หน้าแรกTrade insightสุกร > การเคลื่อนไหวคว่ำบาตรไม่ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคในห้างใหญ่ แผ่วงกว้างทั่วประเทศในภูมิภาคบอลข่าน

การเคลื่อนไหวคว่ำบาตรไม่ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคในห้างใหญ่ แผ่วงกว้างทั่วประเทศในภูมิภาคบอลข่าน

📰 ข่าวเด่นประจำเดือนมีนาคม 2568 โดย สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์
www.thaitradebudapest.hu / Facebook Fanpage: @ThaiTradeBudapest 

 

การคว่ำบาตรของประชาชนในประเทศในภูมิภาคบอลข่านตะวันตกและยุโรปกลาง ไม่เพียงแต่เกิดขึ้นในประเทศโครเอเชียเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคบอลข่านด้วยไม่ว่าจะเป็นเซอร์เบีย บอสเนีย โรมาเนีย บัลแกเรีย และมอนเตเนโกร

 

ผลผลิตทางการเกษตรภายในประเทศ และการนำเข้าสินค้าอาหารจากต่างประเทศ เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ราคาสินค้าประเภทอาหารสูงขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ หลายประเทศเสียดุลการค้าและมีหนี้สาธารณะสูง เงินหลายพันล้านยูโรเสียไปกับการนำเข้าสินค้าอาหาร

 

🇭🇷 กลุ่มผู้บริโภคในโครเอเชีย ยกตัวอย่างเรื่องราคาสินค้าแพง เช่น ยาสระผมยี่ห้อเดียวกัน ราคาขายในประเทศเยอรมนี อยู่ที่ 3.35 ยูโร ในขณะที่ในโครเอเชีย มีราคาเพิ่มขึ้นกว่า 130% แต่ในประเทศบัลแกเรีย ราคาสินค้าชนิดเดียวกันนี้มีราคาต่ำกว่าประมาณ 20% ของราคาสินค้าในโครเอเชีย ผู้บริโภคชาวโครเอเชียจึงระบุว่าราคาสินค้าที่ผลิตในประเทศแพงกว่าสินค้าที่นำเข้า ในขณะที่การจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์นำเสนอข่าวเกี่ยวกับการประท้วงค่าครองชีพในประเทศโครเอเชียแยกเป็นอีกฉบับ ในหัวข้อ “รัฐบาลโครเอเชียเร่งหาทางแก้ปัญหาค่าครองชีพสูง ด้วยการควบคุมราคาสินค้า สนองตอบต่อการเคลื่อนไหวของประชาชน”

 

🇷🇸 ประเทศเซอร์เบีย ก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีการเคลื่อนไหว โดยเมื่อวันศุกร์ที่ 31 มกราคม 2568 สมาคมคุ้มครองผู้บริโภคเซอร์เบีย (Efektiva) เป็นผู้ริเริ่มการคว่ำบาตรซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ 5 แห่ง ได้แก่ Delhaize, Mercator, Univerexport, DIS และ Lidl จากเหตุการณ์ดังกล่าว สำนักงานสรรพากรประเทศเซอร์เบีย รายงานว่าการคว่ำบาตรร้านค้าเพียงวันเดียว ส่งผลให้จำนวนการทำธุรกรรมรายวันลดลง 21.5% และยอดขายลดลง 37% หรือ 4.5 ล้านยูโร ทั้งนี้ สมาคม Efektiva ประกาศว่าจะมีการคว่ำบาตรอย่างต่อเนื่อง

 

 

🇧🇬 ผู้บริโภคในบัลแกเรีย ก็มีการรวมตัวกันคว่ำบาตรร้านค้าปลีกสินค้าอาหารและซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่เช่นเดียวกันเพื่อประท้วงราคาสินค้าที่สูงขึ้น และเรียกร้องให้รัฐบาลฯ กำหนดเพดานราคาสินค้าอาหารไม่ให้เพิ่มขึ้นเกินกว่า 30% เพื่อป้องกันร้านค้าค้ากำไรเกินควร และบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ทั้งนี้ นาย Georgi Takhov รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและอาหาร และนาย Ignat Asenov ประธานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคบัลแกเรีย ประกาศว่ารัฐบาลบัลแกเรียได้ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว โดยอยู่ในกระบวนการพิจารณาเลือกใช้มาตรการควบคุมราคาสินค้าที่จำเป็นได้อย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับทุกภาคส่วน

