หน้าแรกTrade insightเกษตรอื่นๆ > การแข่งขันในตลาดขนมหวานในเวียดนามรุนแรงมากขึ้น

การแข่งขันในตลาดขนมหวานในเวียดนามรุนแรงมากขึ้น

การแข่งขันในตลาดขนมหวานเวียดนามมีความรุนแรงมากขึ้นด้วยการกลับมาของ KIDO Group (KDC) ซึ่งเป็นเป็นบริษัทขนมหวานรายใหญ่ในเวียดนาม

บริษัท KIDO Group ได้โอนกิจการขนมไปยังหุ้นส่วนต่างประเทศโดยมุ่งมั่นที่จะไม่มีส่วนร่วมในภาคส่วนขนมหวานเป็นเวลา 5 ปี หลังจากห่างหายไปนานกว่า 6 ปี บริษัทได้กลับเข้าสู่อุตสาหกรรมขนมหวานอย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคม 2564 หลังจากลงทุนอย่างมากในแบรนด์ KIDO Bakery ในปัจจุบันบริษัทมีเป้าหมายที่จะขึ้นเป็นอันดับ 2 ในอุตสาหกรรมขนมหวานในเวียดนามภายใน 3 ถึง 5 ปีข้างหน้า

ในปี 2566 KIDO ตั้งเป้าหมายกำไรก่อนหักภาษีสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2560 ดังนั้น บริษัทจึงตั้งเป้าหมายในปี 2566 รายได้สุทธิที่ 15   ล้านล้านด่ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 และกำไรก่อนหักภาษีที่ 900 พันล้านด่ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 76 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ บริษัท KIDO ยังดำเนินกลยุทธ์ เพื่อปรับโครงสร้างธุรกิจในปี 2566 เป็น 4 กลุ่มย่อย โดยเน้นที่น้ำมันปรุงอาหาร ไอศกรีม ขนมหวาน และน้ำปลา

นาย Tran Le Nguyen ผู้อำนวยการของบริษัท KIDO กล่าวว่า ขั้นตอนคือการสร้างเงื่อนไขสำหรับบริษัทในการเชื่อมโยงกับบริษัทต่างชาติในแต่ละส่วนงาน ผลิตภัณฑ์ของ KIDO จะไม่เพียงแต่บริโภคในประเทศเท่านั้น แต่ยังส่งออกอีกด้วย ซึ่งจะช่วยให้อัตรากำไรของบริษัทดีขึ้น ถ้าราคาวัตถุดิบคงที่กำไรก็จะยิ่งเพิ่มขึ้น

ในปี 2566 บริษัท KIDO ได้การเข้าซื้อหุ้นร้อยละ 25 ในแบรนด์ Tho Phat Dumplings และวางแผนที่จะเพิ่มความเป็นเจ้าของใน Hung Vuong Plaza เป็นร้อยละ 76

จากข้อมูลล่าสุดของบริษัทวิจัยตลาด Euromonitor ระบุว่า ปัจจุบันบริษัท KIDO เป็นผู้นำตลาดในอุตสาหกรรมไอศกรีมด้วยส่วนแบ่งร้อยละ 44.5 ซึ่งแบรนด์ Merino คิดเป็นร้อยละ 24.2 และแบรนด์ Celano คิดเป็นร้อยละ 19.2 บริษัท KIDO ยังเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเนยเทียมในเวียดนามด้วยส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 74.9 และเป็นอันดับ 2 ในกลุ่มน้ำมันปรุงอาหารที่มีส่วนแบ่งตลาดประมาณร้อยละ 30

PAN Group เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ขนมชั้นนำของเวียดนาม โดยนาย Nguyen Duy Hung ประธานคณะกรรมการบริหารของ PAN Group กล่าวว่า แผนธุรกิจของแต่ละบริษัทที่เป็นสมาชิกของ PAN Group ได้รับการพัฒนาภายใต้ข้อกำหนดอย่างละเอียด โดยตั้งเป้าหมายในปี 2566 รายได้มากกว่า 15.15 ล้านล้านด่งและกำไรรวม 991 พันล้านด่ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 8-9 เมื่อเทียบกับปี 2565

PAN Group ระบุว่า อาหารและขนมเป็นส่วนธุรกิจหลักโดยมีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศฟื้นตัวอย่างมาก กำไรก่อนหักภาษีจากกิจกรรมธุรกิจหลักของบริษัทคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในปี 2565  PAN Group ถือเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในอุตสาหกรรมการเกษตร การประมง และขนมหวานของเวียดนาม โดยมีแบรนด์ใหญ่มากมายอยู่ภายใต้การควบคุมของ PAN Group โดยเฉพาะในส่วนของขนมหวาน PAN Group ได้ซื้อกิจการของ Bibica เมื่อกลางปี 2565 โดยมีความเป็นเจ้าของเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 98.3

นอกจากบริษัท KIDO และ PAN Group แล้ว ตลาดขนมหวานของเวียดนามยังมีส่วนร่วมกับแบรนด์ดังอื่นๆ เช่น Mondelez Kinh Do (สหราชอาณาจักร) Orion (สาธารณรัฐเกาหลี) และแบรนด์ในประเทศ เช่น Huu Nhi และ Hai Ha

การแข่งขันของรายใหญ่ในอุตสาหกรรมขนมหวานไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในตลาดในประเทศที่มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยเพียงร้อยละ 5-8 ต่อปีเท่านั้น เพื่อการเติบโตที่เร็วขึ้น หลายบริษัทเลือกที่จะหาตลาดใหม่ผ่านการส่งออก

                                         (จาก https://vietnamnews.vn/)

ข้อคิดเห็น สคต

ตลาดอาหารของเวียดนามในปี 2566 คาดการณ์สูงถึง 96,470 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 และอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีในช่วงปี 2566-2570 จะสูงถึงประมาณร้อยละ 8.22 ต่อปี ในบรรดากลุ่มอุตสาหกรรมอาหารของเวียดนาม กลุ่มผลิตภัณฑ์ขนมหวานและขนมขบเคี้ยวมีส่วนแบ่งที่ใหญ่ที่สุด โดยคิดเป็นร้อยละ 14.6 มูลค่าประมาณ 14,130 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2566 ธุรกิจขนมหวานในเวียดนามเป็นอีกหนึ่งธุรกิจหนึ่งที่มีการแข่งขันอย่างรุนแรง เพราะคู่แข่งมิใช่มีเพียงขนมซึ่งมีแบรนด์หรือตรายี่ห้อเป็นของตนเองท่านั้น แต่ยังมีขนมแบบเดียวกันที่วางจำหน่ายตามท้องตลาดทั่วไปอย่างมาก โดยการใส่ไอเดียลงไปในขนมเพื่อสร้างความแตกต่างทั้งหน้าตา รสชาติ และบรรจุภัณฑ์เป็นกลยุทธ์หนึ่งที่ถูกนำมาใช้ในการสร้างความน่าสนใจให้สินค้า และนับว่าเป็นเทคนิคทางการตลาดที่ลงทุนน้อยแต่ได้ผลคุ้มค่า สร้างจุดขาย การสร้างสรรค์ขนมธรรมดาๆ หรือคิดค้นสูตรและรสชาติใหม่ๆ ออกมาขายนั้นถือเป็นความชาญฉลาดในการหาจุดขายที่แตกต่างและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า อย่างไรก็ดี ด้วยรสนิยมในการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ผู้คนใส่ใจในคุณภาพชีวิตมากขึ้น และพร้อมที่จะจ่ายหากได้สินค้าที่ดีกว่าทั้งในด้านหน้าตาและรสชาติ เริ่มให้ความสำคัญกับสุขภาพ เลือกรับประทานอาหารที่จำเป็นและมีประโยชน์ ใส่ใจสุขภาพและรูปร่างมากขึ้น ดังนั้น เพื่อสามารถแข่งขันและเติบโตในธุรกิจขนมหวานในเวียดนามได้ ผู้ผลิตไทยจำเป็นศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคในเวียดนาม โดยเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย ซึ่งนอกเหนือจากด้านรสชาติแล้ว ยังต้องเน้นผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองกับกระแสรักสุขภาพของสังคม โดยใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลและใช้ส่วนผสมที่มีไขมันต่ำ เพิ่มส่วนผสมที่มีประโยชน์ ด้วยรูปลักษณ์ที่สวยงามน่ารับประทาน อีกทั้งการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ทันสมัยและพกพาสะดวก เพื่อสามารถแข่งขันและขยายส่วนแบ่งทางการตลาดในเวียดนามได้ ดังนั้นการพัฒนาสินค้าใหม่ๆออกมาตลอดเวลา พร้อมทั้งพยายามมองหาตลาดหรือช่องทางการจำหน่ายใหม่ๆก็ช่วยให้ยอดขายเพิ่มขึ้นได้ไม่ยากนัก

 

ที่มา: กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login