หน้าแรกTrade insightการค้าระหว่างประเทศ > การลงทุนภาครัฐของเปรูขยายตัว 15% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566

การลงทุนภาครัฐของเปรูขยายตัว 15% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566

กระทรวงเศรษฐกิจและการเงินของเปรู (Ministry of Economy and Finance: MEF) ได้ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานทุกระดับทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่นในประเทศให้เป็นไปตามนโยบายด้านการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ หรือแผนงาน “Con Punche Peru” เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ต่าง ๆ และขยายการเข้าถึงบริการสาธารณะของประชาชน โดย MEF เริ่มดำเนินการดังกล่าวตั้งแต่ต้นปี 2566

การลงทุนภาครัฐในช่วงเดือนมกราคม – มิถุนายน 2566 มีมูลค่ากว่า 18,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมีมูลค่าสูงที่สุดในรอบ 13 ปี โดย MEF ได้เปิดเผยตัวเลขการลงทุนภาครัฐ ที่ได้เร่งดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลในการยกระดับการพัฒนาประเทศ ซึ่งการดำเนินการในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 การลงทุนภาครัฐมีการขยายตัวคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 15.4 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้า หรือคิดเป็นมูลค่า 4.96 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีสัดส่วนการลงทุนของส่วนกลาง ร้อยละ 33.8 ส่วนท้องถิ่น ร้อยละ 25.6 และส่วนภูมิภาค ร้อยละ 23.4 ทั้งนี้ การลงทุนภาครัฐภายในสัปดาห์แรกของเดือนกรกฎาคม 2566 จะมีมูลค่ารวมประมาณ 5.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ปัจจุบัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการดำเนินการตามแผนงาน “Con Punche Peru” ที่แบ่งเป็น 3 ระดับ ประกอบด้วย ระดับครัวเรือน ภูมิภาค รายสาขาธุรกิจ เช่น การลงทุนด้านการพัฒนาการท่องเที่ยว เกษตรกรรม โครงสร้างพื้นฐาน สิ่งแวดล้อม/วิกฤตภัยธรรมชาติ การอุดหนุนครอบครัวที่มีรายได้น้อย การศึกษา ที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย การบังคับใช้กฎหมาย เป็นต้น ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 34 ของแผนงานทั้งหมด ทั้งนี้ การฟื้นฟูเศรษฐกิจและผู้ได้รับผลกระทบจากพายุไซโคลนยาคู (Yaku) ที่เกิดขึ้นเมื่อมีนาคม 2566 เป็นหนึ่งในแผนงาน “Con Punche Peru” ด้วย ซึ่งรัฐบาลต้องใช้งบประมาณในการฟื้นฟูและเยียวยาประมาณ 1.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนี้ รัฐบาลเปรูตระหนักถึงความเป็นไปได้ที่ประเทศอาจต้องประสบกับภัยพิบัติทางธรรมชาติซ้ำอีกครั้งจากปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Niño) และปรากฏการณ์เอลนีโญตามชายฝั่ง (El Niño Costero) โดยรัฐบาลเปรูได้มีการประเมินและเตรียมการต่อการรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากปรากฏการณ์ดังกล่าว อาทิ การจัดซื้ออุปกรณ์และเครื่องจักร การบำรุงรักษา/การทำความสะอาดโครงสร้างพื้นฐาน (ถนน การการสุขาภิบาล/กำจัดขยะ การให้การศึกษา การสำรองเตียงรักษาพยาบาล ศูนย์สุขภาพ/มาตรการสุขอนามัย) และมีการสำรองงบประมาณฉุกเฉินจำนวน 800 ล้านเหรียญสหรัฐ

บทวิเคราะห์/ความเห็นของ สคต.