 

🇷🇴 สำหรับประเทศโรมาเนีย ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดี นาย Călin Georgescu ออกมาเคลื่อนไหวนำการประท้วงการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้า และสนับสนุนการงดซื้อสินค้าจากซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ ได้แก่ Lidl, Kaufland, Carrefour, Mega Image, Profi และ Penny Market ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2568 เช่นกัน แม้ว่า นาย Călin Georgescu จะเป็นผู้สมัครอิสระ ไม่สังกัดพรรคใด แต่เป็นผู้สมัครฯ ที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองเน้นความเป็นชาตินิยมสุดโต่ง ทำให้ประชาชนจำนวนมากมองว่าการประท้วงครั้งนี้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะช่วยเหลือประชาชนอย่าง แต่เป็นการเล่นเกมการเมืองเพื่อช่วงชิงความนิยมในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งถัดไป

 

🇧🇦 ประเทศบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา มีกลุ่มชื่อ “Bojcot.ba” ริเริ่มแคมเปญคว่ำบาตรซูเปอร์มาร์เก็ตเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ เพื่อกดดันให้ผู้ค้าปลีกรับผิดชอบต่อราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น และเรียกร้องให้ประชาชน หลีกเลี่ยงการซื้อของที่ไม่จำเป็น ทว่าการเคลื่อนไหวในบอสเนียฯ ยังไม่ส่งผลกระทบต่อรายได้ของร้านค้าปลีกต่างๆ มากนัก ในทางกลับกัน ความร่วมมือของภาครัฐอย่างกระทรวงการค้าของ FBiH (รัฐบาลของสหพันธรัฐบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา (Federation of Bosnia and Herzegovina หรือ FBiH) สมาคมนายจ้าง ผู้ผลิตสินค้าในประเทศ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร และสมาคมผู้บริโภค ทำให้ประชาชนเห็นถึงการที่ภาครัฐให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนอื่นๆ ส่งผลการบังคับใช้มาตรการตรึงราคาสินค้าอุปโภคบริโภค จำนวน 65 รายการ ในช่วงระยะเวลา 3 เดือน ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน 2568 ได้รับเสียงตอบรับที่ดี โดยสินค้าอุปโภคบริโภคที่รัฐบาลออกมาตรการควบคุมราคาสินค้า เช่น ขนมปัง นมและผลิตภัณฑ์จากนม น้ำมันปรุงอาหาร ไข่ เนื้อไก่ แป้งสาลี แป้งโปเลนต้า กาแฟ ปลากระป๋อง แชมพู สบู่ และผงซักฟอก เป็นต้น

 

🇲🇪 ในประเทศมอนเตเนโกร ก็มีกลุ่มชื่อ “Alternativa Crna Gora” ออกมาเคลื่อนไหวเป็นแกนนำการคว่ำบาตรซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ และสนับสนุนให้ประชาชนหันไปซื้อสินค้าจากร้านค้าปลีกรายย่อยหรือร้านเล็กๆ ในชุมชนแทน ซึ่งการประท้วงในครั้งนี้ มีประชาชนเข้าร่วมจำนวนมาก ส่งผลให้ยอดขายของซูเปอร์มาร์เก็ต 5 แห่ง (Voli trade, Laković, Idea-CG, Domaća trgovina และ Megapromet) ลดลง 30.23% เมื่อเทียบกับรายได้ของซูเปอร์มาร์เก็ตเมื่อหนึ่งอาทิตย์ก่อนหน้า ส่งผลให้ห้างฯ ขนาดใหญ่ ยอมปรับลดราคาสินค้าลงบ้าง จากผลตอบรับนี้ คาดว่าประชาชนชาวมอนเตเนโกรจะมีการเคลื่อนไหวอย่างอย่างต่อเนื่อง เป็นการแสดงให้เห็นถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของประชาชน และส่งสัญญาณไปยังรัฐบาลอย่างชัดเจนว่าผู้บริโภคมีสิทธิ์เรียกร้องให้ภาคธุรกิจปรับตัว เพื่อประสานผลประโยชน์ของภาคธุรกิจกับการช่วยเหลือลดค่าครองชีพของประชาชนไปพร้อมๆ กัน

