เศรษฐกิจโลกมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างจากการพึ่งพาภาคอุตสาหกรรมการผลิตไปสู่ภาคบริการมากขึ้น ส่งผลให้ภาคบริการมีความสำคัญเพิ่มขึ้นในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ นำโดยธุรกิจบริการสมัยใหม่ (Modern services) อาทิ บริการด้าน IT Software และการเงิน รัฐสุลต่านโอมานที่เคยพึงพารายได้หลักจากน้ำมันกำลังสร้างความเป็นทันสมัย (Modernization) ดําเนินการเพื่อกระจายกิจกรรมทางเศรษฐกิจและกระตุ้นการพัฒนา ให้กว้างขึ้นและมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อนุมัติ แผนบริหารงบประมาณระยะกลาง 5 ปี เร่งสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจนอกเหนือจากน้ำมัน เพื่อปรับสมดุลงบประมาณและลดภาระหนี้สินของรัฐบาล ปฎิรูประบบภาษี ผ่านการพัตนาธุรกิจบริการแบบดั้งเดิม (Traditional services) เช่น ภาคท่องเที่ยว การค้า โรงแรมและภัตตาคาร
อุดหนุน SMEs ในภาคส่วนต่างๆ
หลังจากการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ และวิกฤติในยูเครน ที่ทำให้โลกเกิดความไม่มั่นคง และเกิดการ แบ่งแยกกันมากขึ้น จนบังคับให้หลายประเทศต้องหันมาทบทวนความมั่นคงทางเศรษฐกิจของตนอย่างจริงจัง รัฐบาลหลายประเทศมีการใช้เงินอุดหนุน ออกนโยบายและมาตรการต่างๆ เพื่อคงเม็ดเงินลงทุนและรักษาการผลิตในท้องถิ่น ให้ดำเนินต่อไปได้ ฟื้นฟูระบบ supply chain และสินค้าต่างๆที่เป็นยุทธศาสตร์ของประเทศ รวมทั้งรัฐบาลโอมานที่วางนโยบายเร่งส่งเสริมความแข็งแกร่ง SMEs พร้อมขับเคลื่อนอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ สร้างงาน รายได้ และอาชีพให้ท้องถิ่น โดยได้ประกาศใช้งบประมาณ 63.9 ล้านเหรียญสหรัฐอุดหนุน SMEs ในประเทศ สำนักข่าวโอมานรายงานว่ามีจำนวนโครงการที่ได้รับทุนจากหน่วยงานพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของประเทศ (Small and Medium Enterprises Development Authority) ถึง 224 โครงการ
ภาคส่วนที่มีศักยภาพ และมีความสำคัญในการกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจ จะส่งผลต่อภาพรวมของเศรษฐกิจโอมานให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งและมีเสถียรภาพ ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรม การพาณิชย์ และการบริการ มีทั้งหมด 161 โครงการที่ได้รับทุนสนับสนุน มีโครงการสัญญาทั้งหมด 44 โครงการที่ติดตามอย่างใกล้ชิด ให้สินเชื่อเพื่อสนับสนุนโครงการจำนวน 29 โครงการ โดยช่วยสนับสนุนเงินทุนให้ผู้ประกอบการที่มีสัญญาจัดซื้อ /จัดจ้างกับหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ ให้มีเงินทุนเพียงพอ เพื่อใช้จ่ายในการหาซื้อวัตถุดิบ สินค้าอุตสาหกรรม โกดังเก็บของ อุปกรณ์และชิ้นส่วน ค่าแรงและการขนส่ง
แผนการลงทุนด้านการท่องเที่ยวมูลค่า 31 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ในโอกาสเข้าร่วมงาน ITB Berlin 2024 เกี่ยวกับการท่องเที่ยวที่ใหญ่และสำคัญที่สุดที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี นาย Azzan al Busaidi ปลัดกระทรวงมรดกและการท่องเที่ยวโอมาน (Ministry of Heritage and Tourism : MHT) กล่าวว่ารัฐบาลโอมานมีแผนอัดฉีดด้วยการลงทุนกว่า 31 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวภายในปี 2583 โดยเล็งเห็นถึงความสำคัญของการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ เพื่อเป็นตัวเร่งการฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ร่วมกับแพลตฟอร์มท่องเที่ยวที่นำเสนอโดย International Tourism Burlin เพื่อดึงดูดความสนใจจากทั่วโลกเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวที่หลากหลายของโอมาน นอกจากนี้ รัฐบาลโอมานมุ่งมั่นในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการขยายการท่องเที่ยว ความพยายามต่างๆ ได้แก่ การปรับปรุงขั้นตอนการขอวีซ่าและการผ่อนคลายข้อจำกัดสำหรับนักเดินทางจากกว่า 100 ประเทศ นอกจากนี้ยังได้จัดสรรเงินทุนมากกว่า 5.9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับ 360 โครงการที่มุ่งปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน และเพิ่มประสบการณ์การท่องเที่ยว
ในปี 2566 นับเป็นการเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในโอมานอย่างมีนัยสําคัญ โอมานได้ต้อนรับนักท่องเที่ยว 4 ล้านคน ในจํานวนนี้เป็นนักท่องเที่ยวเยอรมัน 231,000 คน เพิ่มขึ้น 182% จากปี 2565
ส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษดึงดูดการลงทุน
รัฐสุลต่านโอมาน เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อส่งเสริมบทบาทในการเป็นฐานการลงทุน โดยมีเขตเศรษฐกิจพิเศษและเขตเศรษฐกิจเฉพาะ หลายแห่งทั่วประเทศ เป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการขับเคลื่อนการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งพิจารณาได้จากการออกนโยบายและกฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกต่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ มีการออกกฎหมายว่าด้วยเขตเศรษฐกิจพิเศษ และเขตเศรษฐกิจเฉพาะ เพื่ออำนวยความสะดวกในการก่อตั้งและดำเนินการ มีนโยบายยกเว้นภาษีสรรพากร และแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษและเขตเศรษฐกิจเฉพาะในประเทศในแต่ละช่วงหน่วยงาน Public Authority for Special Economic Zones and Free Zones หรือ OPAZ ดูแลเขตเศรษฐกิจพิเศษและเขตปลอดอากรของโอมาน ประกาศเมื่อวันพุธที่ผ่านมาว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษ เขตปลอดอากร และเขตอุตสาหกรรม ดึงดูดการลงทุนใหม่มูลค่า 9 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2566 การลงทุนสะสมของเขตเศรษฐกิจในเครือทั้งหมด เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 49.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีเขตเศรษฐกิจพิเศษที่เมือง Duqm (Special Economic Zone : SEZAD) ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองหลวงมัสกัตไปทางใต้ 550 กม. มีการลงทุนรวม 15.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ การเติบโตของมูลค่าการลงทุนอย่างมากนี้เป็นตัวชี้วัดผลความสำเร็จของโครงการสำคัญหลายโครงการใน Duqm
OPAZ ดูแลเขตเศรษฐกิจพิเศษและเขตเศรษฐกิจเฉพาะจำนวนทั้งสิ้น 14 แห่ง ที่มีการอนุมัติและดำเนินการแล้ว ประกอบด้วย เขตเศรษฐกิจ SEZAD และ Khazaen Economic City เขตปลอดภาษี 3 แห่ง – Sohar Free Zone, Salalah Free Zone และ Mazyona Free Zone และเขตอุสาหกรรมพิเศา 9 แห่ง บริหารดูแลโดย Public Establishment for Industrial Estates (Madayn) การเติบโตของการลงทุนในหลายภาคส่วนที่สำคัญ ได้แก่ อุตสาหกรรมสีเขียว โลหะ เภสัชกรรม และปิโตรเคมี OPAZ เน้นย้ำความมุ่งมั่นในการดึงดูดอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและบรรลุการปล่อยมลพิษสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 ตามวิสัยทัศน์ของโอมานในปี 2583 (Oman Vision 2040)
พื้นที่ใหม่ที่กําลังพัฒนา
ขณะนี้มีการพัฒนาพื้นที่อื่นๆอีก 8 แห่ง ซึ่ง 2 แห่งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ส่วนที่เหลือเป็นเขตปลอดภาษีนอกจากนี้ยังมีเขตอุตสาหกรรมพิเศษ 5 แห่ง ที่กำกับดูแลโดย Madayn เช่น เขตอุตสาหกรรม Mahas เขตอุตสาหกรรม Ibri เขตอุตสาหกรรม Seih al Sarya เขตอุตสาหกรรม Al Mudhaibi และเขตอุตสาหกรรม Thumrait
เขตเศรษฐกิจพิเศษ 2 แห่งที่อยู่ระหว่างการพัฒนา ได้แก่ เขตเศรษฐกิจ Al Dhahirah อัล-ดาฮีราห์ บนพื้นที่ 388 ตารางกิโลเมตร และเขตเศรษฐกิจพิเศษ Al Rawda บนพื้นที่ 56 ตารางกิโลเมตร และ เขตปลอดภาษี 6 แห่ง นั้น รวม Muscat International Airport Free Zone ที่ครอบคลุมพื้นที่ 1.7 ตารางกิโลเมตร ดำเนินการโดยกลุ่ม Asyad Group
ในด้านการบริการของ OPAZ ปี 2566 ได้อำนวยความสะดวกในการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ จำนวน 2,187 ราย นอกจากนี้ ได้ออกใบอนุญาตประกอบกิจการบริการสาธารณะ 2,183 ราย ประกอบกิจการ 1,921 ราย ประกอบกิจการก่อสร้าง 258 ราย ออกใบอนุญาตนักลงทุน 3351 ราย และใบอนุญาตด้านสิ่งแวดล้อม 465 ราย
ความเห็นของ สคต. ณ เมืองดูไบ
เมื่อโอมานต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่เต็มได้ด้วยความผกผัน การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล และการบรรลุเป้าหมาย Vision 2040 รวมไปถึงความท้าทายรูปแบบใหม่ รัฐบาลโอมานได้มุ่งมั่นผลักดันการยกระดับนวัตกรรมทางเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมด้านการลงทุนที่ดีให้แก่ภาคธุรกิจ ตลอดจนเป็นการกระตุ้นการพัฒนาทางเศรษฐกิจในภาพรวมไปพร้อมกัน
ทั้งนี้ ไทย-โอมานมีมูลค่าการค้ารวม 1,671 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แบ่งเป็นไทยส่งออกไปยังโอมาน 434 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และไทยนำเข้าจากโอมาน 1237 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยสินค้าหลักที่ไทยส่งออกไปยังโอมาน ได้แก่ รถยนต์ เคมีภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ยาง ปลากระป๋อง เครื่องอิเลคโทรนิกส์ เครื่องสำอาง สินค้ากสิกรรมและสิ่งทอ สินค้าหลักที่ไทยนำเข้าจากโอมาน ได้แก่ เหล็กและผลิตภัณฑ์ สัตว์น้ำสดแช่แข็ง ปุ๋ย เคมีภัณฑ์ และเศษโลหะ
อ่านข่าวฉบับเต็ม : การพัฒนาเศรษฐกิจประเทศของรัฐสุลต่านโอมาน