เศรษฐกิจของเปรูได้รับผลกระทบต่อเนื่องตั้งแต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัส (โควิด-19) ผลกระทบจากสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ความไม่สงบทางการเมืองภายในประเทศ และภัยพิบัติทางธรรมชาติ อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมเหมืองแร่ของเปรูยังคงมีความแข็งแกร่ง และเป็นอุตสาหกรรมที่เป็นหลักที่ช่วยฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจให้กับประเทศ นอกจากนี้ การดำเนินการตามแผนงาน “Con Punche Peru” เป็นส่วนสำคัญในการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ เพื่อปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ รวมถึงสนับสนุนความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน ทั้งนี้ การดำเนินการตามแผนงานฯ ในปี 2566 นี้ มีความคืบหน้าอย่างมาก เมื่อเปรียบเทียบกับการดำเนินการของภาครัฐที่ผ่านในช่วง 13 ปีก่อนหน้า

สคต. ณ กรุงซันติอาโก เห็นว่า การลงทุนภายในประเทศที่จะสร้างการบูรณาการด้านการพัฒนาประเทศอย่างเป็นรูปธรรมจะต้องมีการลงทุนจากภาคเอกชนทั้งภายในและระหว่างประเทศด้วย เพื่อช่วยกระตุ้นกิจกรรมโดยรวมทางเศรษฐกิจ แม้รัฐบาลจะมีหน้าที่สร้างและให้บริการสินค้าสาธารณะ แต่รัฐบาลยังคงมีข้อจำกัดด้านประสิทธิภาพ การดำเนินการ และด้านการลงทุน ในขณะที่ภาคเอกชนมีประสิทธิภาพมากกว่าในส่วนของการออกแบบ การก่อสร้าง การดำนินการ การดูแลรักษา รวมถึงความเป็นมืออาชีพในแต่ละด้าน ทั้งนี้ การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายของภาครัฐ ผ่านแผนงาน “Con Punche Peru” จะช่วยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเปรู และจะส่งผลดีต่อการจ้างงาน/ตลาดแรงงาน ทำให้ประชาชนมีการอำนาจในการซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น ในขณะที่สถานการณ์เงินเฟ้อในประเทศมีแนวโน้มลดลง และหน่วยงานภาคการเงินคาดการณ์ว่าภายในสิ้นปี 2566 อัตราเงินเฟ้อของเปรูจะอยู่ในระดับคงที่ที่ร้อยละ 5
การดำเนินโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมากของรัฐบาล ประกอบกับนโยบายที่เปิดกว้างเพื่อรับการลงทุนจากต่างประเทศของเปรู เป็นโอกาสสำหรับนักลงทุนต่างชาติและเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในการส่งออกสินค้าสำหรับเป็นวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ขั้นกลางสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมก่อสร้าง และบริการสาธารณสุข เนื่องจากการดำเนินโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาเมืองของภาครัฐ

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยมีความเชี่ยวชาญในสาขาที่เปรูต้องการ โดยเฉพาะบริการก่อสร้าง จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการส่งออกบริการ รวมถึง ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมดังกล่าว รวมถึงสินค้าและบริการของไทยที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง อาทิ ปูนซีเมนต์ กลุ่มสินค้าที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเหมืองแร่ เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล ผลิตภัณฑ์ยาง เคมีภัณฑ์ รวมถึงสินค้าจำเป็นที่เปรูมีการนำเข้าอย่างต่อเนื่อง เช่น ผลิตภัณฑ์เภสัชภัณฑ์ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เป็นต้น
ทั้งนี้ สคต. ณ กรุงซันติอาโก เห็นว่าการขยายการส่งออกและการแสวงหาตลาดเป้าหมายใหม่จะเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะตลาดในภูมิภาคลาตินอเมริกา โดยการดำเนินการดังกล่าวผู้ประกอบการควรพิจารณาปรับกระบวนการผลิตโดยลงทุนด้านเทคโนโลยีมากขึ้น เพื่อผลิตสินค้ารุ่นใหม่ที่มีคุณภาพสูงให้ตอบโจทย์ความต้องการที่เฉพาะเจาะจงของลูกค้า ในราคาที่แข่งขันได้ และผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
_______________________________

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงซันติอาโก
กรกฎาคม 2566

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login