- กัมพูชาและไทยเริ่มการเชื่อมต่อทางรถไฟระหว่างทั้งสองประเทศอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2566 ซึ่งจะเป็นเครือข่ายโลจิสติกส์ที่สำคัญในการเชื่อมโยงอาเซียนกับจีน
- นาย Sin Chanthy ประธานสมาคมโลจิสติกส์กัมพูชา เปิดเผยว่า การเชื่อมต่อทางรถไฟระหว่างกัมพูชาและไทยเป็นสิ่งที่ประชาชนและภาคการขนส่งรอคอยมาอย่างยาวนาน ที่ผ่านมา การคมนาคมและ การขนส่งต้องใช้รถยนต์และรถบรรทุกเท่านั้น โดยการขนส่งทางรถไฟนี้ จะช่วยลดความเสียหายของถนน ลดต้นทุนการขนส่ง และยังทำให้ผู้ประกอบการได้กำไรมากขึ้นจากการลดต้นทุนขนส่งสินค้าในการนำเข้าและส่งออกระหว่างทั้งสองประเทศ (กัมพูชา-ไทย) และยังเป็นช่องทางการส่งออกสินค้าของกัมพูชาผ่านไทยและลาวไปยังจีนอีกด้วย ซึ่งจะทำให้กัมพูชาค้าขายได้มากขึ้น
- ด้าน นาย Chea Chandara ประธานสมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าและซัพพลายเชนในกัมพูชา เปิดเผยว่า การขนส่งทางรถไฟมีราคาถูกกว่าการขนส่งทางรถบรรทุก ทั้งนี้ จะช่วยภาคการขนส่งลดต้นทุน การขนส่ง ประหยัดเวลา และยังเป็นการเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ (กัมพูชา-ไทย) รวมทั้งยังช่วยส่งเสริมกระแสการลงทุนของทั้งสองประเทศ เนื่องจากการเชื่อมต่อนี้ไม่เพียงแต่ขนส่งสินค้าแต่ยังขนส่งผู้โดยสารอีกด้วย
- ทางรถไฟสายกัมพูชา-ไทยนี้ตั้งอยู่ ณ สถานีรถไฟด่านพรมแดนบ้านคลองลึก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว เป็นขบวนรถไฟขนส่งสินค้าระบบรางที่จะเดินทางจากประเทศไทยมายังประเทศกัมพูชา ในเส้นทาง มาบตาพุด – คลองลึก – ปอยเปต – พนมเปญ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างบริษัท Royal Railway Public Limited. ของกัมพูชา และบริษัท Global Multimodal Logistics Co., Ltd. ของไทย
- นาย John Guiry ผู้บริหารของบริษัท Royal Railway Public Limited. เปิดเผยว่า การเปิดเส้นทางรถไฟระหว่างกัมพูชาและไทยมีความสำคัญมาก เนื่องจากเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้า และเครือข่ายโลจิสติกส์เชื่อมโยงอาเซียนกับจีนจากจุดเริ่มต้นสู่ปลายทางด้วยรูปแบบการขนส่งที่หลากหลาย ลดต้นทุนค่าขนส่ง ประหยัดพลังงาน ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และยกระดับมาตรฐานความสะดวกสบายสำหรับการค้าโลก
ความเห็นของสำนักงานฯ
- การเริ่มเชื่อมต่อทางรถไฟระหว่างกัมพูชาและไทยในครั้งนี้ เกิดจากความร่วมมือที่ดีของทั้งสองประเทศ เพื่อการพัฒนาการขนส่งสินค้าทางระบบรางให้มีประสิทธิภาพเพิ่มสูงขึ้น เพิ่มทางเลือกในการขนส่งสินค้าให้ผู้ประกอบการค้าระหว่างไทยและกัมพูชา ตลอดจนเชื่อมโยงถึงประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียน
- การขนส่งทางรถไฟเป็นทางเลือกที่ดีของผู้ประกอบการไทยในอนาคตที่เพิ่มขีดความสามารถใน การแข่งขันทางการค้าให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ประหยัดเวลา ลดต้นทุนการขนส่ง และยังช่วยส่งเสริมระบบขนส่งโลจิสติกส์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทันสมัยขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์กับทั้ง 2 ประเทศ โดยเฉพาะประเทศไทยที่สามารถส่งออกสินค้ามายังกัมพูชาได้ในบริมาณที่มากขึ้น ถ้าเทียบกับการขนส่งโดยรถบรรทุกที่ต้อง
ใช้เวลานาน และมีต้นทุนสูง
—————————
Phnom Penh Post, Khmer Times
สิงหาคม 2566
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงพนมเปญ, กัมพูชา
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)