Descartes บริษัทโลจิสติกส์ของแคนาดา ได้จัดทำรายงานเรื่อง China-U.S. Trade Shift: Where Did the Market Share Go or Did it? วิเคราะห์ข้อมูลการจัดส่งตู้สินค้านำเข้าสหรัฐฯ โดยใช้รหัสศุลกากร (Harmonized Tariff Schedule – HS) 2 หลักที่ระบุกลุ่มสินค้า และประเทศแหล่งอุปทาน สำหรับสินค้าสำคัญ 10 อันดับแรก ในระยะเวลา 20 ปี เริ่มต้นในปี 2004 ถึงปัจจุบัน พบว่า ในปี 2010 ตู้สินค้านำเข้าจากจีนมีส่วนแบ่งในตลาดนำเข้าสหรัฐฯประมาณร้อยละ 44.5 (หากรวมการนำเข้าจากฮ่องกงจะเท่ากับร้อยละ 50.1) สูงสุดทำสถิติ ในระหว่างปี 2011 -2017 ส่วนแบ่งตลาดนำเข้าของจีนทรงตัว และเพิ่มสูงทำสถิติอีกครั้งในปี 2018 เนื่องมาจากความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯเข้าสู่สภาวะตึงเครียดสูงสุดในปี 2017 เมื่อสหรัฐฯเริ่มประกาศทะยอยขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนจนเกือบทุกรายการ ผู้นำเข้ารีบเร่งนำเข้าจากจีนก่อนที่กฎหมายขึ้นอัตราภาษีจะถึงกำหนดบังคับใช้ นอกจากนี้ ธุรกิจหลายรายที่เคยนำเข้าจากจีนเป็นหลักเริ่มแสวงหาแหล่งนำเข้าทางเลือกอื่น ปริมาณนำเข้าจากจีนเริ่มลดลงในปี 2019 จนถึง 5 เดือนแรกของปี 2023 ที่ปริมาณการนำเข้าจากจีนลดลงเหลือส่วนแบ่งตลาดเพียงร้อยละ 35.8
แม้ว่าการนำเข้าจากจีนจะลดลงอย่างมากแต่จากมูลค่านำเข้าสหรัฐฯ (ล้านเหรียญฯ) ที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯจัดทำ จีนยังคงเป็นหนึ่งในแหล่งอุปทานนำเข้าสำคัญของสหรัฐฯ ตัวเลขนำเข้าสหรัฐฯระหว่างปี 2010 – 2022 แสดงให้เห็นว่า มูลค่านำเข้าจากจีนขึ้นลงแตกต่างกันไปในแต่ละปี แต่มูลค่านำเข้าจากประเทศไทยแสดงการเติบโตต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีและในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 8.11 สูงกว่าอัตราเฉลี่ยมูลค่านำเข้าจากจีนที่ร้อยละ 3.43 ส่วนแบ่งตลาดนำเข้าของไทยในปี 2010 เท่ากับร้อยละ 1.19 ในปี 2022 ได้เพิ่มเป็นร้อยละ 1.81 ขณะที่ส่วนแบ่งตลาดจีนลดจากร้อยละ 19.15 ในปี 2010 เหลือเป็นร้อยละ 16.31 ในปี 2022
รายงาน China-U.S. Trade Shift: Where Did the Market Share Go or Did it? ของบริษัท Descartes ได้วิเคราะห์ปริมาณตู้สินค้าที่ติดอันดับสูงสุด 10 อันดับแรกและประเทศแหล่งอุปทาน ของ 10 กลุ่มสินค้าที่นำเข้าสหรัฐฯในระหว่างปี 2016 – 2022 พบว่า
- จีนเริ่มสูญเสียส่วนแบ่งตลาดนำเข้าสหรัฐฯอย่างช้าๆ แต่จีนยังคงเป็นแหล่งอุปทานอันดับหนึ่งของสินค้า 8 ใน 10 อันดับแรก การนำเข้าจากจีนสองกลุ่มสินค้ามีการเติบโต การนำเข้าห้ากลุ่มสินค้าแม้ว่าจะยังมีการเติบโตแต่ส่วนแบ่งตลาดลดลง การนำเข้าสองกลุ่มสินค้ามีการนำเข้าและส่วนแบ่งตลาดลดลง และการนำเข้าหนึ่งกลุ่มสินค้าการนำเข้าลดลงและหลุดจากตำแหน่ง 1 ใน 10 อันดับแรก
- การนำเข้าจากประเทศคู่แข่งของจีนในเอเซียใต้และเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น อินเดีย บังคลาเทศ เวียดนาม ไทย และอินโดนิเซียเติบโตอย่างมากและรวดเร็วกว่าจีน และเข้าไปแย่งส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯของจีน
- ประเทศคู่แข่งจีนที่เป็นแหล่งอุตสาหกรรมก้าวหน้า เช่น ยุโรป เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ไม่ได้รับประโยชน์จากความตกต่ำของความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนแต่อย่างใด
- ประโยชน์ที่ประเทศไทยได้รับคือการเติบโตของปริมาณตู้สินค้าเข้าสหรัฐฯส่วนแบ่งตลาดในตลาดนำเข้าสหรัฐฯเพิ่มขึ้น 8 ใน 10 กลุ่มสินค้า
