เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่า การบริโภคเนื้อสัตว์ส่งผลเสียต่อสภาวะอากาศมากกว่าการบริโภคอาหารจากพืช เนื่องจากการสร้างกล้ามเนื้อของสัตว์ต้องการอาหารที่มีโปรตีนสูง เช่น ถั่วเหลือง หรือ ปลาป่น ซึ่งพื้นที่ปลูกถั่วเหลืองส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่ามาก่อน จึงต้องขนส่งเป็นระยะทางที่ไกลมายังยุโรปในขณะที่การผลิตปลาป่นก็ต้องใช้พลังงานที่สูงเช่นกัน ซึ่งภายหลังจากปี 2017 สหภาพยุโรป (EU) ได้อนุมัติให้สามารถนำแมลง 8 สายพันธุ์ มาใช้เป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์ได้ โดยนาย Thomas Kuehn และนาย Wolfgang Westermeier ผู้ก่อตั้งบริษัทเทคโนโลยีการเกษตร (“Agro-Tech”) ในนามว่า Farminsect ที่เมืองมิวนิกได้นำเสนอวิธีแก้ปัญหาดังกล่าว โดยนาย Kuehn กล่าวว่า “เราสามารถสร้างความยั่งยืนในอาหารสัตว์ได้ ด้วยการใช้แมลงที่เลี้ยงในท้องถิ่น” จึงเป็นที่มาของการก่อตั้งบริษัทฯ ขึ้นมา
แล้ว Farminsect คืออะไร – บริษัท Farminsect เป็นบริษัท Agro-Tech ที่นำเสนอเครื่องเลี้ยงแมลงแบบอัตโนมัติ โดยผลิตตัวอ่อนของหนอนแมลงวันลาย (Black Soldier Fly: BSF) ขึ้น ซึ่งเกษตรกรจะนำเศษพืชมาเป็นอาหารให้กับหนอนแมลงวันลาย เพื่อนำไปใช้เป็นอาหารให้กับสัตว์เลี้ยงจำพวกไก่ สุกร หรือปลาโดยตรง หรือนำหนอนแมลงวันลายมาผลิตเป็นอาหารสัตว์เพื่อจำหน่ายต่อไป ซึ่งสิ่งนี้ได้ช่วยสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนผ่านขยะ กลายเป็นอาหารสัตว์ และผลผลิตทางการเกษตรในระดับภูมิภาคต่อไป จนถึงขณะนี้บริษัท Farminsect สามารถระดมเงินทุนได้มากกว่า 10 ล้านยูโร ในเดือนตุลาคม 2023 จากการจัดหาเงินทุน Series A (รอบ Series A เป็นการระดมทุนครั้งแรกที่บริษัทขายหุ้นให้กับผู้ร่วมลงทุน) จำนวน 8 ล้านยูโร โดยมีผู้ร่วมลงทุนนำโดยบริษัท Sandwater จากกรุงออสโล บริษัท Bayern Kapital บริษัท Australian Minderoo Foundation กองทุน European Innovation Council รวมถึงนักลงทุนก่อนหน้าอย่างบริษัท UnternehmerTUM และนักลงทุนร่วมทุน High-Tech Gründerfonds (HTGF) ก็มีส่วนร่วมเช่นกัน
เทคโนโลยีมีความสำคัญอย่างไร – เฉพาะในเยอรมนีประเทศเดียวการผลิตอาหารสัตว์แบบผสมเกือบ 22 ล้านตัน/ปี ซึ่งส่วนใหญ่ผลิตจากถั่วเหลืองหรือปลาป่น โดยตั้งแต่ปี 2025 เป็นต้นไป อนุญาตให้มีการนำเข้าถั่วเหลืองที่รับประกันว่า ปลอดการตัดไม้ทำลายป่าเข้าสู่ EU ได้เท่านั้น แต่การพิสูจน์สิ่งนี้นับเป็นเรื่องที่ยากและใช้เวลานาน ผู้ประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมผลิตเนื้อสัตว์จึงทยอยเปลี่ยนไปใช้แหล่งโปรตีนในระดับภูมิภาคด้วยเหตุผลด้านความยั่งยืนแทน