หน้าแรกTrade insightเกษตรอื่นๆ > การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกระทบภาคเกษตรอิตาลี สูญเสียกว่า 6 พันล้านยูโร

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกระทบภาคเกษตรอิตาลี สูญเสียกว่า 6 พันล้านยูโร

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกระทบภาคเกษตรอิตาลี สูญเสียกว่า 6 พันล้านยูโร

  • ปี 2566 เป็นปีที่สภาพอากาศร้อนที่สุดติดต่อกันเป็นปีที่สามเท่าที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของโลก อุณหภูมิบนพื้นผิวและมหาสมุทรของโลกสูงกว่าปกติถึง 1.03 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของศตวรรษที่ 2000 ในส่วนของอิตาลี ซึ่งเป็นประเทศที่เปราะบางที่สุดในยุโรปต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติ (ร่วมกับบัลแกเรีย โรมาเนีย และกรีซ) ภาคเกษตรกรรมได้รับผลกระทบโดยตรงที่สุด โดยคาดว่าจะเกิดความสูญเสียสูงกว่า 6 พันล้านยูโร (ที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา) พืชเศรษฐกิจที่มีผลผลิตลดลง เช่น ข้าวสาลี (-10%) องุ่นผลิตไวน์ (-14%) ลูกแพร์ (-63%) ขณะที่ผลผลิตน้ำผึ้งลดลงถึง -70% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
    ข้อมูลของศูนย์ภูมิอากาศแห่งชาติอิตาลี เปิดเผยว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของเจ็ดเดือนแรกในอิตาลีปี 2566 สูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติ 0.67 องศาเซลเซียส อุณหภูมิที่สูงขึ้นมาพร้อมกับภัยธรรมชาติที่รุนแรง ที่เกิดขึ้นถี่ประมาณ 11 ครั้งต่อวัน ไม่ว่าจะเป็นลูกเห็บขนาดยักษ์ พายุทอร์นาโด ระเบิดน้ำ คลื่นความร้อน ลมหมุน ฝนตกสั้นและรุนแรง โคลนและหิมะถล่ม ฯลฯ ล้วนทำให้มีผู้เสียชีวิตและผู้ประสบภัยพิบัติจำนวนมาก และสร้างความเสียหายมหาศาลต่อทรัพย์สิน ในช่วง 43 ปีที่ผ่านมา (ระหว่างปี 2523 ถึง 2566) มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 22,000 ราย อันเนื่องมาจากภัยธรรมชาติ (ไม่รวมการเสียชีวิตอันเนื่องมาจากคลื่นความร้อนในช่วงฤดูร้อน) โดยมีค่าเสียหายรวมกันเกินกว่า 100 พันล้านยูโร
  • ในปี 2565 สถิติภัยพิบัติทางธรรมชาติจากสภาพภูมิอากาศสุดขั้วเกิดขึ้น 310 ครั้ง ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 29 ราย ส่วนในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 เกิดขึ้นแล้ว 122 ครั้ง เพิ่มขึ้น 135% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565
  • ปี 2566 อิตาลีต้องประสบกับวิกฤตภัยแล้งช่วงต้นปีที่ฝนไม่ตกยาวนานและทำลายพืชผลในไร่นา ส่วนช่วงกลางปีฝนกลับมาตกชุกผิดปกติ(ตกหนักและรุนแรง) จนเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่และในวงกว้างที่บริเวณตอนกลางของประเทศ ที่แคว้นเอมิเลีย โรมาญญ่าในเดือนพฤษภาคม (ทำให้มีผู้เสียชีวิต 17 ราย และสร้างความเสียหายเป็นมูลค่าประมาณ 9 พันล้านยูโร รัฐบาลให้เงินช่วยเหลือฉุกเฉิน 2 พันล้านยูโร และในส่วนของผู้ที่สามารถเรียกประกันชดใช้ มีเพียง 1 พันล้านยูโร) และสุดท้ายจากความร้อนระอุของเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมที่ทำให้อุณหภูมิสูงกว่าค่าเฉลี่ย 1.96 องศาเซลเซียส (บางช่วงอุณหภูมิสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส) แผดเผาผืนดินให้เหือดแห้ง นำมาซึ่งการเกิดอัคคีภัย ไฟป่าเกิดขึ้นหลายแห่งตามชนบทและในป่าที่ถูกทิ้งร้าง รวมถึงภูเขาไฟ (Etna) ที่ปะทุอย่างแรงในเดือนสิงหาคม ทำให้เกิดการปิดสนามบินเมืองคาตาเนีย อพยพผู้คนและนักท่องเที่ยวอย่างกระทันหัน
  • ภัยพิบัติในอิตาลีที่เกิดมากที่สุดได้แก่ แผ่นดินไหว (48%) อุทกภัย (40%) วาตภัย (9%) ความแห้งแล้งและอัคคีภัย (3%) อื่นๆ (1%)
  • จุดอ่อนของอิตาลีคือระบบราชการที่ล่าช้า โดยมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อการป้องกันภัยธรรมชาติ (Solidarity Fund) ในปี 2557 แต่มีเพียงไม่กี่ภูมิภาคที่เทศบาลท้องถิ่นจัดสรรทรัพยากรสำหรับการป้องกันและการจัดการภัยพิบัติอย่างแท้จริง โดยทั่วไปใช้หลังจากประสบภัยพิบัติแล้ว

สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

สิ่งมีชีวิตบนโลกดำรงอยู่ได้ด้วยปัจจัย 3 ประการร่วมกัน ได้แก่ ระยะห่างที่เหมาะสมจากดวงอาทิตย์ องค์ประกอบทางเคมีของชั้นบรรยากาศ และวัฏจักรการหมุนเวียนของกระแสน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชั้นบรรยากาศ ที่ส่งผลทำให้โลกมีสภาพอากาศที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิต (เป็นปรากฏการณ์เรือนกระจกตามธรรมชาติ) หากไม่มีปรากฏการณ์เรือนกระจกตามธรรมชาติ อุณหภูมิเฉลี่ยบนโลกจะอยู่ที่ -18 องศาเซลเซียส แทนที่จะเป็น +15 องศาเซลเซียส
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ แต่ภาวะโลกร้อนในช่วง 150 ปีที่ผ่านมาเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติ เพราะเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์และการปฏิวัติอุตสาหกรรม ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกอื่นๆจำนวนหลายล้านตันสู่ชั้นบรรยากาศ ผลที่ตามมาคือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้น 0.98 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม และหากไม่มีการดำเนินการใดๆ อุณหภูมิอาจสูงถึง +1.5 องศาเซลเซียส (ระหว่างปี 2573 ถึง 2593) ผลกระทบของภาวะโลกร้อนในปัจจุบันชัดเจนและเกิดให้เห็นอยู่ในทุกมุมโลกแล้ว ตั้งแต่ปี 2413 น้ำแข็งในทะเลอาร์กติกลดลงโดยเฉลี่ย 12.85% ต่อทศวรรษ ชายฝั่งทะเลน้ำสูงขึ้นโดยเฉลี่ย 3.3 มิลลิเมตรต่อปี ทศวรรษ 2552-2562 เป็นช่วงที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ และตั้งแต่ปี 2563 จนปัจจุบัน เป็นช่วงปีที่มีอากาศร้อนที่สุด (ซึ่งต่ำกว่าค่าสูงสุดที่กำหนดไว้ในปี 2559) เหตุการณ์จากสภาพอากาศรุนแรงได้เพิ่มขึ้นทุกปี และมีกำลังทำลายล้างอย่างคาดไม่ถึงขึ้นเรื่อยๆ เช่น ปรากฏการณ์เอลนิโญ่ (El Niño) กลายเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนมากขึ้นและทำให้เกิดภัยแล้งที่เป็นอันตรายในพื้นที่ซึ่งถูกคุกคามจากความแห้งแล้งเรื้อรังอยู่แล้ว เช่น แอฟริกาตะวันออก และแผ่มาสู่หลายประเทศในยุโรปอย่างอิตาลีด้วย ในขณะที่กระแสน้ำกัลฟ์สตรีมกำลังชะลอตัวและอาจเปลี่ยนทิศทาง พันธุ์พืชและสัตว์เคลื่อนย้ายจากระบบนิเวศหนึ่งไปยังอีกระบบนิเวศหนึ่งอย่างคาดเดาไม่ได้ สร้างความเสียหายนับไม่ถ้วนต่อความหลากหลายทางชีวภาพทั่วโลก

การแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
กิจกรรมของมนุษย์ส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศและอุณหภูมิของโลกมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลและการตัดไม้ทำลายป่า สิ่งที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อสภาพแวดล้อมมากที่สุดคือ การใช้ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่วนการตัดไม้ทำลายป่าสร้างความเสียหายอย่างมาก เพราะต้นไม้เป็นเสมือนปอดช่วยควบคุมสภาพอากาศด้วยการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศ และท้ายสุดคือการเพิ่มขึ้นของการทำเกษตรกรรมและฟาร์มปศุสัตว์อย่างเข้มข้น และการใช้ปุ๋ยเคมีที่มีส่วนผสมของไนโตรเจน ที่มีส่วนทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น เนื่องจากประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น ความจำเป็นพื้นฐานด้านปัจจัย 4 จึงเพิ่มตาม และก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ข้อตกลงระหว่างประเทศ
ในการประชุมภาคีขององค์การสหประชาชาติ (COP21) เมื่อเดือนธันวาคม 2558 ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ได้มีการลงนามในข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) สำหรับการบรรลุการลดคาร์บอนในระยะยาว กำหนดเส้นตายสำหรับการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการสนับสนุนของรัฐบาลแต่ละประเทศ รัฐบาลที่ลงนามร่วมกันให้คำมั่นที่จะพยายามจำกัดอุณหภูมิไม่ให้เพิ่มกว่า 2 องศาเซลเซียส (เหนือระดับก่อนยุคพัฒนาอุตสาหกรรม) โดยจะพยายามรักษาอุณหภูมิภายใต้ 1.5 องศาเซลเซียส และบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนในช่วงกลางศตวรรษที่ 2000 ในปี 2564 ในการประชุมภาคี (COP26) ณ เมืองกลาสโกว์ได้ยืนยันถึงความมุ่งมั่นในการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ระดับโลก ภายในปี 2593

หนทางสำหรับการลดคาร์บอนมีความชัดเจนขึ้นเรื่อยๆและเรียกว่าการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน กล่าวคือการเปลี่ยนจากพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นพลังงานที่มีการปล่อยคาร์บอนต่ำหรือเป็นศูนย์ ได้แก่ พลังงานหมุนเวียน (พลังงานแสงอาทิตย์ ลม ความร้อนใต้พิภพ ฯลฯ) ซึ่งเป็นยุทธการสำหรับการลดคาร์บอนอย่างมีประสิทธิภาพ คือการเปลี่ยนมาใช้พลังงานไฟฟ้าที่ได้มาจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนสะอาดในทุกภาคส่วน ตั้งแต่ที่อยู่อาศัย การขนส่ง(รวมถึงระยะทางไกล) ไปจนถึงอุตสาหกรรมหนัก การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศไม่รอและไม่หยุด จำเป็นต้องเร่งรณรงค์การเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมของผู้คนที่เข้มแข็ง พร้อมกันกับหน่วยงานของรัฐในการจัดทำแผนกำกับดูแลของเทศบาลที่ต้องได้รับการปรับปรุง เพื่อปรับปรุงพื้นที่ที่มีความเสี่ยงจากภูมิอากาศสูง ที่มีโอกาสเกิดอุทกภัย วาตภัย อัคคีภัย และโคลน/หิมะถล่ม เช่น พื้นที่บริเวณแหล่งน้ำและภูเขา เป็นต้น ภัยพิบัติตามธรรมชาติในอิตาลีเกิดขึ้นถี่และทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ การเตรียมความพร้อมในการรับมือการจัดการภัยพิบัติไม่ใช่เรื่องง่ายและจำเป็นต้องใช้งบประมาณมหาศาล อย่างไรก็ตาม ทุกภาคส่วนก็ได้หาทางพยายามป้องกันความเสี่ยงเบื้องต้น ด้วยการรณรงค์และสร้างจิตสำนึกต่อการเคารพสภาพแวดล้อม เนื่องจากภัยพิบัติตามธรรมชาติสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก และสหภาพยุโรป รวมถึงรัฐบาลของประเทศสมาชิกต่างหาวิธีการป้องกันอย่างเร่งด่วน

ความคิดเห็นของ สคต.มิลาน
1. ผู้ประกอบการไทยควรติดตามความคืบหน้าสถานการณ์ภัยพิบัติอย่างต่อเนื่อง เพราะอาจส่งผลต่อการผลิต ขนส่งและการส่งออกได้ เนื่องจากสหภาพยุโรปเห็นความเสียหายจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ จึงเข้มงวดในการกำกับดูแลด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ด้วยการตั้งข้อกำหนดต่างๆที่ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่จะวางจำหน่ายในตลาดอิตาลีและสหภาพยุโรปเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่การใช้วัตถุดิบจนถึงบรรจุภัณฑ์
2. ควรติดตามกฎระเบียบสหภาพยุโรปฉบับใหม่ที่ว่าด้วยการรับรองการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ซึ่งมีผลต่อการใช้วัตถุดิบ (การใช้ทรัพยากร) การกำจัดขยะประเภทเศษอาหารและสิ่งทอ รวมถึงหลักนิติธรรมที่เกี่ยวข้องกับแรงงาน การดำเนินการเชิงกลยุทธ์และนวัตกรรมที่สำคัญบางประการสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว (Green Deal) เป็นต้น
————————————————————————————–
www.ilsole24ore.com/art/coldiretti-cambiamento-climatico-campi-superera-6-miliardi-danni-AFnQGVc
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมิลาน
22 สิงหาคม 2566

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login