่ใช้วัตถุดิบทางการเกษตรมาผนวกกับนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ เช่น เนื้อจากพืช โปรตีนจากแมลง ฯลฯ อาหารเสริมจำพวกวิตามิน แร่ธาตุ และกรดอะมิโน ฯลฯ เป็นกลุ่มที่มูลค่าตลาดเติบโตขึ้นอย่างมาก ความใส่ใจในสุขภาพได้ขยายตัวไปยังกลุ่มขนมกินเล่น ซึ่งในปัจจุบัน มีขนมกินเล่นเพื่อสุขภาพวางจำหน่ายมากมายตามซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อในญี่ปุ่น ผู้ผลิตสินค้าไทยในกลุ่มนี้ก็มีจำนวนไม่น้อย หากสามารถกำหนดผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายได้ชัดเจนก็อาจเป็นโอกาสสำหรับสินค้าอาหารประเภทขนมกินเล่นเพื่อสุขภาพของไทยในตลาดญี่ปุ่น

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว
ฉบับที่ 39 ประจำวันที่ 24 – 30 มิถุนายน 2566
————————————–
อ้างอิงและเรียบเรียงจาก
หนังสือพิมพ์ The Japan Food Journal ฉบับวันที่ 23 มิถุนายน 2566
ภาพประกอบข่าวจากเว็บไซต์ https://news.nissyoku.co.jp/news/miyagawa20230621033617487
https://www.topvalu.net/tv-gateausoyeux/
https://www.topvalu.net/items/detail/4549414449068/
ภาพแบนเนอร์จากเว็บไซต์ https://www.topvalu.net/nutsdryfruits/

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login