จากข้อมูลของบริษัท Farminsect โรงเพาะแมลงของพวกเขาช่วยให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์ลดการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ลงครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับการใช้ถั่วเหลืองหรือปลาป่นมาใช้ นอกจากนี้ยังมีต้นทุนที่ต่ำลง 30% อีกด้วย
แล้วมันทำงานอย่างไร – บริษัท Farminsect จำหน่ายระบบผลิตหนอนขนาดต่าง ๆ เริ่มต้นที่ 400 ตารางเมตร ซึ่งเป็นแบบระบบโมดูลาร์ (กล่องที่สามารถนำไปประกอบต่อกันได้เรื่อย ๆ) ที่ประกอบด้วยโรงเตรียมอาหาร เซลล์หุ่นยนต์ (ใช้งานในการเคลื่อนไหวกล่อง) และห้องควบคุมอุณหภูมิ ซึ่งแมลงจะถูกเลี้ยงที่อุณหภูมิ 30 องศา ระบบนี้ผลิตตัวอ่อนหนอนแมลงวันลายได้ 300 ถึง 1,500 ตัน/ปี ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับขนาดของพวกมันด้วย โดยบริษัท Farminsect เป็นผู้จัดหาตัวอ่อนหนอนแมลงวันลายอายุ 5 วัน ให้กับเกษตรกร ซึ่งพวกมันไม่ได้มีความต้องการอาหารที่ซับซ้อนแต่อย่างใด จากนั้นพวกมันก็จะถูกเลี้ยงต่อด้วยอินทรีย์ตกค้าง (เศษผัก) จากการเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมอาหารต่อไปอีกเป็นเวลา 7 วัน นาย Kuehn ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Farminsect กล่าวว่า “ระบบนี้จะคุ้มทุนเกษตรกรก็ควรที่จะเลี้ยงสุกร 200 ตัวขึ้นไป” นอกจากนี้เกษตรกรยังสามารถหารายได้เพิ่มเติมจากปุ๋ยและก๊าซชีวภาพ ที่เกิดขึ้นจากการเลี้ยงหนอนแมลงวันลาย หรือสามารถจำหน่ายลูกของพวกมันที่ผลิตขึ้นด้วยก็ได้
ตลาดมีศักยภาพขนาดไหน – เกษตรกร ผู้ผลิตอาหาร และซูเปอร์มาร์เก็ต ผลิตขยะอินทรีย์โดยอัตโนมัติ ซึ่งหากสามารถนำขยะอินทรีย์เหล่านี้มาใช้เป็นอาหารแมลงได้ ก็จะสามารถทำให้บริษัทเหล่านี้สามารถลดการสร้างแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ได้ จนถึงปัจจุบันบริษัท Farminsect ได้ติดตั้งระบบที่มีกำลังผลิตรวมกันมากถึง 1,000 ตัน/ปี เรียบร้อยแล้ว ส่วนหนึ่งเป็นโครงการนำร่องกับผู้ผลิตและผู้ค้าปลีกรายใหญ่ที่ปัจจุบันมีความประสงค์จะยังไม่ออกนานให้ทราบ นอกจากนี้บริษัท Farminsect กำลังสร้างระบบร่วมกับพันธมิตรทางอุตสาหกรรมอย่างบริษัท Big Dutchman และบริษัท Skov ราคาเริ่มต้นที่ของระบบดังกล่าวอยู่ที่ 500,000 ยูโร บวกกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อปี 100,000 ยูโร (โดยประมาณ) นาย Kuehn กล่าวว่า “ระบบจะคุ้มทุนหลังจากผ่านไป 3 – 5 ปี” สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์เยอรมัน (DVT – Deutsche Verband Tiernahrung) ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้ผลิตอาหารสัตว์แบบดั้งเดิมเองก็ออกมาแสดงความต้อนรับอาหารสัตว์ทางเลือกนี้ อย่างไรก็ตาม ยังไม่ขอให้คำประเมินอย่างเป็นทางการ เพราะยังไม่สามารถประเมินความสำคัญของแมลงในฐานะอาหารสัตว์ในระยะยาวได้อย่างเป็นรูปธรรม
แล้วผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นอย่างไร – นาย Bernhard Krüsken เลขาธิการของ DVT กล่าวว่า “โดยพื้นฐานแล้ว แมลงสามารถเปลี่ยนขยะอินทรีย์ที่ใช้ไม่ได้หรือผลเศษวัตถุดิบจากการผลิตในอุตสาหกรรมอาหารให้เป็นไขมัน โปรตีน และปุ๋ยคุณภาพสูง” เพื่อความยั่งยืนจึงควรที่จะถูกนำมาใช้ให้ดีขึ้น นาย Maximilian Scholz ผู้จัดการด้านการลงทุนของบริษัท HTGF เน้นย้ำถึงลักษณะพิเศษของบริษัท Farminsect ว่า “บริษัท Farminsect มีความแตกต่างกับบริษัทผลิตแมลงรายอื่น ๆ การผสมพันธุ์แมลงของบริษัทเกิดขึ้นบนพื้นที่ของลูกค้า อีกทั้งยังใช้เศษอาหารที่เหลือในท้องถิ่นอีกด้วย ซึ่งหมายความว่า เป็นครั้งแรกที่บริษัทอย่าง Farminsect สามารถทำให้แมลงในฐานะแหล่งโปรตีนให้คุ้มค่ากับการลงทุนในตลาดสินค้าเกษตรกรรมได้” นาย Alfred Stier เกษตรกรเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจากเมือง Bärnau ซึ่งเป็นลูกค้าของบริษัท Farminsect กล่าวว่า “การผลิตอาหารสัตว์ด้วยตัวเอง ด้วยวัตถุดิบในท้องถิ่นช่วยประหยัดต้นทุนและมีความยั่งยืนมาก ผลที่ตามมาก็คือ ปลาของผมเจริญเติบโตเป็นอย่างดี”
แล้วจะดำเนินไปในทิศทางใดต่อ – บริษัท Farminsect ตั้งเป้าหมายว่า “ภายใน 10 ปีเราต้องการที่จะเข้ามาทดแทนถั่วเหลืองและปลาป่นในสหภาพยุโรปทั้งหมด ในขณะนี้เราเป็นผู้ผลิตแมลงรายใหญ่ที่สุดในเยอรมนีอยู่แล้ว และต้องการเป็นผู้นำในยุโรปต่อไป” คู่แข่งเช่นบริษัท Madebymade จากรัฐ Sachsen ประเทศเยอรมนี บริษัท Enorm จากประเทศเดนมาร์ก บริษัท Protix จากเนเธอร์แลนด์ หรือบริษัท Ynsect จากฝรั่งเศส ต่างก็สร้างฟาร์มขนาดใหญ่ซึ่งแตกต่างจากรูปแบบการประกอบธุรกิจของบริษัท Farminsect แน่นอนที่คู่แข่งบางส่วนสามารถระดมทุนได้เป็นจำนวนมาก อย่างบริษัท Protix สามารถระดมทุนได้สูงถึง 187 ล้านเหรียญสหรัฐ ในตอนนี้บริษัท Ynsect เองก็สามารถระดมทุนได้ 625 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปีนี้บริษัท Farminsect ตั้งเป้ายอดจำหน่ายไว้ที่ 10 ล้านยูโร บริษัทต้องการทำกำไร 2025 และภายใน 5 ปี บริษัท Farminsect จากเมืองมิวนิกหวังว่า จะมีการผลิตแมลงปีละ 250,000 ตัน และมียอดจำหน่ายสูงถึง 300 ล้านยูโร
จาก Handelsblatt 26 กุมภาพันธ์ 2567
อ่านข่าวฉบับเต็ม : การใช้โปรตีนจากแมลงในการผลิตอาหารสัตว์สามารถลดค่า CO2 ได้