สรุปสถานการณ์ปริมาณตู้สินค้านำเข้าสินค้า 10 อันดับแรกในระหว่างปี 2016 – 2022
รหัสศุลกากรสหรัฐฯ HS94 กลุ่มสินค้าเฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์การนอน ปริมาณตู้สินค้านำเข้าสหรัฐฯโดยรวมเติบโตร้อยละ 42.8 การนำเข้าจากจีนเติบโตในระดับต่ำและส่วนแบ่งตลาดลดลง การนำเข้าจากประเทศคู่แข่งจีนในเอเซียใต้และเอเซียตะวันออกเฉียงใต้เริ่มพุ่งสูงในปี 2018 ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน การนำเข้าจากไทยและกัมพูชาเข้าไปแทนที่โปแลนด์และมาเก๊าในฐานะแหล่งอุปทานนำเข้าสำคัญอันดับ 9 และ 10
รหัส HS84 กลุ่มสินค้าเครื่องจักรกล(Nuclear Reactors, Boilers, Machinery etc.) ปริมาณตู้สินค้านำเข้าสหรัฐฯโดยรวมเติบโตร้อยละ 28.4 การนำเข้าจากจีนยังคงเติบโตแต่ส่วนแบ่งตลาดลดลง ขณะที่การนำเข้าจากไทยเติบโตถึงร้อยละ 173.2 โดยปริมาณนำเข้าเริ่มสูงขึ้นในปี 2019
รหัส HS85 กลุ่มสินค้าเครื่องจักรอิเล็กทรอนิกส์ (รวมเครื่องเสียงและทีวี) ปริมาณตู้สินค้านำเข้าสหรัฐฯโดยรวมเติบโตร้อยละ 34.8 ปริมาณนำเข้าจากจีนเติบโตแต่ส่วนแบ่งตลาดลดลง ปริมาณนำเข้าและส่วนแบ่งตลาดของไทยเริ่มเติบโตในปี 2020
รหัส HS39 กลุ่มพลาสติกและสินค้าพลาสติก ปริมาณตู้สินค้านำเข้ารวมเติบโตร้อยละ 62.6 ปริมาณและส่วนแบ่งในตลาดนำเข้าสหรัฐฯของจีนเติบโต เช่นเดียวกันกับปริมาณนำเข้าและส่วนแบ่งตลาดนำเข้าสหรัฐฯของสินค้าไทย
รหัส HS87 กลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนประกอบ ไม่รวมรถไฟ ปริมาณตู้สินค้านำเข้าโดยรวมเติบโตร้อยละ 30.2 ปริมาณนำเข้าและส่วนแบ่งในตลาดนำเข้าสหรัฐฯของจีนเติบโต การนำเข้าจากไทยเติบโตเริ่มเติบโตอย่างมากในปี 2021
รหัส HS95 กลุ่มของเล่น เกมส์ และอุปกรณ์กีฬา และอื่นๆ ปริมาณนำเข้าตู้สินค้าโดยรวมเติบโตร้อยละ 49.8 ปริมาณนำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นและแต่ส่วนแบ่งตลาดลดลง ปริมาณนำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้นแต่ส่วนแบ่งตลาดทรงตัว
รหัส HS40 กลุ่มยางและผลิตภัณฑ์ยาง ปริมาณตู้สินค้านำเข้าโดยรวมเติบโตร้อยละ 32.9 ปริมาณนำเข้าและส่วนแบ่งในตลาดนำเข้าสหรัฐฯของจีนลดลง ปริมาณนำเข้าและส่วนแบ่งตลาดนำเข้าสหรัฐฯของไทยเติบโตอย่างมากมาตั้งแต่ปี 2016 จนถึงปัจจุบัน
รหัส HS73 กลุ่มเหล็กและสินค้าเหล็ก ปริมาณตู้สินค้านำเข้าโดยรวมเติบโตร้อยละ 15.2 ปริมาณตู้สินค้านำเข้าจากจีนลดลงแต่ส่วนแบ่งในตลาดนำเข้าสหรัฐฯเพิ่มขึ้น ในปี 2022 ปริมาณการนำเข้าจากไทยและส่วนแบ่งในตลาดนำเข้าสหรัฐฯเริ่มพุ่งสูงขึ้น
รหัส HS08 กลุ่มผลไม้และถั่ว (nut) สำหรับบริโภค ส้มและแตง ปริมาณตู้สินค้านำเข้าโดยรวมเติบโตร้อยละ 24.8 ปี 2016 เป็นปีสุดท้ายที่ปริมาณนำเข้าจากจีนติดอันดับที่ 10 หลังจากนั้นการนำเข้าจากจีนไม่ติดอันดับอีกต่อไป ปริมาณการนำเข้าจากประเทศไทยไม่ติดอันดับ 1 ใน 10
รหัส HS61 กลุ่มสินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปและสินค้าประดับตกแต่งร่างกาย ปริมาณตู้สินค้านำเข้าโดยรวมเติบโตร้อยละ 37.1 ปริมาณนำเข้าจากจีนเพิ่มสูงขึ้นแต่ส่วนแบ่งในตลาดนำเข้าสหรัฐฯลดลงอย่างมาก แต่ยังคงสามารถรักษาตำแหน่งแหล่งอุปทานนำเข้าอันดับหนึ่งไว้ได้และปริมาณตู้สินค้าที่ส่งเข้าสหรัฐฯยังคงสูงกว่าเวียดนามที่เป็นแหล่งอุปทานนำเข้าอันดับสองของสหรัฐฯ ปริมาณการนำเข้าจากประเทศไทยไม่ติดอันดับ 1 ใน 10
Descartes: “China-U.S. Trade Shift: Where Did the Market Share Go or Did It?
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)