เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2567 การเจรจาการยกระดับความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ASEAN-China Free Trade Agreement-ACFTA 3.0) ได้บรรลุข้อสรุปอย่างมีนัยสำคัญและคาดว่าจะลงนามในปี 2568 โดยทั้งสองฝ่ายได้มีการเน้นย้ำถึงการสร้างโอกาสจากการเจรจาความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน 3.0 เพื่อให้บรรลุการเพิ่มมูลค่าการค้าบนพื้นฐานของข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) โดยครอบคลุมความร่วมมือทั้งเศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจสีเขียว และการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจระดับภูมิภาคที่ครอบคลุมและยั่งยืน เสริมสร้างการเชื่อมโยงและความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทานระหว่างกัน รวมไปถึงพิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช การแข่งขันและการคุ้มครองผู้บริโภค วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและทางเทคนิค และสาขาอื่นๆ เพื่อร่วมกันเสริมสร้างศักยภาพทางการค้าให้เกิดความแข่งแกร่ง ท่ามกลางความท้าทายที่เกิดจากการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยการเจรจาดังกล่าวได้รับความสนใจอย่างมากจากทุกสาขาอาชีพจากประเทศต่างๆ ในเขตอาเซียน รวมถึงประเทศไทย
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การแลกเปลี่ยนทางการค้าระหว่างจีนและประเทศในกลุ่มอาเซียน มีความใกล้ชิดกันมากขึ้น โดยประเทศไทยในฐานะสมาชิกสำคัญของอาเซียน มีบทบาทอย่างแข็งขันในการเจรจาความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน ทั้งนี้ การเจรจาความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน 3.0 ได้ก่อให้เกิดประโยชน์มากมายต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย โครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคที่สำคัญนี้ คาดว่าจะมีผลกระทบเชิงบวกต่อการค้าไทยอย่างมาก ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย และคาดว่าจะเอื้อผลประโยชน์ให้กับประเทศไทยในหลายด้าน โดยเฉพาะด้านการค้า โดยการเจรจาครั้งนี้ มีผลให้สามารถลดอุปสรรคทางการค้า เช่น การลดภาษีสินค้านำเข้า การอำนวยความสะดวกในด้านพิธีการศุลกากร ช่วยให้สินค้าไทยเข้าสู่ตลาดจีนได้อย่างราบรื่นยิ่งขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเกษตรซึ่งเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย เช่น ข้าวหอมมะลิไทย ผลไม้ เป็นต้น โดยสินค้าดังกล่าวเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคชาวจีนมาโดยตลอด ทั้งนี้ การยกระดับการอำนวยความสะดวกด้านพิธีการศุลกากร เช่น การตรวจสอบและการกักกัน จะช่วยย่นระยะเวลาการผ่านพิธีการศุลกากรสำหรับสินค้าเกษตร และรับประกันว่าสินค้าเกษตรที่เน่าเสียง่าย เช่น สินค้าผลไม้ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ จะสามารถเข้าสู่ตลาดจีนด้วยคุณภาพที่ดีขึ้น จนนำไปสู่การเพิ่มส่วนแบ่งของตลาดจีน รวมถึงการลดภาษีสินค้านำเข้าของจีน ปัจจุบัน สินค้ามากกว่า 90% ของ 7,000 tariff lines ระหว่างจีนและอาเซียนได้รับการยกเว้นภาษี ทั้งนี้ ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน 3.0 อาจส่งผลให้สินค้าบางประเภทได้รับการลดภาษีศุลกากรหรือปรับลดอัตราภาษีเพิ่มขึ้นกว่าเดิมจากที่ได้ลดภาษีอยู่แล้ว ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้สินค้าไทยมีราคาที่สามารถแข่งขันได้มากขึ้นในจีน และสามารถดึงดูดผู้บริโภคชาวจีนสนใจเลือกซื้อสินค้าไทยได้มากขึ้น ทั้งนี้ ด้วยการยกระดับการอำนวยความสะดวกทางการค้า คาดว่าปริมาณการส่งออกผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ก่อให้เกิดประโยชน์มหาศาลแก่ผู้ส่งออกของไทย
เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของไทยจะได้รับการพัฒนามากขึ้นในตลาดจีน ซึ่งส่งเสริมการยกระดับและการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมการผลิตของไทยให้มีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น อาทิ ชิ้นส่วนรถยนต์ ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์ตกแต่งของไทย มีศักยภาพในการแข่งขันในตลาดต่างประเทศได้ โดยผลจากการเจรจาความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน 3.0 ส่งเสริมให้เกิดการเทียบเคียงมาตรฐานอุตสาหกรรมและการประสานงานนโยบายการค้า จนนำไปสู่การเกิดเงื่อนไขที่เอื้ออำนวยต่อสินค้าอุตสาหกรรมของไทยในการส่งออกไปยังประเทศจีน เนื่องจากจีนเป็นตลาดรถยนต์และตลาดผู้บริโภคสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก จีนจึงมีความต้องการสินค้าที่เกี่ยวข้องกับไทยเป็นอย่างมาก หากผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมดังกล่าวของไทยมีส่วนร่วมในห่วงโซ่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของจีน คาดว่าจะสามารถเพิ่มมูลค่าและส่วนแบ่งการตลาดผ่านความร่วมมือกับบริษัทของจีนได้ นอกจากนี้ จากการเจรจาความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน 3.0 ยังสามารถช่วยเสริมสร้างความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทานในระดับภูมิภาคให้กับประเทศไทย อาทิ ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาด้านระบบโลจิสติกส์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและมีห่วงโซ่อุปทานที่มั่นคงยิ่งขึ้น จนนำไปสู่การส่งเสริมการยกระดับอุตสาหกรรมและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย
ส่วนด้านการพัฒนาการค้าอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน (Cross-border E-commerce) ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของการขยายตัวทางเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคอาเซียนและจีน ซึ่งในการเจรจาได้ มีการมุ่งเน้นการลดอุปสรรคทางการค้า โดยการเพิ่มประสิทธิภาพพิธีการศุลกากร เช่น การลดภาษีศุลกากรที่ซับซ้อนซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการดำเนินงานของผู้ส่งออก รวมถึงการสร้างระบบที่เชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานศุลกากรของประเทศต่าง ๆ เพื่อให้การขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ การพัฒนาการค้าอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนจะมีส่วนช่วยให้สินค้าจำพวกอาหารเสริมหรือสมุนไพรต่างๆ รวมถึงสินค้าอื่นๆ ของไทยที่ถูกจำกัดโดยกฏระเบียบการนำเข้าที่เข้มงวดของจีนสามารถส่งออกมายังประเทศจีนได้โดยสะดวกมากยิ่งขึ้น
ด้านการท่องเที่ยว ประเทศไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางยอดนิยมสำหรับชาวจีน ที่จะเดินทางไปต่างประเทศเพื่อการท่องเที่ยว การเจรจาความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน 3.0 จะช่วยส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัตนธรรม ความคิดและวิถีชีวิตผู้คนระหว่างไทย-จีน และนำนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้าสู่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยมากขึ้น การดำเนินการตามนโยบายปลอดวีซ่าและการเพิ่มจำนวนเที่ยวบินจะช่วยให้นักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางมาประเทศไทยได้สะดวกยิ่งขึ้น และมีส่วนช่วยในการฟื้นตัวและพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทย นอกจากนี้ ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน 3.0 จะส่งเสริมให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยได้รับการปรับปรุงคุณภาพและการจัดการการบริการการท่องเที่ยว อีกทั้งจีนมีประสบการณ์มากมายในการพัฒนาการท่องเที่ยวและการตลาดการท่องเที่ยว ทั้งนี้ ประเทศไทยสามารถกระชับความร่วมมือกับจีนด้านการท่องเที่ยวด้วยการจัดฝึกอบรมหรือการสัมมนาการท่องเที่ยว รวมถึงการจัดกิจกรรมการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวร่วมกับหน่วยงานที่บริหารการท่องเที่ยวของประเทศจีน เพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย รวมถึงในส่วนของสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว อย่างเช่นของที่ระลึกสำหรับนักท่องเที่ยว เช่น หัตถกรรม เครื่องประดับชนิดพิเศษ ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมและสร้างสรรค์ อาทิ สินค้า OTOP ซึ่งเป็นสินค้าจากภูมิปัญญาท้องถิ่นในภาคต่างๆ ของไทยที่แสดงถึงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและความเป็นไทย จะทำให้นักท่องเที่ยวชาวจีนได้รู้จักและได้สัมผัสสินค้าท้องถิ่นไทยมากขึ้น อีกทั้งยังได้เข้าใจถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนในแต่ละภาคของไทยด้วย เนื่องด้วยทุกปีมีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางมาประเทศไทยเพิ่มขึ้น อีกทั้งการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างทั้งสองประเทศยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ความต้องการของที่ระลึกจากนักท่องเที่ยวชาวไทยในตลาดจีนก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้นเช่นกัน ทั้งนี้ ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน 3.0 เอื้อประโยชน์ให้การค้าของที่ระลึกนักท่องเที่ยว และส่งเสริมการเติบโตของการส่งออกของที่ระลึกนักท่องเที่ยวของไทย นอกจากนี้ ยังช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมบริการการท่องเที่ยวของประเทศไทย ทั้งธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร การให้คำปรึกษาด้านการท่องเที่ยว ซึ่งจะนำโอกาสมาสู่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยโดยรวม และส่งเสริมให้เกิดรายได้เข้าประเทศเพิ่มมากขึ้น จนนำไปสู่การเติบโตของเศรษฐกิจไทย
