หน้าแรกTrade insightธุรกิจ Wellness > การแพทย์ทางเลือกในโคลอมเบีย

การแพทย์ทางเลือกในโคลอมเบีย

ปัจจุบันชาวโคลอมเบียหันมาเลือกใช้ยารักษาโรคจากธรรมชาติมากขึ้น แทนการบริโภคยาสมัยใหม่ที่ผลิตจากสารเคมีที่มีอันตรายและมีผลข้างเคียงหลายประการต่อผู้บริโภค ทำให้สมุนไพรธรรมชาติและการแพทย์ทางเลือก (alternative medicine) เข้ามามีบทบาทสำคัญในโคลอมเบีย จากข้อมูลของบริษัท Heel Colombia คาดการณ์ว่ายารักษาโรคจากธรรมชาติที่ปราศจากสารเคมีจะมียอดการจำหน่ายเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนถึงปี 2568 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 3 แสนล้านเปโซโคลอมเบีย หรือมูลค่ากว่า 73 ล้านเหรียญสหรัฐ[1] ตลาดยาของโคลอมเบียมีมูลค่าประมาณ 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมีขนาดใกล้เคียงเอกวาดอร์และชิลี  ทั้งนี้ บริษัท Heel Colombia เป็นบริษัทยาจากต่างประเทศเพียงบริษัทเดียวในโคลอมเบียที่มีการผลิตยาจากธรรมชาติ และเป็นหนึ่งในจำนวน 20 บริษัทยาข้ามชาติที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโคลอมเบีย

แนวโน้มการขยายตัวของการแพททย์ทางเลือกในโคลอมเบีย ส่งผลให้บริษัทยาข้ามชาติหลายบริษัทให้ความสนใจและมีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา และการผลิตยารักษาโรคจากสมุนไพรหรือวัตถุดิบธรรมชาติ

กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง

การกำกับดูแลผลิตภัณฑ์ยา และอุปกรณ์ทางการแพทย์ดำเนินการโดย the Colombian National Food & Drug Surveillance Institute หรือ INVIMA (www.invima.gov.co) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2536 ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงสาธารณสุขโคลอมเบีย โดยการผลิต การขาย การนำเข้าและการส่งออกผลิตภัณฑ์ยาของโคลอมเบียจะต้องได้รับการอนุญาตจาก INVIMA สำหรับการได้รับอนุญาตให้เข้าตลาดโดยเงื่อนไขและกระบวนการขออนุญาต ขึ้นอยู่กับแต่ละผลิตภัณฑ์ยาที่มีการใช้และความเสี่ยงที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ กระบวนการพิจารณาใบอนญาตใช้ระยะเวลาประมาณ 4 – 12 เดือน ขึ้นอยู่กับความครบถ้วนของข้อมูลในการจดทะเบียนเพื่อขอรับการอนุญาต อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติจริง INVIMA ใช้ระยะเวลาในการพิจารณาอนุญาตนานกว่าระยะเวลาที่กำหนดตามกฎหมาย โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ยาใหม่หรือนวัตกรรมยาใหม่ เนื่องจากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และทางเทคนิคมีจำกัด และหากเป็นผลิตภัณฑ์ยาทั่วไปหรือผลิตภัณฑ์ยาที่มีข้อมูลระบุไว้ในระบบฐานข้อมูลเภสัชภัณฑ์ของโคลอมเบีย จะใช้ระยะเวลาในการขออนุญาตฯ ที่สั้นลง ทั้งนี้ เงื่อนไขและกระบวนการขออนุญาตมีการปฏิบัติต่อผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศ

ตารางที่ 1: อัตราค่าธรรมเนียมในการขออนุญาตการเข้าตลาดยาในโคลอมเบียตามประเภทผลิตภัณฑ์

ค่าธรรมเนียมในการขออนุญาตการเข้าตลาดยาในโคลอมเบีย (หน่วย: เปโซโคลอมเบีย)
Drug Product included in the Pharmacological Code $3,200
ผลิตภัณฑ์ยาใหม่ $7,000
ผลิตภัณฑ์ชีวภาพ $7,238
Good Manufacturing Practice Certificate $12,035

บทวิเคราะห์ /ข้อคิดเห็นจาก สคต. ณ กรุงซันติอาโก

สคต. ณ กรุงซันติอาโก คาดว่าการแพทย์ทางเลือกและการใช้ยาจากสมุนไพรมีโอกาสการขยายตัวที่ดีอย่างต่อเนื่อง ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Health and Wellness ที่นำสมุนไพรไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต อาทิ เครื่องสำอาง ยาและอาหารเสริม จากรายงานของ Euromonitor International พบว่ามูลค่าค้าปลีกสินค้าสมุนไพรในตลาดโลก (Retail Value RSP) มีมูลค่ารวมมากกว่า 1.7 ล้านล้านบาท โดยประเทศไทยมีมูลค่าค้าปลีกสินค้าสมุนไพรสูงเป็นอันดับ 8 ของโลก รองจากจีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เยอรมนี อิตาลี และไต้หวัน นอกจากนี้ ข้อมูลของ Zionmarketresearch, Bloomberg คาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรทั่วโลกมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 11.2 ต่อปี ระหว่างปี 2564 – 2571 โดยในปี 2571 จะมีมูลค่าประมาณ 348 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยการใช้สมุนไพรในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ สามารถแบ่งออกเป็น[1] (1) สมุนไพรทางการแพทย์ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 41.5 (2) ผลิตภัณฑ์อาหาร เสริมอาหาร และเครื่องดื่ม คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 37 และ (3) เครื่องสำอาง คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10

กระแสนิยมการดูแลรักษาสุขภาพโดยวิถีธรรมชาติและหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีของผู้บริโภค ส่งผลให้สมุนไพรมีบทบาทสำคัญด้านวัตถุดิบจากธรรมชาติที่ธุรกิจ Health and Wellness รวมถึงการแพทย์ธรรมชาติ ทั่วโลกกำลังต้องการ และโคลอมเบียเป็นประเทศหนึ่งในลาตินอเมริกาที่ให้ความสำคัญอย่างมากต่อการแพทย์ธรรมชาติ เนื่องจากโคลอมเบียเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและมีประวัติศาสตร์อันยาวนานด้านการรักษาโรคแบบดั้งเดิม ชนพื้นเมือง และชาว Afro-Colombian มีการใช้สมุนไพรต่าง ๆ ในการรักษาโรคมาเป็นระยะเวลายาวนาน อีกทั้งยังคงมีการใช้และเป็นที่ยอมรับในปัจจุบัน ทั้งนี้ การแพทย์ทางเลือกในโคลอมเบีย สามารถเข้าถึงได้ง่ายและมีราคาที่ย่อมเยาว์กว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการแพทย์แผนปัจจุบัน ประกอบกับความต้องการยาสมุนไพรในโคลอมเบียที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น เป็นโอกาสทางการตลาดของสมุนไพรและสินค้ายาของไทยในโคลอมเบีย เนื่องจากไทยมีวัตถุดิบสมุนไพรกว่า 1,800 ชนิดที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์เชิงอุตสาหกรรมได้ โดยเฉพาะสมุนไพรหลักของไทย เช่น ขมิ้นชัน ฟ้าทะลายโจร และกระชายดำ ที่ตลาดโลกมีความต้องการอยู่แล้ว และไทยสามารถขยายการส่งออกเพิ่มเติมไปยังโคลอมเบีย

อย่างไรก็ดี แม้ว่าตลาดยาสมุนไพรในโคลอมเบียยังมีโอกาสอยู่มาก การขยายการส่งออกสินค้าสมุนไพรของไทยสำหรับการผลิตยาในการแพทย์ทางเลือกของโคลอมเบีย ยังคงเป็นประเด็นค่อนข้างใหม่และท้าทายสำหรับผู้ประกอบการของไทย เนื่องจากผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องหาพันธมิตรหรือคู่ค้าในห่วงโซ่การผลิตสินค้ายาและเวชภัณฑ์ ในการนี้ ผู้ประกอบการไทยที่สนใจขยายตลาดมายังโคลอมเบียสามารถติดต่อสำนักงานทส่งเสริมการค้าในต่างประทศ ณ กรุงซันติอาโก เพื่อหาแนวทางและประสานผู้ประกอบการโคลอมเบียที่มีศักยภาพต่อไป

__________________________________

ที่มา :

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงซันติอาโก

[1] ข้อมูลจาก   Derwent innovation

[1] 1 เหรียญสหรัฐ เท่ากับ  4,086.02 เปโซโคลอมเบียโดยประมาณ

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login