 

🇭🇺 ส่วนประเทศฮังการี ระหว่างวันที่ 10-13 กุมภาพันธ์ 2568 มีการรณรงค์ “วันงดซื้อสินค้าจากซูเปอร์มาร์เก็ต” ในฮังการี โดยตั้งเป้าเป็นการงดซื้อสินค้าจากซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ ได้แก่ Aldi, Lidl, SPAR, Tesco, Auchan, Penny, Coop, CBA และ G-Roby การรณรงค์ดังกล่าวมียอดแชร์บนโซเชียลมีเดียกว่า 35,000 ครั้ง อย่างไรก็ตาม ซูเปอร์มาร์เก็ต Lidl, Aldi, Tesco และ SPAR รายงานว่ายอดขายของร้านค้าไม่ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ นักวิเคราะห์หลายฝ่ายมองว่า แม้ผู้บริโภคในฮังการีจะตระหนักถึงภาวะเงินเฟ้อ ทว่าชาวฮังการีให้ความสำคัญกับปัญหาดังกล่าวน้อยกว่าประชาชนในประเทศอื่น การคว่ำบาตรระยะสั้นในฮังการีจึงไม่ได้ส่งผลต่อพฤติกรรมการบริโภค และยอดขายสินค้าที่ลดลง

 

อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2568 นาย Márton Nagy รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจแห่งชาติแถลงว่ารัฐบาลได้ประสานงาน ขอความร่วมมือกับซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ พิจารณาปรับลดราคาสินค้าอาหารโดยสมัครใจ เพื่อควบคุมราคาสินค้าอาหารซึ่งจำเป็นต้องค่าใช้จ่ายในการครองชีพ ทั้งนี้ หากไม่ได้รับความร่วมมือจากร้านค้าขนาดใหญ่ รัฐบาลก็อาจจะเข้าแทรกแซงและควบคุมราคาสินค้าที่จำเป็น อาทิ เนื้อไก่ เนื้อหมู น้ำมันประกอบอาหาร ไข่ นม ผลิตภัณฑ์จากนม แป้ง และน้ำตาล

 

และเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2568 นายกรัฐมนตรีฮังการี นาย Viktor Orbán แถลงว่าคณะรัฐมนตรีมีมติกำหนดเพดานอัตรารายได้ (Profit Ceiling) ที่ผู้ค้าปลีกจะคิดจากสินค้าอาหารที่จำเป็นจำนวน 30 รายการ ให้ไม่เกิน 10% โดยในเบื้องต้นจะบังคับใช้มาตรการนี้ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมีนาคมจนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2568 ทั้งนี้ ประชาชนสามารถตรวจสอบราคาสินค้าอาหารจำเป็นในร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ได้ที่เว็บไซต์ arfigyelo.gvh.hu

 

 

💭 ข้อคิดเห็นของ สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์ 💭

การคว่ำบาตรซูเปอร์มาร์เก็ตในประเทศต่างๆ ในภูมิภาคบอลข่านเป็นความร่วมมือในการแสดงสิทธิของประชาชนในการแสดงออกถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับคุณภาพชีวิต และค่าใช้จ่ายในการครองชีพ โดยต้องการให้รัฐบาลของตนเองแสดงออกถึงความพยายามช่วยเหลือประชาชน และออกมาตรการ/นโยบาย ที่ช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะสินค้าอาหารที่มีผลต่อค่าครองชีพเป็นอย่างมาก การเคลื่อนไหวในครั้งนี้ แผ่วงกว้างไปทั่วประเทศในภูมิภาคบอลข่าน จากปัญหาที่เกิดขึ้นอาจเป็นอุปสรรคสำหรับผู้ส่งออกสินค้าอาหารของไทยมายังภูมิภาคนี้ เพราะความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยลดลงและประชาชนในพื้นที่ก็ลดการซื้อของที่ไม่จำเป็น รวมทั้งเลือกซื้อเฉพาะสินค้าที่รัฐบาลมีมาตรการควบคุมราคา

 

ที่มาของข้อมูล

 

สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์
มีนาคม 2568

อ่านข่าวฉบับเต็ม : การเคลื่อนไหวคว่ำบาตรไม่ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคในห้างใหญ่ แผ่วงกว้างทั่วประเทศในภูมิภาคบอลข่าน

Login