ในด้านการลงทุน จีนเป็นอีกหนึ่งแหล่งการลงทุนจากต่างประเทศที่สำคัญ เนื่องจากบริษัทจีนมีเงินทุนและศักยภาพในการพัฒนานวัตกรรมการผลิตใหม่ๆ ในขณะที่ประเทศไทยมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่ดี ทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ และโครงสร้างอุตสาหกรรมพื้นฐานที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ทั้งนี้ หลังจากที่ยกระดับความตกลงการค้าเสรีอาเซียนและจีน 3.0 จะส่งผลให้นโยบายต่างๆ เปิดกว้างมากขึ้น จะเอื้ออำนวยให้ไทยสามารถดึงดูดการลงทุนจากจีนได้มากขึ้น อย่างไรก็ดี การเสริมสร้างความร่วมมือด้านการลงทุนกับจีน จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางอุตสาหกรรม และส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจให้ประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ดี การเจรจาความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน 3.0 ครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงการนำมาซึ่งโอกาสในการพัฒนาใหม่ๆ ด้านการค้า ด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ด้านเศรษฐกิจสีเขียว และการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน และด้านอื่นๆ ส่งเสริมการเติบโตที่ยั่งยืนและมั่นคงของเศรษฐกิจไทย ตลอดจนกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า ตลอดจนความสัมพันธ์ฉันท์มิตรระหว่างจีนและไทยให้ลึกซึ้งและยั่งยืนต่อไป
ผลกระทบด้านเศรษฐกิจต่อประเทศไทย และแนวทางการปรับตัวของภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการไทย
การเจรจาความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน 3.0 ได้นำโอกาสการพัฒนาในวงกว้างมาสู่เศรษฐกิจไทย ทั้งนี้ สถานประกอบการผู้ผลิต ผู้ส่งออก รวมถึงหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องของไทย ควรมีการปรับตัวและเตรียมพร้อมรับมือ เพื่อใช้ประโยชน์จากผลข้อตกลงการเจรจาความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน 3.0 ดังนี้
ประการแรก สถานประกอบการผู้ผลิต ผู้ส่งออก รวมถึงหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ควรศึกษาความต้องการของตลาดจีน โดยเฉพาะแนวโน้มการบริโภค เพื่อที่จะสามารถปรับผลิตภัณฑ์และบริการ ให้สอดคล้องกับความต้องการในตลาดจีน เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาดจีน
ประการที่สอง ปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์และบริการ โดยผู้ประกอบการไทยต้องควบคุมกระบวนการผลิตอย่างเคร่งครัดเพื่อให้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์เป็นไปตามมาตรฐานสากลและข้อกำหนดด้านคุณภาพสินค้าของตลาดจีน
นอกจากนี้ ผู้ส่งออกไทยสามารถเพิ่มช่องทางการส่งออกผ่านช่องทางการค้า อีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน (Cross-border E-commerce) เนื่องจากเป็นช่องทางการส่งออกสินค้าที่มีขั้นตอนและมีกฏระเบียบการนำเข้าที่ไม่ซับซ้อน รวมถึงการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าก็สามารถส่งเสริมให้ผู้นำเข้าสามารถเข้าถึงสินค้าได้ง่ายมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้การเสริมสร้างความร่วมมือกับสถานประกอบการของจีนยังเป็นแนวทางสำคัญในการพัฒนาสถานประกอบของไทยอีกด้วย สถานประกอบการจีนมีความได้เปรียบในด้านเทคโนโลยี เงินทุน ช่องทางทำการตลาด ฯลฯ โดยฝ่ายไทยสามารถร่วมมือกับฝ่ายจีน ในการพัฒนาการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตรในการช่วยปรับปรุงคุณภาพของผลผลิตทางการเกษตรและการใช้เทคโนโลยีในการเก็บข้อมูลและสถิติทางการเกษตรจะช่วยให้สามารถพยากรณ์ผลผลิตที่จะออกสู่ตลาดในช่วงเวลาต่าง ๆ รวมถึงการร่วมมือกับอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารของจีนเพื่อนำเทคโนโลยีและอุปกรณ์การประมวลผลขั้นสูงมาสู่ไทยเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าไทย ด้านการท่องเที่ยว บริษัทท่องเที่ยวของไทยสามารถร่วมมือกับตัวแทนการท่องเที่ยวของจีนเพื่อร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านการท่องเที่ยวและขยายตลาดการท่องเที่ยวของไทย
อย่างไรก็ดี สถานประกอบการผู้ผลิตและผู้ส่งออกสามารถขอคำปรึกษาด้านนโยบาย ข้อมูลการตลาด และบริการอื่นๆ กับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องของไทย เพื่อช่วยให้เข้าใจนโยบายและโอกาสของความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน 3.0 และสามารถเตรียมพร้อมรับมือกับการพัฒนาที่จะเกิดขึ้น จนนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจไทยได้อย่างยั่งยืนต่อไป
ภาพ : https://www.sohu.com/a/699487909_121282114
https://www.gov.cn/zhengce/202410/content_6979243.htm
https://m.sfccn.com/2024/10-11/5MMDE0NzFfMTk1Nzc5MQ.html
http://wsb.gxzf.gov.cn/xwyw_48149/dfws_48154/t19042467.shtml
https://www.toutiao.com/article/7424754825193062949/?upstream_biz=doubao&source=m_redirect
จัดทำโดย สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองกวางโจว
อ่านข่าวฉบับเต็ม : การเจรจายกระดับความตกลงการค้าเสรีอาเซียนและจีน (ACFTA 3.0) อีกหนึ่งประตูสู่โอกาสการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย