หน้าแรกTrade insightธุรกิจ Logistics > การเพิ่มขึ้นของการขนส่งสินค้าผ่าน North–South Transport Corridor

การเพิ่มขึ้นของการขนส่งสินค้าผ่าน North–South Transport Corridor

หลังจากการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกและพันธมิตรต่อสหพันธรัฐรัสเซียนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2565 ทำให้การขนส่งสินค้าผ่านท่าเรือเมืองเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กของสหพันธรัฐรัสเซีย (เชื่อมต่อภูมิภาคยุโรป) ได้รับผลกระทบ สหพันธรัฐรัสเซียจึงได้เร่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาเส้นทางขนส่งสินค้าอื่นๆ  ซึ่งรวมถึง เส้นทางขนส่งสินค้าผ่านระเบียงการขนส่งเหนือ-ใต้ (North–South Transport Corridor)  โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2566 นาย Vitaly Savelyev รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมของสหพันธรัฐรัสเซียได้กล่าวในช่วงการเสวนา “THE NORTH–SOUTH INTERNATIONAL TRANSPORT CORRIDOR: FOSTERING COOPERATION”  ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงาน “เวทีเศรษฐกิจระหว่างประเทศเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก” (St. Petersburg International Economic Forum: SPIEF) ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 14-17 มิถุนายน 2566 ณ เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก สหพันธรัฐรัสเซีย ว่า ปริมาณการขนส่งสินค้าผ่านระเบียงการขนส่งเหนือ-ใต้ คาดว่าจะเกิน 17 ล้านตัน (ประมาณ 17.6 ล้านตัน) ในปี 2566 ซึ่งเทียบกับปีที่แล้ว (ปี 2565) ซึ่งมีปริมาณประมาณ14.5 ล้านตันและยังมีการคาดการณ์ด้วยว่า ภายในปี 2573 ตัวเลขนี้ อาจเพิ่มขึ้นเป็น 41 ล้านตัน นอกจากนี้ นาย Vitaly Savelyev ยังได้ให้ข้อสังเกตอีกว่า ในปี 2566 นี้ ได้มีการวางแผนที่จะขนส่งสินค้า 5.5 ล้านตัน โดยการขนส่งทางถนน ผ่านทางระเบียง North-South  ด้วย

 

รูปจาก https://www.onthemosway.eu/international-north-south-transport-corridor-set-to-expand-capacity/

 

นอกจากนี้ ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ยังได้กล่าวถึงเรื่องนี้เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน  2566 ในที่ประชุมใหญ่ (Plenary Session) ของ SPIEF ด้วยว่า รัสเซียจะให้ความสนใจเป็นพิเศษกับการพัฒนาระเบียงการขนส่งเหนือ-ใต้ โดยมีแผนที่จะเพิ่มเป็นสองเท่าภายในปี 2568 และภายในปี 2573 ปริมาณการส่งออกตามเส้นทางนี้จะเพิ่มเป็นสามเท่า

 

ปัจจุบันจะเห็นได้ว่า สหพันธรัฐรัสเซียให้ความสำคัญกับระเบียงการขนส่งเหนือ-ใต้ โดยเส้นทางการขนส่งดังกล่าวสามารถเชื่อมต่อการขนส่งสินค้าระหว่างรัสเซีย อาเซอร์ไบจัน อิหร่าน และอินเดียได้ อย่างไรก็ดี โดยที่ระเบียงการขนส่งเหนือ-ใต้ยังอยู่ในระหว่างการพัฒนาปรับปรุงเส้นทาง จึงยังอาจทำให้ได้รับความนิยมน้อยกว่าการขนส่งสินค้าจากท่าเรือเมืองวลาดิวอสตอค ซึ่งอยู่ที่ฝั่งตะวันออกไกลของรัสเซีย และสามารถเชื่อมต่อกับภูมิภาคเอเชียตะวันออก และ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ อย่างไรก็ดี ในอนาคต หากเส้นทางระเบียงการขนส่งสินค้าเหนือ-ใต้ได้รับการพัฒนาเต็มรูปแบบ เชื่อว่าเส้นทางนี้น่าจะทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น โดยอาจเป็นเส้นทางการขนส่งอีกเส้นทางหนึ่งที่ไทยสามารถส่งสินค้าเข้าไปในตลาดรัสเซียและประเทศรอบๆ ทะเลแคสเปียนได้

 

ที่มา:

–  The volume of cargo transportation through the “North – South” will exceed 17 million tons (https://iz.ru/1529048/20การ23-06-15/obem-transportirovki-gruzov-cherez-sever-iug-prevysit-17-mln-t)

– Putin announced plans to build about 260 ships in Russia in the next five years (https://iz.ru/1529756/2023-06-16/putin-zaiavil-o-planakh-postroit-v-rf-okolo-260-sudov-v-blizhaishie-piat-let)

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login